posttoday

สสส.สร้างเครือข่ายผู้สูงวัยดูแลผู้สูงอายุเป็นรูปธรรม

04 ตุลาคม 2560

สสส.ลงนามความร่วมมือ 60 อปท.สร้างเครือข่ายสูงวัยสร้างเมือง ลุยปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพชีวิตขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรม

สสส.ลงนามความร่วมมือ 60 อปท.สร้างเครือข่ายสูงวัยสร้างเมือง ลุยปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพชีวิตขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการมุ่งสู่ “สูงวัยสร้างเมือง” และลงนามบันทึกข้อตกลงเครือข่ายสูงวัยสร้างเมือง ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 60 แห่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย(ศวภ.)โดยมีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จำนวน 73 อปท.รวมกว่า 1,000 คนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า ในปี 2558 ประชากรไทยมีจำนวนราว 65.1 ล้าน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด จากการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุด้วยว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 และจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2574 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นสังคมไทยต้องวางแผนรับมือให้ได้ แต่ต้องเตรียมรับมือตั้งแต่วันนี้จากข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 2,618 แห่ง มีประชากรจำนวน 8,181,181 คน พบว่า ในปี 2560 มีผู้สูงอายุ 18.5% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยภาคเหนือมีประชากรสูงวัยมากที่สุด 22% ภาคกลาง 20% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17% และภาคใต้ 16% โดยเฉลี่ยพบว่า 20% มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูงและมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นแทรกซ้อนที่ต้องไปหาหมอเป็นประจำ ดังนั้นในการจัดการรับมือกับผู้สูงวัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น อันนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทำให้เกิดระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง

สสส.สร้างเครือข่ายผู้สูงวัยดูแลผู้สูงอายุเป็นรูปธรรม

 

“สสส.สนับสนุนการจัดระบบการทำงานในพื้นที่ให้เกิดการจัดการที่ดี ออกแบบการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากร อบรมทักษะ โดยอาศัยข้อมูลสุขภาพตำบล และงานวิจัยชุมชนเป็นฐานในการทำงาน ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดตั้งต้นที่จะทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นต่อไป” นางสาวดวงพร กล่าว

ด้านรศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่นประกอบด้วยแนวทาง 6 ประการ ได้แก่ 1.การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุและผู้ที่เกี่ยวข้อง 2.การปรับสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ 3.การพัฒนาระบบบริการในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ 4.การจัดตั้งกองทุนและจัดให้มีสวัดิการในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ 5.การพัฒนาระบบข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อดูแลผู้สูงอายุ 6.การพัฒนากติกา ระเบียบแนวปฏิบัติเพื่อหนุนเสริมการดำเนินกิจกรรมเสริมความเข้มแข็ง ชุมชนท้องถิ่น

การออกแบบและพัฒนาให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเอื้อต่อการดำรงชีวิตที่ยืนนาน จึงกำหนดเป็น 10 กลยุทธ์หลัก “5อ. และ 5ก.”เพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม 5อ.ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 2.อาหารสำหรับผู้สูงอายุ 3.การส่งเสริมการออกกำลังกายผู้สูงอายุ 4.การออมเพื่อผู้สูงอายุ และ5.ฝึกอบรมอาสาสมัครและอาสาสมัครเยี่ยมบ้านส่วน 5 ก.หมายถึง 5 กลไก ประกอบด้วย 1.การป้องกันและลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ 2 การตั้งและพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุ 3.การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ 4.การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน 5. การบริการกายอุปกรณ์ หรือการมีศูนย์อุปกรณ์ช่วยเหลือและฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นกลไกให้หน่วยงานในพื้นที่เป็นกลไกและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนที่สำคัญ