posttoday

โควิดฉุดความสุขคนไทยต่ำสุดในรอบ13ปี10เดือน

11 เมษายน 2563

โพลหอการค้าเผยดัชนีความสุขคนไทยลดต่ำสุดในรอบ13ปี10เดือน จากวิกฤตโควิด-19 วิตกค่าครองชีพสูง ความไม่แน่นอนในอนาคต

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นทางสังคมของผู้บริโภคร่วมกับการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2563พบว่า ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในปัจจุบันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับต่ำสุดประวัติการณ์ในรอบ 166 เดือนหรือ 13 ปี 10 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้นมา โดยดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.5

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขในการดำรงชีวิตในระดับมาก ปานกลาง และน้อยประมาณ 4.9% 33.7% และ 61.4% ตามลำดับ โดยดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในเดือนมีนาคม 2563 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.8 ที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขในการดำรงชีวิตในระดับมาก ปานกลาง และน้อย 5.8% 39.2% และ 55.0% ตามลำดับ

ในส่วนการคาดหวังในความสุขในการดำรงชีวิตในช่วง 3 เดือนข้างหน้านั้น ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับต่ำสุดประวัติการณ์ในรอบ 166 เดือนหรือ 13 ปี 10 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้นมา โดยปรับลดลงจากเดือนก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.9 มาอยู่ที่ระดับ 52.4 โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าในอนาคตเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขในการดำรงชีวิตจะอยู่ในระดับมาก ปานกลาง และน้อยประมาณ 10.1% 32.2% และ 57.7% ตามลำดับ

สำหรับดัชนีวัดความสุข ในการดำรงชีวิตในอนาคตอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 มากพอสมควร แสดงว่าผู้บริโภคมีความสุขต่ำกว่าระดับปกติ ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในระดับต่ำ ทำให้รายได้ของกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นไม่มากประกอบกับค่าครองชีพทรงตัวอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในอนาคตที่เกิดขึ้นจากCOVID19

ขณะที่ดัชนีภาวะค่าครองชีพ ในเดือนมีนาคม 2563 ดัชนีภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับต่ำสุดประวัติการณ์ในรอบ 166 เดือนหรือ 13 ปี 10 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้นมา โดยดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 25.7 โดยประชาชนยังรู้สึกว่าประสบกับภาวะค่าครองชีพที่สูงกว่าระดับปกติ (ระดับปกติจะมีค่าดัชนีที่ระดับ 100) และการเพิ่มขึ้นของรายได้ยังไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบันเท่าที่ควร ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่มีภาวะค่าครองชีพอยู่ในระดับดี (เหมาะสม) ปานกลาง และแย่ (ไม่เหมาะสม) ประมาณ 2.8% 20.1% และ 77.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ที่ดัชนีภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันอยู่ที่ในระดับ 30.1 เทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ดัชนีภาวะค่าครองชีพอยู่ในระดับดี (เหมาะสม) ปานกลาง และแย่ (ไม่เหมาะสม) ประมาณ 3.9% 28.4% และ 68.9% ตามลำดับ

ในขณะที่ ดัชนีภาวะค่าครองชีพในช่วง 3 เดือนข้างหน้านั้นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าในอนาคตภาวะค่าครองชีพอยู่ในระดับดี (เหมาะสม) ปานกลาง และแย่ (ไม่เหมาะสม) ประมาณ 2.8% 28.9% และ 68.3% ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีภาวะค่าครองชีพในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับต่ำสุดประวัติการณ์ ในรอบ 166 เดือนหรือ 13 ปี 10 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้นมาโดยดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 34.5 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ดัชนีมีค่าอยู่ที่ระดับ 38.0 อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีภาวะค่าครองชีพในอนาคตยังมีค่าต่ำกว่าระดับปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังรู้สึกว่า ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงในอนาคตและอาจบั่นทอนอำนาจซื้อในอนาคต