ม็อบชาวสวนใต้บุกกรุงจี้แก้ราคาวูบ
ชาวสวนภาคใต้เคลื่อนพลบุกกรุงกดดันรัฐบาลแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
ชาวสวนภาคใต้เคลื่อนพลบุกกรุงกดดันรัฐบาลแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
กลุ่มชาวสวน มะพร้าว ยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ อ.ทับสะแก อ.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในพื้นที่ อ.ท่าแซะ อ.มาบอำมฤต จ.ชุมพร ตลอดทั้งจ.สุราษฏร์ธานี และจ.ระนอง กว่า 5,000 คนได้ยกเลิกปิดถนนชุมนุมประท้วงแก้ปัญหาราคามะพร้าว ปาล์ม และ ยางพาราตกต่ำมานานหลายเดือน ขณะเดียวกันได้เดินทางมารวมตัวกันที่ ริมถนนเพชรเกษม หลักกิโลเมตรที่ 432-433 หมู่ที่ 1 ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างจ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.ชุมพร ก่อนนำรถยนต์นับร้อยคันบรรทุกเกษตรกรเข้ากรุงเทพฯเพื่อชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลวันที่ 4 ก.ย.นี้ซึ่งรัฐบาลประชุมครม.จะได้รับฟ้งการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรทันที
นายวณิตย์ ปักกิ่งเมือง นายกสมาคมชาวสวนมะพร้าวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวนั้นได้รับผลกระทบจากการที่มีราคาตกต่ำมานานหลายเดือนแล้วทำให้ เกษตรกรกว่า 24,000 รายได้รับความเดือร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นั้นนับว่าเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญของประเทศ มีผลผลิตมากกว่า 28 ล้านลูกต่อเดือน และมะพร้าวตากแห้งกว่า 2,000,000 กิโลกรัม แต่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาโรงงานแปรรูปต้องลดกำลังการผลิต
ขณะที่พ่อค้าคนกลางก็ชะลอการสั่งซื้อไปอย่างไม่มีกำหนด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการระบายมะพร้าวส่วนเกินหรือมะพร้าวแห้ง และหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยซื้อมะพร้าวแห้งไปเก็บไว้ในสต๊อก ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 21 บาท มะพร้าวผล ไม่ต่ำกว่าผลละ 12 บาท โดยใช้เงินจากคณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรที่รัฐบาลได้อนุมัติมาแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้โอนเงินดังกล่าวมาให้กับทางจังหวัดดำเนินการ
ด้านนายสุนทร รักรงค์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตร 14 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า การแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำของรัฐบาลที่ผ่านมา ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ ขาดความจริงจัง จริงใจ ในการแก้ปัญหา และไม่มีแผนงานรองรับอย่างเป็นระบบ จนไม่สามารถช่วยเหลือและเยียวยาความเดือนร้อนของเกษตรกรได้ ทางเครือข่ายเกษตรกรสวนยางพารา มะพร้าว ปาล์ม จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงขอเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล เร่งดำเนินการแก้ปัญหาราคายางพาราและราคามะพร้าวตกต่ำ ดังต่อไปนี้ กรณียางพารา ให้รัฐบาลรับซื้อยางพาราในราคากิโลกรัมละ 120 บาท โดยไม่คัดเกรด และให้รัฐบาลกำหนดจุดรับซื้อยางพาราผ่านพ่อค้าท้องถิ่น โดยกระจายจุดรับซื้ออย่างทั่วถึงและเป็นธรรม