ถอดรหัส ไทยนิยม
คำว่า “ไทยนิยม” ดูจะเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ต้นปี
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
คำว่า “ไทยนิยม” ดูจะเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ต้นปี หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมาสังคมได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับคำว่า “ประชารัฐ” ซึ่งต่อมาได้มีคำสั่งสำนักนายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการและมีแผนปูพรมลงพื้นที่
หากมองว่านี่คืออีกหนึ่งความพยายามในการสร้างผลงานเรียกความนิยมในช่วงปลายเทอมรัฐบาลดูจะไม่ผิดนัก
แล้ว “ไทยนิยม” ที่รัฐบาลผลิตขึ้นมาเป็นแบรนด์รอบใหม่นี้ คืออะไรกันแน่
“โครงการไทยนิยมยั่งยืน” เป็นการบูรณาการงานของรัฐบาลและทุกกระทรวง ทั้งงานระดับนโยบาย งานตามภารกิจ และงานเชิงพื้นที่ เป้าหมายสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและเป็นภาระของประชาชนในพื้นที่ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูป และปัญหาในเชิงพื้นที่ โดยเป็นการต่อยอดขยายผลจาก “แนวคิดประชารัฐ” และการมีส่วนร่วมเกิดเป็น 3 ประสาน “ราษฎร์ รัฐ และเอกชน” เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างการพัฒนาได้ตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน
กลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานรัฐบาลทุ่มทั้งงบประมาณและบุคลากรแบบปูพรมทั่วประเทศ โดยอาศัยกลไกระบบราชการเป็นแม่งานหลัก ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ขณะที่แกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนจะเป็นทีมระดับตำบล ที่เรียกว่า “ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล” เป็นกลไกขับเคลื่อนงานของรัฐบาลในพื้นที่ ภายใต้สโลแกน “เราทำความดีด้วยหัวใจ” ประกอบด้วย ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน จิตและอาสาในพื้นที่ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในพื้นที่เป็นอย่างดีจำนวน 7-12 คน จำนวน 7,663 ทีม ลงไปในพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศจำนวน 83,151 หมู่บ้าน หรือชุมชนใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ และกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม สามารถแยกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้ 1.ขับเคลื่อนในระดับตำบล 7,255 ตำบล 75,032 หมู่บ้าน 2.ขับเคลื่อนระดับพื้นที่ชุมชนเมือง 208 ชุมชน 6,052 ชุมชน และ 3.ขับเคลื่อนในระดับชุมชน กทม. 200 ทีมชุมชน 2,067 ชุมชน โดยจะดำเนินการลงพื้นที่หมู่บ้านละ 4
ครั้ง เพื่อการสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน 9 เรื่องสำคัญ ดังนี้ 1.สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง ด้วยการสร้างความสามัคคีปรองดอง 2.คนไทยไม่ทิ้งกัน ด้วยการดูแลผู้มีรายได้น้อย 3.ชุมชนอยู่ดีมีสุข ด้วยการพัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพและรายได้ 4.วิถีไทยพอเพียง ด้วยการส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 5.รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6.รู้กลไกการบริหารราชการ7.รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม ด้วยการให้ความรู้หลักธรรมาภิบาล 8.รู้เท่าทันเทคโนโลยี ไทยแลนด์ 4.0 และ9.บูรณาการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด
นอกจากนี้ จะเป็นการลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจถึงการทำงานของรัฐบาล และส่งเสริมให้ประชาชนได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อน และค้นหาความต้องการของประชาชน หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อจัดทำแผนงาน โครงการเสนอตามกรอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาเชิงพื้นที่ และการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป
ในการดำเนินการกระทรวงมหาดไทยนับเป็นเจ้าภาพหลักในการระดมวิทยากรมาให้ข้อมูลแก่ประชาชน อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย ปลัดจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด คลังจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด พัฒนาการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด นายอำเภอ ทุกอำเภอ และวิทยากรที่ดำเนินการถ่ายทอดนโยบายในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ
ในการขับเคลื่อนงานดีเดย์ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ สำหรับการเตรียมการลงพื้นที่ของวิทยากรดังนี้ ศึกษาคู่มือให้เกิดความเข้าใจและทดลองพูดคุย ตั้งคำถาม ศึกษาข้อมูลหมู่บ้านและชุมชนที่จะจัดเวที และจำนวนครัวเรือนเป้าหมายที่จะเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 70% ของคนในหมู่บ้าน สำหรับการจัดเวทีเน้นการระดมความคิดเห็น และแบ่งกลุ่ม โดยเน้นความเชื่อมโยงข้อมูลของสัญญาประชาคมกับกรอบการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 9 ข้อเพื่อสร้างการรับรู้
สำหรับแผนการลงพื้นที่เพื่อจัดเวทีไทยนิยมยั่งยืนจำนวน 4 ครั้ง มีดังนี้ ครั้งที่ 1 เวทีปรับทุกข์ ผูกมิตร เพื่อเป็นการเยี่ยมเยียนประชาชนรับทราบความทุกข์ยากและปัญหา รวมถึงค้นหาความต้องการของประชาชน ครั้งที่ 2 สร้างความตื่นรู้ในสิทธิ หน้าที่และการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจการอยู่ร่วมกันในสังคม สร้างความสามัคคีปรองดอง ตามหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ครั้งที่ 3 ปรับเปลี่ยนความคิด ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง และครั้งที่ 4 สร้างการรับรู้ ปรับความคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา
สำหรับงบประมาณโครงการดังกล่าวมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปี 2561 รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท 2.พัฒนาเชิงพื้นที่ ชุมชน การท่องเที่ยว กองทุนหมู่บ้านจำนวน 3.45 หมื่นล้านบาท และ 3.การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรจำนวน 3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้น 9.95 หมื่นล้านบาท