"อัยการ" เผย 4 ข้อด้อยพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ-อัตราโทษไม่เหมาะสม
ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ให้ข้อสังเกตในเรื่องปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ให้ข้อสังเกตในเรื่องปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ข้อสังเกตในเรื่องปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
เนื้อหาระบุว่า
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนกรณีที่มีนักธุรกิจรายใหญ่เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตกโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความดำเนินคดีในหลายข้อหา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแจ้งข้อหาในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นั้น ผมขอให้ความเห็นและข้อสังเกตทางวิชาการในฐานะส่วนตัวที่เป็นนักวิชาการและเป็นอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน ในเรื่องปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และเนื่องจากประเด็นปัญหาในเรื่องนี้มีเป็นจำนวนมาก ผมจึงขอเลือกมากล่าวเฉพาะในส่วนที่เป็นโทษทางอาญา หลักเกณฑ์การเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย และการออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมาย เท่านั้น ดังนี้
1.ปัญหาการไม่ได้กำหนดโทษทางอาญาไว้สำหรับการกระทำผิดกฎหมายในบางกรณี
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง กำหนดห้ามบุคคลที่ไม่ได้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องเข้าไปปฏิบัติการตามหน้าที่ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้มีการกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
และตามที่มาตรา 37 วรรคสอง กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น กฎกระทรวงดังกล่าวซึ่งคือกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น นำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามอบหมาย ก็มีอำนาจเพียงสั่งให้บุคคลนั้นออกไปจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กฎกระทรวงได้กำหนดไว้แต่อย่างใด
2. ปัญหาอัตราโทษที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสม
อัตราโทษที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ส่วนใหญ่แล้วเป็นอัตราโทษที่กำหนดไว้ดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าใช้บังคับในปี พ.ศ. 2535 จึงทำให้อัตราโทษจำคุกและโทษปรับที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสมในบางฐานความผิด เมื่อได้พิจารณาถึงการบุกรุกทำอันตรายชีวิตสัตว์ป่าที่รุนแรงและมีมากขึ้นในสภาวะปัจจุบัน
โดยการกระทำความผิดฐานล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี โทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ความผิดฐานล่าสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ความผิดฐานครอบครองสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน และซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี โทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท เป็นต้น โดยอัตราโทษจำคุกและโทษปรับสูงสุดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 คือโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกัน เช่น พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แล้ว พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติได้มีการแก้ไขอัตราโทษให้สูงขึ้นทั้งโทษจำคุกและโทษปรับในหลายฐานความผิด โดยมีการแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2559 ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 โดยกำหนดโทษจำคุกไว้สูงสุดถึง 20 ปี และโทษปรับไว้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท สำหรับการกระทำความผิดฐานยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้
สำหรับในส่วนของโทษปรับนั้นพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฉบับที่แก้ไขล่าสุดได้กำหนดเกณฑ์อัตราโทษปรับให้สูงขึ้นโดยใช้สัดส่วนโทษจำคุกหนึ่งปีต่อโทษปรับสองหมื่นบาท และประมวลกฎหมายอาญาก็ได้แก้ไขอัตราโทษปรับสำหรับความผิดทั่วไปในภาค 2 ให้สูงขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2560 โดยใช้สัดส่วนโทษจำคุกหนึ่งปีต่อโทษปรับสองหมื่นบาทเช่นเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปมาก และเพื่อให้การบังคับโทษทางอาญามีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่อัตราโทษปรับตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ยังคงใช้อัตราโทษปรับตามเกณฑ์เดิม คือ โทษจำคุก 1 ปี ต่อโทษปรับ 1 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นอัตราโทษปรับที่ต่ำเกินไปเมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์ในปัจจุบัน
3. ปัญหาการไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะในการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐ
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ไม่ได้มีบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์การชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐสำหรับการกระทำความผิดที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตสัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย เสียหาย หรือสูญเสียไป ทำให้ขาดความชัดเจนว่าจะต้องเป็นการกระทำอย่างไรจึงจะเป็นการก่อให้เกิดความเสียหาย และจำนวนค่าเสียหายที่ผู้กระทำความผิดต้องชดใช้ให้แก่รัฐจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ใด ทำให้การเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าในปัจจุบันนี้ต้องดำเนินการโดยอาศัยบทบัญญัติในพระราชบัญญัติส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 97 ที่กำหนดให้ผู้ที่ทำลาย ทำให้สูญหาย หรือทำให้เสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไป ซึ่งหากจะได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเรียกร้องให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐขึ้นเป็นการเฉพาะในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแล้วย่อมจะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับการกระทำความผิดและสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นได้มากกว่า
4. ปัญหาการไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้การควบคุมดูแลและแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายชีวิตสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประสบปัญหาในการดำเนินการ
ปัญหาในการบังคับใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ อีกหลายประการ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมา หากหน่วยงานและผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องจะได้พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมยิ่งขึ้นแล้ว ก็จะทำให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและควบคุมดูแลทรัพยากรธรรมชาติมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม