ไทยรอดบัญชีดำ! สหรัฐไม่ฟันปั่นค่าเงิน
สหรัฐไม่ขึ้นบัญชีไทยเฝ้าระวังแทรกแซงค่าเงิน ขณะวิจารณ์จีนทำเศรษฐกิจโลกเสี่ยง-กระตุ้นเปิดกว้างตลาด
สหรัฐไม่ขึ้นบัญชีไทยเฝ้าระวังแทรกแซงค่าเงิน ขณะวิจารณ์จีนทำเศรษฐกิจโลกเสี่ยง-กระตุ้นเปิดกว้างตลาด
กระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยรายงานประเทศแทรกแซงค่าเงินประจำเดือน เม.ย. 2561 โดยไทยไม่ติดอยู่ในรายชื่อประเทศเฝ้าระวังแทรกแซงค่าเงิน และสหรัฐไม่ได้ประกาศขึ้นบัญชีประเทศใดเป็นประเทศปั่นค่าเงินในรายงานครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า ไทยเสี่ยงติดอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังเนื่องจากตรงกับเงื่อนไขเข้าข่ายแทรกแซงค่าเงินครบทั้ง 3 ข้อ คือ มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 3% ของขนาดเศรษฐกิจ โดยอยู่ที่ 10% มีการเข้าซื้อเงินสกุลต่างประเทศเกิน 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในรอบ 1 ปี และไทยยังมีแนวโน้มเกินดุลการค้ากับสหรัฐเกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังสถานการณ์การค้าโลกฟื้นตัวเมื่อไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ในรายงานเดือน เม.ย. สหรัฐเพิ่มอินเดียเข้าไปอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังแทรกแซงค่าเงิน รวมทั้งหมดเป็น 6 ประเทศ จากเดิม 5 ประเทศ โดยระบุว่า อินเดียเพิ่มการเข้าซื้อสกุลเงินต่างประเทศเกิน 2% ไปอยู่ที่ 2.2% ของขนาดเศรษฐกิจ (จีดีพี) และยังเกินดุลการค้ากับสหรัฐที่ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 7.1 แสนล้านบาท) เมื่อปี 2560
ขณะเดียวกัน แม้สหรัฐระบุว่าค่าเงินหยวนของจีนเคลื่อนไหวในทิศทางที่ควรเป็นเมื่อเทียบค่าเงินดอลลาร์ แต่วิจารณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ไม่ได้เป็นแบบระบบตลาด เพิ่มความเสี่ยงยิ่งขึ้นต่อคู่ค้ารายใหญ่และต่อเศรษฐกิจทั่วโลก พร้อมกระตุ้นให้จีนเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดบทบาทภาครัฐในการเข้ามาแทรกแซงตลาด
ทั้งนี้ สหรัฐไม่ได้ขึ้นบัญชีประเทศใดเป็นประเทศแทรกแซงค่าเงินมานับตั้งแต่ปี 2537 โดยภายใต้กฎหมายสหรัฐ กระทรวงการคลังต้องเปิดเผยรายงานประเทศปั่นค่าเงินทุกๆ 2 ครั้ง/ปี ขณะที่ในรายงานล่าสุด กระทรวงการคลังระบุว่ากำลังพิจารณาขยายรายชื่อประเทศที่เข้าข่ายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐ เพื่อขยายการประเมินให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม