ปลาแซลมอนเป็นพาหะโคโรนาไวรัสหรือไม่?
มันอยู่ในแซลมอนหรืออยู่ในเขียง? จับตาโควิดรอบใหม่ในปักกิ่ง
หลังจากที่มีรายงานข่าวการพบการระบาดกระจุกตัวของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ตลาดอาหารทะเลซินฟาตี้ ในกรุงปักกิ่ง มีการตรวจพบเชื้อไวรัสที่เขียงซึ่งใช้แล่ปลาแซลมอนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดความหวาดกลัวกันในประเทศจีนว่าปลาแซลมอนอาจจะไม่ปลอดภัย
เบื้องต้นสาขาซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในจีน เช่น Wumart และ Carrefour ได้สั่งหยุดขายปลาแซลมอนและนำสต็อคออกไปจากคลังสินค้าแล้ว ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลการตลาดของปักกิ่งสั่งตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารทั่วเมืองโดยมุ่งเน้นไปที่เนื้อสัตว์ใหญ่ เนื้อสัตว์ปีก และปลา ทั้งแบบสดและแช่แข็งในซูเปอร์มาร์เก็ต คลังสินค้า และบริการจัดเลี้ยง
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ดูแลซูเปอร์มาร์เก็ตปักกิ่งกล่าวว่าปลาแซลมอนที่ขายในร้านนั้นนำเข้าจากต่างประเทศหลังจากทราบไวรัสถูกตรวจพบในเขียงของแซลมอนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงเริ่มนำเอาปลาแซลมอนทั้งหมดออกจากร้าน
ผู้บริหารอีคอมเมิร์ซอาหารสดเหม่ยถวน (Meituan) ยังกล่าวว่าได้ลบผลิตภัณฑ์ปลาแซลมอนออกทั้งหมดจากแพลตฟอร์มซื้อขายและเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารสด
ไม่เพียงเท่านั้นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นจำนวนมากในปักกิ่งที่มีลูกค้าจำนวนมากยกเลิกการจำหน่ายปลาแซลมอนและอาหารที่มีส่วนผสมของแซลมอนอย่างเร่งด่วนและควบคุมการติดเชื้อในร้านอาหารอยา่งเข้มงวดอีกครั้ง
การพบเชื้อโรคบนเขียงแล่ปลาแซลมอนทำให้เกิดความวิตกในหมู่ประชาชน แต่ทางการจีนยังไม่เปิดเผยข้อมูลว่าเชื้อมาจากที่ไหนกันแน่โดยบอกเพียงว่าอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่คนในรัฐบาลจีนหลายคนอธิบายชัดว่าโอกาสที่จะติดเชื้อจากเนื้อปลานั้นน้อยมาก
1. สำนักข่าว Sihua Daily News ได้สอบถามจินตงเหยียน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาไวรัสและศาสตราจารย์แพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งกล่าวว่าอาหารทะเลไม่น่าจะเป็นแหล่งที่มาของการติดเชื้อ เพราะปลาไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีองค์ประกอบทางชีวภาพที่ซับซ้อนเหมือนมนุษย์ และการติดเชื้อไวรัสจากปลาสู่มนุษย์แทบไม่เคยเกิดขึ้น โอกาสที่แซลมอนจะเป็นพาหะนำไวรัสมีอยู่น้อยมาก
2. ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาไวรัสรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CBN ในจีนว่าพาหะของโคโรนาไวรัสใหม่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนปลาแซลมอนและอาหารทะเลไม่ใช่พาหะและจะไม่ติดไวรัส ดังนั้นไวรัสจะไม่แฝงอยู่ในเนื้อปลา แต่อาจจะติดอยู่บนพื้นผิวได้
3. นอกจากนี้ยังมีข้อแตกต่างด้านกายภาพระหว่างปลากับมนุษย์อีกอย่างคือ ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นแฃะอุณหภูมิในร่างกายของปลาจะเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ส่วนมนุษย์มีอุณหภูมิคงที่ เป็นเรื่องยากที่ไวรัสจะกระโดดข้ามจากสัตว์ที่มีอุณหภูมิต่างกัน
4. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมปีนี้ทีมวิจัยของ University College London ตีพิมพ์บทความบนแพลตฟอร์ม bioRxiv เกี่ยวกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่โดยระบุว่าไวรัสสามารถรวมตัวเข้ากับโปรตีนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ไม่สามารถรวมกับปลา, นก และสัตว์เลื้อยคลานได้
5. จากการทดสอบโดยนักวิจัยพบว่าในจำนวนปลา 72 ประเภทที่นำมาทดสอบการติดเชื้อ มีเพียงปลานิล (Nile tilapia) เท่านั้นที่มีเงื่อนไขเหมาะที่สุดที่จะติดเชื้อ (แต่ไม่ได้หมายความว่าปลานิลจะเป็นพาหะ)
6. ผู้นำวิจัยสรุปว่า "การคาดการณ์ของเราชี้ให้เห็นว่าในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมากมีความไวต่อการติดเชื้อโดย SARS-CoV-2 นก ปลา และสัตว์เลื้อยคลานไม่น่าจะเป็นไปได้"
7. นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารการประมงแห่งเอเชีย (Asian Fisheries Sciences) ยังชี้ให้เห็นว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่ในวงศ์ Coronaviridae สกุล β-coronavirus โดยที่ β-coronavirus นั้นจะติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
8. อีกประเด็นคือโคโรนาไวรัสส่วนใหญ่จะติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างทำให้เกิดอาการของผู้ป่วยในปอด แต่ปลาส่วนใหญ่ไม่มีปอดดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อไวรัส
ภาพ Sockeye salmon จาก US Fish and Wildlife Service