ไขคำตอบ เมื่อไหร่คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด?
กระทรวงสาธารณสุขเผย ปลายก.พ.64-เม.ย.64 ไทยจะได้รับวัคซีนจากจีน 2 ล้านโดส รวมถึงมีการเจรจากับหลายฝ่ายเพื่อหาซื้อเพิ่มเติม ขณะที่การผลิตในประเทศได้เริ่มขึ้นแล้ว ย้ำเป้าหมายฉีดฟรีให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 50%ของจำนวนประชากร
หลังจากหลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้พลเมือง โดยเฉพาะล่าสุดประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ก็ได้รับวัคซีนจาก บริษัท Sinopharm ของประเทศจีนแล้วจำนวน 2,000 โดส เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า "ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเมื่อไหร่?" และ ช่วงเวลาเดิมคือ "เดือนพ.ค.64 ที่ทางการบอกว่าไทยจะได้รับวัคซีนนั้นช้าไปหรือไม่?"
มีคำตอบจาก นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามเจรจากับหลายฝ่ายเพื่อให้ไทยได้รับวัคซีนเร็วขึ้น ซึ่งปลายเดือน ก.พ. 64 บริษัท ซีโนแวค ไบโอเทค ของจีน จะส่งวัคซีนมาให้ 2 แสนโดส และปลายเดือนมี.ค. 64 จะส่งมาอีก 8 แสนโดสและปลายเดือน เม.ย.64 อีก 1 ล้านโดส ทั้งหมดรวมแล้ว 2 ล้านโดส
อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ยืนยันว่า วันนี้ยังคงเป้าหมายที่จะให้ฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ฟรีกับประชาชนไม่น้อยกว่า 50%ของจำนวนประชากร หรือมีวัคซีน 70 ล้านโดส ไทยได้ติดต่อเจรจากับแอสตรา เซเนกาที่ใช้เทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยอ๊อซฟอร์ด และได้ทำสัญญาแล้ว 26 ล้านโดสซึ่งอยู่ระหว่างการผลิตในประเทศไทย ซึ่งมั่นใจว่าจะผลิตออกมาได้ในปลายเดือน พ.ค. 64
"แม้ว่าเราจะมีต้นทุน 26 ล้านโดส คนก็ตั้งคำถามว่ามาปลายเดือน พ.ค.ช้าไปหน่อยไหม เราไม่นิ่งนอนใจ เราได้พยายามเจรจาหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ โมเดอร์น่า ของจีน รวมทั้งแอสตราซิเนก้า ที่เราเซ็นสัญญาไป 26 ล้านโดส ก็อาจจะขอซื้อเพิ่มเติมได้ เป็นเรื่องที่เราจะเพิ่มจำนวนวัคซีนให้ 50%"อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ระบุ
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วัคซีนไม่ใช่เป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ในท้องตลาด วัคซีนที่จะนำมาใช้ต้องเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย หากนำมาจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีการทดลองเฟส 3รองรับแล้วก็จะไม่นำเข้ามาฉีดให้คนไทย สธ.ไม่ได้ห้ามว่าเอกชนรายใดที่นำวัคซีนเข้ามา แต่ต้องขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งอย.ต้องดูเรื่องคุณภาพ โรงงานได้มาตรฐานหรือไม่ สินค้ามีคุณภาพหรือไม่ดังนั้น ต้องให้เกิดความมั่นใจ ฉะนั้นย้ำว่าจะหาวัคซีนมาให้ได้เร็วและปลอดภัย
ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้อธิบายถึงการจัดหาวัคซีนของไทยว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการที่อนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้วจากผู้ผลิต 9 ราย โดยแบ่งเป็น 4 ชนิดวัคซีน โดยวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนและได้รับการยอมรับขณะนี้มีเพียง 3 ชนิดคือ ของไฟเซอร์ โมเดอร์น่า และ แอสตรา เซเนกา ที่เหลือเป็นการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินโดยใช้ผลการทดลองเฟส 2 เท่านั้น แม้วัคซีนของจีนและรัสเซียที่ขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้าตั้งแต่ ก.ค.-ส.ค. 63 ก็ยังไม่มีผลเฟส 3 อย่างเป็นทางการออกมา แม้กระทั่งของซิโนฟาร์ม
ส่วนวัคซีนที่ไทยจองซื้อจากแอสตรา เซเนกา รวมทั้งวัคซีนของรายอื่นก็ยังไม่สิ้นสุดการทดลอง ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไข ทุกรายยังต้องวิจัยต่อ
"ประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วนั้นเขาได้จองตั้งแต่ก.ค. 63 ซึ่งยังไม่มีเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนและยังมีความเสี่ยงสูงมากที่ไม่ได้รับวัคซีนหากการวิจัยไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งวัคซีนขณะนี้มีจำกัด ทุกบริษัทเร่งกำลังการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อประชากรทั้งโลก และการที่เห็นข้อมูลการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆที่เริ่มฉีดไปแล้ว จะมีข้อแนะนำเพิ่มเติมซึ่งเป็นข้อมูลหลังการฉีดวัคซีน ดังนั้นการที่ไทยทยอยฉีด ตามหลังประเทศอื่นๆ เราก็จะได้ระมัดระวังให้มากขึ้น" ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าว
นพ.นคร กล่าวว่า ไทยไม่ได้จองซื้อวัคซีนเฉพาะจากแอสตรา เซเนกาเพียงรายเดียว แต่ยังมีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนอีกหลายราย รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนจะนำเข้าวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่ได้มีการปิดกั้นแต่อย่างใด โดยต้องนำเข้าวัคซีนที่มีมาตรฐานปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งโฆษณาเรื่องวัคซีน และมีการเก็บเงินไปก่อนทั้งที่ไม่มีวัคซีนอยู่ในมือ ซึ่งผิดระเบียบอย.ที่ห้ามโฆษณาเกินจริง
อย่างไรก็ตาม สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมจัดหาวัคซีนเข้ามาด้วย รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดหาวัคซีนทุกช่องทาง ทุกบริษัทที่เรามั่นใจประสิทธิผลของวัคซีนเพื่อให้ประชาชนไทยเข้าถึงวัคซีนได้โดยเร็ว ซึ่งล็อตต้นๆมาจากซีโนแวคจากจีน นอกจากนี้ทางอย.ได้เตรียมความพร้อมขึ้นทะเบียนวัคซีนแบบฉุกเฉินไว้แล้ว และเมื่อวัคซีนเข้ามาจะมีการทยอยใช้ตามกลุ่มประชากรตามการวางกลยุทธ์ให้ใช้วัคซีนได้สูงที่สุด
ด้าน นายทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี หรือ เฉลี่ยเดือนละ 15-20 ล้านโดส ผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งทางแอสตรา เซเนกาตัดสินใจเลือกสยามไบโอฯ เป็นฐานการผลิตและส่งออกไปภูมิภาคอาเซียน ซึ่งบริษัทได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเมื่อ 7 ต.ค. 63 วัคซีนที่ผลิตในไทยจะมีคุณภาพเดียวกับที่แอสตราเซเนกาผลิตได้ในยุโรปหรือที่ไหนๆในโลกเพราะมีมาตรฐานเดียว
สำหรับความคืบหน้าการผลิตวัคซีนในปัจจุบันจะต้องมีการทดสอบการผลิต โดยนำกระบวนการผลิตมาทดสอบที่บริษัทฯทำได้เหมือนกับกับมาตรฐานกลาง จะทดสอบการผลิต 5 รอบการผลิตโดยจะนำผลทดสอบยื่นต่อ อย.เพื่อพิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนแอสตรา เซเนกาที่ผลิตในประเทศไทย แต่ละรอบการผลิตใช้เวลา 120 วัน หรือประมาณ 4 เดือน สิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องมีคุณภาพและน่าเชื่อถือ เพราะความเชื่อมั่นประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญ จึงต้องใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์วัคซีนนาน 60 วันโดยส่งกลับไปให้แอสตราเซเนกา หลังจากใช้เวลา 60 วันในการผลิต ซึ่งการผลิตแต่ละรอบห่างกัน 14 วัน
เพราะฉะนั้น โดยเริ่มผลิตไปแล้วรอบที่หนึ่งเมื่อ 16 ธ.ค. 63 รอบที่สองก็เริ่มแล้ว และจะทยอยผลิตออกมา โดยแต่ละล็อตจะผลิต 3.4- 4 ล้านโดส ถ้าทำได้เร็วขึ้นก็เป็นประโยชน์เพราะมีคนติดเชื้อมากขึ้น