"ขยะล้นท่อ"...ต้นตอน้ำท่วมกรุง?
จริงหรือไม่ พฤติกรรมทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางลงท่อระบายน้ำและคูคลอง เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดน้ำท่วม?
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล
ภาพขยะกองพะเนินลอยติดแหง็กอยู่หน้าประตูระบายน้ำ ทั้งท่อนไม้ยักษ์ โซฟา ตู้เสื้อผ้า โอ่งมังกร ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ยันเศษโฟมเศษถุงพลาสติก สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
ไม่น่าเชื่อว่าขยะที่ลอยอุดตันตามท่อ ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำเหล่านี้เอง ส่งผลให้น้ำระบายไม่ทันจนนำไปสู่การเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ หลังจากเกิดฝนตกหนัก
ต้นตอน้ำท่วม
เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่ต่างจากฝันร้ายของคนกรุง รถติดนานนับชั่วโมง หลายคนถลกขากางเกงหิ้วรองเท้าเดินลุยน้ำไปทำงาน เสียงก่นด่าดังระงมไปทั่วทั้งเมือง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า นอกจากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องแล้ว อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ระบายน้ำไม่ทันคือ ขยะ ที่ไปกีดขวางทางน้ำไหลในระบบระบายน้ำต่างๆ ทั้งท่อระบายน้ำ คลอง สถานีสูบน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำ
กังวาฬ ดีสุวรรณ ผอ.สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขยะที่กีดขวางการระบายน้ำถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักทำให้เกิดน้ำท่วมในทุกๆครั้ง
"ที่ผ่านมา กทม.มีประตูระบายน้ำ 227 แห่ง บ่อสูบน้ำ 259 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 174 แห่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แต่ละวันมีปริมาณขยะลงสู่ลำคลองมากถึง 10 ตัน โดยเฉพาะขยะขนาดใหญ่อย่างเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ ตู้ โซฟา โอ่งน้ำ ต้นไม้ ที่ลอยเข้าไปติดใบพัดเครื่องสูบน้ำจนพังเสียหาย เสียเวลาซ่อมแซมและทำให้ระบายน้ำไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเครื่องสูบน้ำมีกำลังไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำ ปัจจุบันเรามีกำลังในการระบายน้ำ60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่กรุงเทพมีลักษณะเป็นที่ลุ่ม ทำให้น้ำไหลไปขังรวมกัน ทำให้ระบายน้ำยาก อนาคตอาจจะมีการปรับท่อระบายน้ำและเพิ่มกำลังการระบายน้ำเป็น 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง"
สอดคล้องกับความเห็นของ ยศ สุขสุพืช เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน หรือหน่วย BEST กทม. ผู้ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ดินแดง-ห้วยขวาง บอกว่า พฤติกรรมการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางลงน้ำ ส่วนใหญ่มาจากชุมชนแออัดที่ตั้งอยู่ริมคลอง
"ชาวบ้านบางคนมักเคยชินกับการโยนขยะทิ้งลงคลองเวลากลางคืน บางคนอาจไม่มีที่ทิ้งเลยนำมากองไว้ริมฝั่ง พอฝนตกมันก็ไหลลงหมด คิดดูว่าคลองมีกี่สาย มีความยาวเท่าไหร่ ผ่านกี่ชุมชน ถ้าทุกบ้านทิ้งกันคนละชิ้นมันก็ลอยตามน้ำไหลมารวมกันอยู่หน้าประตูระบายน้ำทั้งหมดแหละ ที่พบเยอะสุดจะเป็นถุงพลาสติก แต่ขยะขนาดใหญ่อย่างฟูกที่นอน ตู้เสื้อผ้า ต้นมะพร้าว โอ่ง พวกนี้ไม่สามารถเข้าเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติได้ ก็ต้องใช้กำลังคนจุดละ 20-40 คนดำลงเก็บขึ้นมาใส่รถนำไปทิ้งที่บ่อขยะอ่อนนุช แต่ละวันกว่าจะเก็บหมดใช้เวลานาน 4-5 ชั่วโมง"
ขยะมาจากไหน
ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการขยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ขยะที่ลอยมาติดหน้าประตูระบายน้ำ มาจาก 5 แหล่งสำคัญ ประกอบด้วย ชุมชนแออัด ปัจจุบันมีกว่า 800 แห่งทั่วกทม. ตึกแถว ซึ่งมีอายุเก่าแก่โบราณ ไม่มีที่ทิ้งขยะเป็นหลักแหล่ง หาบเร่แผงลอย นิยมทิ้งขยะลงคลอง หรือวางกองกับพื้นจนทำให้เวลาฝนตกจะพัดพาขยะเหล่านั้นไหลลงคลอง ไซต์ก่อสร้าง ไซต์ก่อสร้างคอนโดมิเนียม สะพาน รถไฟฟ้าบีทีเอส มีเศษหินเศษปูนที่จำกัดไม่ได้เป็นจำนวนมาก และ พวกมักง่าย ชาวบ้านร้านตลาด หรือตามแหล่งท่องเที่ยว ชอบทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
"ผมแบ่งเป็น "ขยะเก่า" กับ "ขยะใหม่" ขยะเก่าคือเศษอาหารหรือเศษวัสดุต่างๆที่เราทิ้งแล้วไปหมักหมมอุดตันอยู่ในท่อระบายน้ำ หรือลอยไปติดหน้าประตูระบายน้ำ ส่วนขยะใหม่คือ ขยะที่คนเตรียมจะทิ้ง การแก้ไขปัญหาขยะเก่า กทม.ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักสามารถจัดดการทันทีโดยสั่งการไปยังสำนักการระบายน้ำให้ดูเรื่องท่อระบายน้ำต่างๆ สำรวจว่าบริเวณไหนมีปัญหาน้ำท่วมขัง ท่อไหนตันก็ให้เจ้าหน้าที่ไปขุดลอก โดยขอความร่วมือไปยังสำนักเขตนั้นๆด้วย ส่วนขยะใหม่ ให้สำนักสิ่งแวดล้อมและเทศกิจร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนทิ้งขยะให้ถูกที่ กวดขันไม่ให้ทิ้งขยะลงคูคลอง ทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพราะกำลังจะเข้าหน้าฝนแล้ว ถ้าน้ำท่วมขังอีกก็จะเดือดร้อนกว่านี้แน่นอน"
ทิ้งขยะมั่วเจอปรับจริงแน่
ล่าสุด มีข่าวอัพเดตเกี่ยวกับการป้องกันการทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำและคูคลอง อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดน้ำท่วมขัง
โสภณ โพธิสป ผอ.สำนักเทศกิจ กทม. เผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าเทศกิจทั้ง 50 เขตเข้มงวดกวดขันและตรวจจับการทิ้งขยะลงในที่สาธารณะคู คลอง ทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะ โดยเน้นชุมชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ การทิ้งขยะในที่สาธารณะมีความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองพ.ศ.2535 โดยความผิดในการทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยในสถานสาธารณะนอกภาชนะ หรือที่ที่ราชการส่วนท้องถิ่นจัดไว้มาตรา 31(2) โทษสูงสุดปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนการเทหรือสิ่งปฏิกูลมูลฝอยน้ำโสโครก หรือสิ่งอื่นใดลงบนถนนหรือในทางน้ำมาตรา 33 โทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยชี้นิ้วด่าผู้ว่ากทม.ว่าบริหารจัดการน้ำท่วมห่วยแตกเหลือทน แต่จะมีสักกี่คนจะรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเราทุกคนสามารถช่วยกันแก้ไขให้ดีได้