posttoday

นับถอยหลัง... ถุงพลาสติกถูกเลิกใช้ในเมืองไทย

13 ตุลาคม 2561

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว จำนวน 4.5 หมื่นล้านใบ/ปี

โดย ทีม@Weekly  

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว จำนวน 4.5 หมื่นล้านใบ/ปี ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาทในการจัดการขยะมูลฝอยในแต่ละปี ความพยายามจากรัฐบาลรณรงค์ “งด” ใช้ถุงพลาสติกกำลังเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในปี 2561 นี้ ซึ่งมากกว่าการรณรงค์ให้ “ลด” ใช้ถุงพลาสติกที่ดำเนินการมากกว่า 10 ปี ได้เวลาถึงคราวต้องใช้ยาแรงเพื่อขจัดปัญหาถุงพลาสติกล้นจากการบริโภค

สัญญาณเด่นชัดที่ส่งออกมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คนไทยทุกคนทำขยะวันละ 1.14 กก./วัน สามารถลดลงเหลือ 1 กก.หรือครึ่ง กก.ได้หรือไม่? ถุงพลาสติกจะลดลงได้หรือไม่? ซักใช้ใหม่ได้ไหม? ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านค้าภาคเอกชนช่วยกันลด ถ้าจะต้องขอถุงพลาสติกมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจะรับได้หรือไม่?

นอกจากนั้น นายกฯ ยังกล่าวผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในเรื่องขยะว่า ต้องการย้ำเตือน ให้เกิดความตระหนัก ช่วยกันคิดคนละไม้ คนละมือ แนวทางการลดใช้ถุงพลาสติกที่หลายประเทศเคยทำ อาจจะใช้กลไกด้านราคา ด้วยการจ่ายค่าถุงพลาสติกเพิ่มเพียงเล็กน้อยจากราคาสินค้า แต่มีผลทางจิตวิทยาไม่น้อย ซึ่งลดได้มากกว่า 80% จากปริมาณที่ใช้เดิมในแต่ละปี โดยนำเงินเพิ่มค่าถุงพลาสติกไปใช้ในโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ หากสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในหลายมาตรการร่วมกัน ก็น่าจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกได้อย่างยั่งยืน

ค้าปลีกตบเท้าแจกแต้มรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก

นับถอยหลัง... ถุงพลาสติกถูกเลิกใช้ในเมืองไทย

ปัญหาโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ 90% ของปัญหาเกิดขึ้นมาจากฝีมือของมนุษย์ล้วนๆ เนื่องจากทุกวันมนุษย์จะมีการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

เมื่อเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากเกินไป ส่งผลให้ความร้อนจากพื้นโลกไม่สามารถสะท้อนออกปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทุกคนควรหันมาใส่ใจดูแลโลกใบนี้ ด้วยการเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการลดใช้ถุงพลาสติก

เนื่องจากถุงพลาสติกที่พวกเราใช้รองรับสินค้าและอาหาร ผลิตจากเม็ดพลาสติกภายในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้เพลิงฟอสซิลเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต เพราะสามารถผลิตถุงพลาสติกได้รวดเร็วและผลิตได้ในปริมาณมาก

นอกจากนี้ ต้นทุนในการผลิตยังต่ำ ด้วยรูปแบบของสินค้าที่มีอายุการใช้งานที่สั้น เพราะส่วนใหญ่ผลิตมาเพื่อใช้เพียงครั้งเดียว โดยเฉพาะถุงขนาดเล็ก เมื่อมีวัฏจักรการใช้งานที่สั้น สิ่งที่ตามมาหลังจากการใช้งาน คือ การถูกนำไปทิ้ง และเผาทำลาย ซึ่งสิ่งที่ตามมาจากขั้นตอนการทำลายในรูปแบบดังกล่าว คือการเกิดปัญหามลพิษทางอากาศอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แต่หากไม่เลือกทำลายถุงพลาสติกด้วยการเผาปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ถุงพลาสติก 1 ใบ จะใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปี โดยปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตัน/วัน แบ่งเป็นถุงพลาสติก 80% หรือ 5,300 ตัน/วัน หรือประมาณ 2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นขยะโฟมประมาณ 7 แสนตัน

จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ภาครัฐเร่งออกมารณรงค์การงดใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดปัญหาทางด้านมลพิษและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการขอความร่วมมือผู้ประกอบการห้างร้านต่างๆ ให้ลดใช้ถุงพลาสติกในการใส่สินค้าและอาหาร ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการห้างค้าปลีกก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ว่าไปแล้วเกือบ 10 ปีที่มีการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก ทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างโครงการ “รักษ์โลก-ROBINSON LIVE GREEN” เมื่อปี 2553 รวมถึงนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้งด ลดใช้ถุงพลาสติกและโฟม ทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน โดยเริ่มวันที่ 15 ส.ค.นี้เป็นครั้งแรก โดยมีบริษัทห้างร้านต่างๆ รวม 15 แห่ง เข้าร่วมโครงการ

ในวันที่ 21 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา วันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day) เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ งดให้ถุงหูหิ้วพลาสติกพร้อมกัน 193 สาขา สำหรับลูกค้าที่ไม่มีถุงผ้า ทางเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์มีกล่องกระดาษบริการฟรี ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม

บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ผู้ดำเนินธุรกิจเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ ได้ทำโครงการ “ท็อปส์ ชวนทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการลดการใช้วัสดุที่ผลิตจากพลาสติก

ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล กล่าวว่า จากความสำเร็จเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล ที่บริษัทเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกที่ประกาศงดให้ถุงหูหิ้วพลาสติกสำหรับใส่สินค้าพร้อมกัน 193 สาขา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชน บริษัทจึงได้มีการสานต่อโครงการดังกล่าว

ด้วยการกำหนดให้ทุกวันที่ 3 ของเดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ธ.ค. 2561 เป็นวันงดให้ถุงหูหิ้วพลาสติกที่ร้าน เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และท็อปส์ รวม 277 สาขา และท็อปส์ ออนไลน์ ซึ่งขยายจากเดิม 193 สาขา โดยเชิญชวนให้ประชาชนนำถุงผ้ามาช็อปปิ้ง และรับคะแนนเดอะวัน 8 คะแนน พร้อมมีบริการกล่องกระดาษแทนถุงพลาสติกในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้เตรียมถุงผ้ามา และจัดโปรโมชั่นถุงผ้าราคาพิเศษ เริ่มต้น 29 บาท

นับถอยหลัง... ถุงพลาสติกถูกเลิกใช้ในเมืองไทย

พร้อมกันนี้ ยังได้มีการประกาศแนวทางช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนผ่าน 4 แคมเปญ ได้แก่ 1.ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 เป็นต้นไปยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก เปลี่ยนเป็นหลอด Biodegradable ที่ผลิตจากข้าวโพด (ธรรมชาติ 100%) สามารถย่อยสลายได้ภายใน 6 เดือนที่ ร้านเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ ท็อปส์ และเซกาเฟรโดทุกสาขา

2.องค์กรปลอดโฟมบรรจุอาหาร ซึ่งได้ดำเนินนโยบายมาตั้งแต่ปี 2558 ทุกสาขางดใช้ภาชนะโฟมในการบรรจุอาหาร 3.รณรงค์งดรับช้อนส้อมพลาสติก 4.รณรงค์ให้นำแก้วส่วนตัวมาใช้ที่ร้านกาแฟเซกาเฟรโดทุกสาขา อัพไซส์เครื่องดื่มฟรีทุกเมนู ซึ่งเท่ากับลูกค้าจะได้รับส่วนลด 10-15 บาท

ในส่วนของบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้ออกมาจัดทำโครงการ Think Green เพื่อลดใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2550 ด้วยการปรับเปลี่ยนถุงพลาสติก ในโฮมเฟรชมาร์ท และกูร์เมต์ มาร์เก็ต เป็นแบบ Oxo Biodegradable Bag สามารถย่อยสลายได้เองภายใน 1 ปี ในภาวะธรรมชาติ

หลังจากนั้น ปี 2551 ก็ออกมาประกาศกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเป็น GreenDepartment Store รายแรกของโลกที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภาคีสมาชิกของ Climate Neutral Network โดย United Nations Environment Programme (UNEP) หรือโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ผ่านโครงการ Think Green ในการร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติ รณรงค์ลดการใช้ถุง ลดการใช้พลังงาน ภายใต้ Concept Reduce, Reuse และ Recycle ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้แทนโฟมที่ย่อยสลายยาก และปรับเปลี่ยนถุงช็อปปิ้งภายในห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ ดิ เอ็มโพเรียม และพารากอน เป็นถุงที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิลทั้งหมด

และเพื่อรณรงค์ให้ลูกค้าหันมาลดใช้ถุงพลาสติก เดอะมอลล์ได้สร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้า เมื่อช็อปปิ้งผ่านบัตร M Card ในห้างสรรพสินค้าและไม่รับถุงทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน จะได้รับคะแนน M Point 10 คะแนน

เช่นเดียวกับ ห้างเทสโก้ โลตัส ที่ออกมาประกาศแคมเปญรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก โดย สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส เป็นห้างค้าปลีกรายแรกที่นำระบบการให้แต้มตอบแทนลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติกมาใช้ในประเทศไทยโดยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางดังกล่าวทำให้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้มากกว่า 100 ล้านใบ และมอบแต้มคลับการ์ดกว่า 3,000 ล้านแต้ม เป็นการตอบแทนลูกค้า

ปัจจุบันลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติกจะได้รับแต้มคลับการ์ดเพิ่ม 100 แต้มทุกวัน สามารถนำไปแลกเป็นส่วนลดและสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย ที่ผ่านมาลูกค้าตอบรับและร่วมมือไม่รับถุงพลาสติกมากขึ้นทุกปีเป็นผลจากความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและส่วนหนึ่งจากการที่เทสโก้ โลตัส เพิ่มความเข้มข้นของโครงการโดยการมอบแต้มเป็นจำนวนมากขึ้น

สลิลลา กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกในอนาคต มีการพูดคุยและศึกษาในรายละเอียดมาอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้ประกอบการในสมาคมผู้ค้าปลีก เพื่อเตรียมความพร้อมและให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอแนวทางที่ชัดเจนจากทางภาครัฐก่อน เพราะยังไม่มีประกาศว่าจะเป็นกฎหมายหรือไม่ และครอบคลุมร้านค้าประเภทใดบ้าง รวมทั้งอัตราการจัดเก็บจะเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดไหม

ด้านห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ก็ออกเชิญชวนลูกค้า ร่วมกิจกรรมรณรงค์ “รวมพลังรักษ์โลก ลดใช้ถุงพลาสติก” ช็อป 300 บาทขึ้นไป และไม่รับถุงพลาสติก รับคะแนนพิเศษ 300 คะแนน พิเศษเฉพาะสมาชิกบิ๊กการ์ด (หลังหักสินค้ายกเว้น คูปอง ส่วนลดต่างๆ แล้ว) ระยะเวลาทุกวันพุธระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-31 ธ.ค. 2561 ที่บิ๊กซี ทุกสาขาทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ซีพี ออลล์ หรือเซเว่นอีเลฟเว่น มีโครงการรักษ์เกาะยาว ร่วมใจ ลดใช้ถุงพลาสติก กิจกรรมต่างๆ ที่บรรดาผู้ประกอบการห้างค้าปลีกจัดขึ้น น่าจะสร้างแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับผู้บริโภคได้พอสมควร เห็นได้จากการซื้อของชิ้นเล็กที่ตอนนี้บางคนเริ่มไม่รับถุงพลาสติกใส่สินค้า

โรงพยาบาลในสังกัด กทม.เลิกใช้ถุงพลาสติกจ่ายยาลดจำนวนถุงขยะ 80 ล้านใบ

นับถอยหลัง... ถุงพลาสติกถูกเลิกใช้ในเมืองไทย

แผ่นป้ายรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกติดตั้งภายในโรงพยาบาลเด็ก เขตราชเทวี ซึ่งทางโรงพยาบาลจะงดการแจกถุงใส่ยาแก่ผู้ใช้บริการเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม ขณะที่มีความพยายามจากรัฐบาลในการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก โรงพยาบาลงดใช้ถุงพลาสติกจ่ายยา ประชาชนนำถุงผ้ามารับยา ในโครงการ “ยกเลิกถุงพลาสติกจ่ายยา”

ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกหันมาใส่ใจมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากขยะจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะขยะพลาสติกย่อยที่สลายได้ยาก สาเหตุหลักของหายนะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและกระทบต่อสิ่งมีชีวิต เป็นที่มาของนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ยาให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนงดใช้ถุงพลาสติกแล้วหันมาพกถุงผ้าหรือวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. เปิดเผยว่า ปัญหาขยะพลาสติกกำลังเป็นวิกฤตสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 10 แห่งจึงใช้วิธี ลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ยาให้ผู้ป่วยนอกกลับบ้านและเปลี่ยนมาเป็นบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงผ้า หรือกระเป๋า ใส่ยาแทน พร้อมทั้งเปิดรับบริจาคถุงผ้าเพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับคนไข้ไม่ได้เตรียมถุงผ้ามาด้วย โดยหลังจากที่ได้เริ่มนโยบายเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ทราบข่าวสาร ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงจะพยายามรณรงค์ประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้นกว่านี้

สำหรับโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ที่ได้เริ่มงดใช้ถุงพลาสติกในการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยนอกแล้ว ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลกลาง 2.โรงพยาบาลตากสิน 3.โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 4.โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ 5.โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 6.โรงพยาบาลลาดกระบัง 7.โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 8.โรงพยาบาลสิรินธร 9.โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และ 10.โรงพยาบาลคลองสามวา

ส่วนสำนักงาน 2 แห่ง คือ สำนักเลขานุการ สำนักการแพทย์ สำนักการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) โดยจะงดใช้ถุงพลาสติกและโฟมในสถานที่ราชการ พร้อมทั้งให้ความรู้ประชาชนเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่ใช้ซ้ำได้

นับถอยหลัง... ถุงพลาสติกถูกเลิกใช้ในเมืองไทย

ด้านรองผู้ว่าฯ กทม. ทวีศักดิ์เลิศประพันธ์ กล่าวว่า ในเรื่องของการลดใช้ถุงพลาสติกในหน่วยงานของ กทม. ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ได้ดำเนินการใช้ถุงผ้าในการส่งยาให้แก่ผู้ป่วยในระหว่างหอผู้ป่วยมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้ว แต่ได้กำหนดให้วันที่ 1 ต.ค. ถือเป็นวันดีเดย์ที่โรงพยาบาลสังกัด กทม. ทุกแห่งต้องเปลี่ยนใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกใส่ยา โดยหลังจากนี้ในปี 2562 สำนักการแพทย์จะสั่งหยุดผลิตถุงยาที่เป็นถุงพลาสติกทั้งหมด และได้รณรงค์ให้ผู้มาใช้บริการนำถุงผ้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ปีงบประมาณ 2562 กทม.จะไม่สั่งผลิตถุงพลาสติกเพื่อเป็นถุงใส่ยากลับบ้านอีกต่อไป โดยจะขยายผลการรณรงค์ใช้ถุงผ้ารับยากลับบ้านในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และศูนย์สุขภาพชุมชนของ กทม. และยังมีแผนจัดกิจกรรมกระตุ้นการลดใช้ถุงพลาสติกตามร้านค้าต่างๆ ที่ตั้งอยู่ภายในหน่วยงานของ กทม. เพื่อแลกส่วนลดราคาสินค้าและอาหารอีกด้วย

ส่วนการเดินหน้าขยายนโยบายในสถานที่อื่นๆ ทาง กทม.เตรียมผลักดันให้โรงเรียนสังกัด กทม. จำนวนทั้งสิ้น 437 แห่ง ที่พบปัญหาขยะจากถุงนมพลาสติกเป็นจำนวนมาก ได้สั่งการให้ใช้กล่องนมกระดาษทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดจำนวนขยะถุงนมพลาสติกได้ถึง 2.5 แสนถุง/วัน หรือคิดเป็นปีละกว่า 50 ล้านถุงได้ในไม่ช้า

นอกจากนี้ ปัญหาขยะ เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยตรง ทำให้ กทม.ต้องจัดเก็บขยะเหล่านี้เฉลี่ยวันละ 1 หมื่นตัน/วัน ในจำนวนนี้เป็นถุงพลาสติก 80 ล้านใบ/วัน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 10 ล้านคน พบว่าโดยเฉลี่ยจะมีผู้ประชาชนใช้ถุงพลาสติก 8 ใบ/วัน/คน ทำให้ กทม.ต้องสูญเสียงบประมาณในการกำจัดขยะเป็นเงินจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งวิธีการกำจัดที่ดีที่สุด คือ การช่วยกันลดปริมาณขยะ ลดการใช้ถุงพลาสติก โดยเริ่มรณรงค์ในโรงพยาบาล โรงเรียนในสังกัด กทม. และชุมชน นำร่องให้ภาคเอกชนหันมาใส่ใจเรื่องนี้ตามไปด้วย

นอกจากนี้ ในรั้วสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีโครงการ Chula Zero Waste ของจุฬาฯ สามารถลดปริมาณถุงพลาสติกได้ถึง 2 ล้านใบในแต่ละปี ทางด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีโครงการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ “TU rangsit TUgether” ByeByeGOBGAB โดยได้นำที่แขวนถุงไปติดตามจุดต่างๆ ภายในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนได้นำเอาถุงผ้าไปใช้และเอากลับมาคืนหรือให้นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับมือพันธมิตรร่วมลงนามในปฏิญญา “เที่ยวไทยเท่ ไม่สร้างขยะ ลดโลกเลอะ” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมลดภาระสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวด้วยการลดใช้ขยะพลาสติก โดย ททท. ได้วางกลยุทธ์กระตุ้นการท่องเที่ยว ปี 2561 เพื่อลดการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ลดลงร้อยละ 50 ภายในปี 2563

โครงการ “งด” ใช้ถุงพลาสติก คงมีตามมาอีกมากมายในอนาคต เพราะถึงเวลาที่ต้อง “งด” ใช้ ไม่ใช่ “ลด” ใช้ แบบเดิมอย่างที่ผ่านมา ก่อนที่จะสายเกินไป...