ยุคเด็กไทย "I don’t care"
เมื่อหลักสูตร 4 ปีของมหาวิทยาลัยปัจจุบันอาจไม่ใช่สำหรับคนยุคนี้ มหาวิทยาลัยไทยจึงกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกรุมเร้าครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
เมื่อหลักสูตร 4 ปีของมหาวิทยาลัยปัจจุบันอาจไม่ใช่สำหรับคนยุคนี้ มหาวิทยาลัยไทยจึงกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกรุมเร้าครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
**************************
โดย....ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานสถาบันนวัตกรรมชุมชนอัจฉริยะและอธิการบดี สจล.
หากอยากรู้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร สู้ประเทศอื่นได้ไหม รู้ได้ง่ายนิดเดียว แค่กลับไปดูลูกหลานของเราที่กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลหรือชั้นประถม หากยังสู้เด็กสิงคโปร์ จีน เกาหลี หรือแม้แต่มาเลเซียไม่ได้อีก 20 ปี ไทยก็ยิ่งแย่กว่าเดิมคือ สู้ไม่ได้ ถูกทิ้งห่าง
แสดงว่าอนาคตไทยไม่ได้อยู่ในกำมือคนรุ่นพ่อแม่ หรือรุ่นตายายแล้ว แต่อยู่ในกำมือน้อยๆ ที่จะชี้ชะตาความเป็นชาติไทยในวันข้างหน้า แต่หากเด็กไทยขาดวินัยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่ใส่ใจการเรียน อ่อนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อนาคตไทยไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แน่นอน
ยิ่งผนวกกับลักษณะของเด็กยุคใหม่ที่มีความเป็นตัวเองสูง มีอิสระทางความคิด และสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างไร้ขีดจำกัดด้วยแล้ว ทำให้การดูแลบ่มเพาะตั้งแต่อนุบาลจนจบมหาวิทยาลัย ทำได้ยากยิ่ง ทั้งอาจไม่สนใจว่าเรียนจบมหาวิทยาลัยไปแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร รู้สึกว่า “I don’t care” คือ ฉันไม่สน ฉันไม่เชื่อว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังสอนจะตอบโจทย์ฉันได้ ทำให้มหาวิทยาลัยกับผู้เรียนยิ่งมีช่องว่างมากขึ้นทุกวัน
ที่ว่า I don’t care คือ ไม่แคร์ว่าจะจบได้ปริญญาอะไรมา ถ้ามันไม่ตามชีวิต (อิสระ) ก็ไม่จำเป็นต้องไปทางวิชาชีพนั้น ทำให้มีบัณฑิตวิศวะสถาบันดังเปิดร้านกาแฟ เด็กบัญชีเกียรตินิยมเปิดร้านขายเสื้อผ้า หากคิดตามหลักเศรษฐศาสตร์ หรือสังคม เป็นความน่าเสียดายยิ่ง ที่จบมาแล้วมิได้ไปประกอบอาชีพตามสาขาที่เรียนมา
หลักสูตร 4 ปีของมหาวิทยาลัยปัจจุบันจึงอาจไม่ใช่สำหรับคนยุคนี้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดใคร เพราะมีเหตุผลของแต่ละฝ่ายเพียงแต่ชวนกันคิดว่า ในยุคที่เด็กรุ่นใหม่ที่เก่งกว่าเรา เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าเรา กำลังไขว่คว้าตามความฝันในชีวิต การศึกษาไทยต้องปรับตัวอย่างไร จะสอนเหมือนเดิม คงไม่สามารถสร้างเด็กยุคนี้ได้เลย
วันนี้มหาวิทยาลัยไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกรุมเร้าครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ทั้งจำนวนเด็กที่ลดลง มหาวิทยาลัยมีที่นั่งมากกว่าเด็กเข้าเรียน หลักสูตรยังคงติดกับ มีข้อจำกัด ไม่สามารถพัฒนาปรับปรุงให้ทันโลก ภาคประชาชนสนับสนุนน้อยมาก เพราะมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของรัฐ
โครงสร้างอาชีพและแรงงานมันสมองของชาติกำลังถูกบิดเบี้ยวไป ในยุคเด็กไทย I don’t care ผมย้ำว่าต้อง “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” เด็กไทยรุ่นนี้ ทั้งต้อง “กล้า” ปรับตัวแบบหักศอก หรือ Disrupt สร้างใหม่ให้ดีกว่า
เด็กไม่แคร์น่าห่วงมากอยู่แล้ว หากผู้ใหญ่ย้งไม่แคร์อีก อนาคตไทยคงไม่มีให้ได้แคร์อีกต่อไป