ทำไมการพูดภาษาถิ่นในสภาจึงเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย
งบประมาณการจ้างล่ามและนักแปลสูงมากในหลายประเทศ ไทยมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องพูดภาษาถิ่นในสภา บทวิเคราะห์โดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ
งบประมาณการจ้างล่ามและนักแปลสูงมากในหลายประเทศ ไทยมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องพูดภาษาถิ่นในสภา บทวิเคราะห์โดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ
ข้อเสนอของน.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะให้สมาชิกในสภาอภิปรายด้วยภาษาถิ่น แม้จะมีเจตนาที่ดีในเรื่องการสร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ต้องตระหนักด้วยว่าการสร้างความหลากหลายผิดที่ผิดทาง มีต้นทุนที่สูงมาก
พูดง่ายๆ ก็คือ การปล่อยให้ สส. พูดภาษาถิ่นจะต้องจัดงบประมาณมหาศาลในการจ้างล่ามเพื่อแปลภาษาถิ่นให้เพื่อนสมาชิกในสภาเข้าใจ และเพื่อให้คนทั้งประเทศเข้าใจด้วย เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนในสหภาพยุโรป
น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติยกตัวอย่างของแคนาดา ที่มีการใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสหรือเบลเยี่ยมที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาเฟลมิช โดยมีการจัดหาล่ามไว้ให้ แต่ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ ประเทศเหล่านี้ความแตกต่างของประชาชน 2 กลุ่มอย่างชัดเจน
ในแคนาดามีมณฑลส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษ ยกเว้นมณฑลควิเบกที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส และควิเบกมีความพยายามแบ่งแยกดินแดนมาโดยตลอด ความขัดแย้งระหว่างคนพูดอังกฤษและฝรั่งเศสมีอยู่สูงมาก เช่นเดียวกับเบลเยี่ยม ที่มีประเด็นเรื่้องการแยกแคว้นเฟลนเดอร์ส ที่พูดภาษาเฟลมิช (ดัตช์) ไปรวมกับประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะพูดภาษาเดียวกัน
การอนุญาตให้ สส. ของประเทศเหล่านี้พูดภาษาถิ่น จึงเป็นการสะท้อนปัญหาความแตกแยกภายในของแคนานาและเบลเยี่ยม
ส่วนอินเดีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีภาษาพูดมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกคือ 780 ภาษา แต่รัฐธรรมนูญรับรอง 22 ภาษาในฐานะภาษาทางการ หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษและฮินดีเป็นภาษากลางในสภาจนกว่าจะผ่านไป 15 ปีจึงจะเลิก แต่ให้อำนาจในการต่ออายุการใช้ภาษาอังกฤษไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ รัฐสภาอินเดียก็ยังใช้ภาษาอังกฤษในสภาเพื่อความสะดวก
ในขณะเดียวกัน รัฐสภาอินเดียก็เปิดโอกาสให้สมาชิกจากรัฐต่างๆ ใช้ภาษาของตนเองในกาารอภิปราย โดยมีการจัดหาล่ามเตรียมไว้ หากจะอภิปรายในภาษาตัวเองจะต้องแจ้งกับประธานสภาก่อน 30 นาที เพื่อจัดหาล่าม ในกรณีที่ไม่มีล่าม จะต้องจัดหาเอกสารแปลคำอภิปรายเป็นภาษาอังกฤษและฮินดีเอาไว้คอยแจก
ล่ามที่ทำการแปลภาษาถิ่น จะทำการแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือฮินดี โดยสมาชิกสภาจะสามารถเลือกฟังได้ทั้ง 2 ภาษา
การที่อินเดียอนุญาตให้สมาชิกพูดภาษาถิ่นได้ ต้องเข้าใจบริบทของอินเดียก่อนว่าเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของรัฐ แคว้น, ดินแดนต่างๆ มาเป็น "สหภาพ" กันหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ละรัฐมีเอกลักษณ์ของตัวเองในระดับหนึ่ง และมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน และภาษาเป็นอัตลักษณ์สำคัญของความเป็นรัฐนั้นๆ และการเปิดโอกาสให้สมาชิกจากรัฐต่างๆ พูดภาษาถิ่น ก็เพื่อเคารพในการเป็น "สหภาพ" นั่นเอง (ตามรัฐธรรมนูญระบุว่า India, that is Bharat, shall be a Union of States)
ดังนั้นการเปิดโอกาสให้คนรัฐต่างๆ พูดภาษาตัวเอง ก็เพื่อให้เกียรติกับรัฐที่มารวมตัวกันเป็นประเทศเดียวกัน เป็นวิธีการสร้างเอกภาพสำหรับประเทศที่ไม่ใช่รัฐเดี่ยวแบบเมืองไทย
กลับมาดูที่ประเทศไทย แม้จะมีความหลากหลายทางภาษา แต่ต้องแยกแยะความแตกต่างกันก่อนว่า ความหลากหลายนี้มีทั้งสำนียง (Dialects) เช่น สำเนียงถิ่นในภาษากลางต่างกันไปแต่ละจังหวัด ภาษาตระกูลไท เช่น ไทยกลาง ถิ่นเหนือ ถิ่นใต้ และถิ่นอีสาน และภาษาคนละตระกูลกับภาษาไท เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้พูดมลายู กลุ่มจังหวัดอีสานใต้พูดภาษาถิ่นตระกูลเขมร
ในประเทศไทยคนพูดภาษาตระกูลไทยมี 52.3 ล้านคน (ภาษาไทยกลาง, อีสาน, เหนือ, ใต้) เขมรถิ่นไทย 1.2 ล้านคน และมลายูปัตตานี 1.2 ล้านคน
จะเห็นว่าประเทศไทยมีภาษาที่หลากหลาย แต่สัดส่วนภาษายังน้อยกว่าคนพูดภาษากลางมาก ซึ่งต่างจากอินเดียที่คนพูดภาษาท้องถิ่นมีจำนวนหลายสิบล้านคน จำนวนผู้แทนที่พูดภาษาถิ่นจึงมีมากมาย และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบล่าม/แปลในสภา
สหภาพยุโรป หรือ EU ใช้นโยบาย "ประชาธิปไตยธิปไตยพหุนิยม พหุภาษา" (multicultural, multilingual democracy) แต่ลองมาดูที่งบประมาณในการแปล EU มีภาษาใช้ 23 ภาษา ตัวอักษร 3 แบบ งบประมาณสำหรับการแปลในองค์กรของ EU (เมื่อปี 2008) อยู่ที่ 1,100 ล้านยูโร คิดเป็น 1% ของงบประมาณทั้งหมด ต้นทุนด้านความหลากหลายของภาษาในรัฐสภายุโรป คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของงบประมาณรัฐสภา
เรื่องการใช้จ่ายของ EU ในการแปลภาษาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการผลาญงบประมาณโดยใช่เหตุ และใช้เกินงบประมาณถึง 3.4 ล้านยูโร จากที่ตั้งไว้ 8.2 ล้านยูโรต่อปี
ในส่วนของอินเดีย งบประมาณของกรมภาษาราชการ ของกระทรวงมหาดไทยอินเดียอยู่ที่ 9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2015 - 2016) คิดเป็นรายได้ต่อหัวที่ 0.007 เซนต์ แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่ทราบข้อมูลงบประมาณการแปลของรัฐสภาอินเดีย
ถามว่า งบประมาณเหล่านี้คุ้มค่าหรือไม่? ต้องยกคำตอบข้างต้นมาตอบ นั่นคือเป็นการเปิดโอกาสให้คนรัฐต่างๆ พูดภาษาตัวเอง ก็เพื่อให้เกียรติกับรัฐที่มารวมตัวกันเป็นประเทศเดียวกัน เป็นวิธีการสร้างเอกภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะได้ในประเทศที่มีลักษณะเป็นสหพันธรัฐ, สหภาพ, สมาพันธรัฐ หรือมีประชากรกลุ่มต่างๆ ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน (เช่นสิงคโปร์) หรือรัฐที่มีความแตกต่างระหว่างคน 2 กลุ่มอย่างชัดเจน (เช่น ศรีลังกา มีชาวทมิฬ/สิงหล)
ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสถานะข้างต้นเลย
Photo by JEAN-CHRISTOPHE VERHAEGEN / AFP