เจาะลึกรัฐบาลไบเดน ขุนคลังสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์
เยลเลนมีดีกรีมากมายในตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศ แต่เธอจะทำได้ดีแค่ไหนในการพาสหรัฐพ้นวิกฤตโควิด-19
1. การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นภารกิจอันดับแรกๆ ของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โจ ไบเดนสร้างเซอร์ไพรส์โดยทาบทามเจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) นักเศรษฐศาสตร์หญิงผู้มีดีกรีศาสตราจารย์วัย 74 ปี
2. ชาวโลกรู้จักชื่อและหน้าตาของเยลเลนดี เพราะเธอดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตั้งแต่ปี 2557-2561 และเป็นรองประธานตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2557 โดยเยลเลนเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นหัวหน้าธนาคารกลางสหรัฐ และตอนนี้อาจจะกลายเป็นขุนคลังหญิงคนแรกด้วย
3. เยลเลนเคยทำงานกับรัฐบาลมาแล้ว โดยนั่งเก้าอี้ในตำแหน่งประธานคนที่ 18 ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาวภายใต้การบริหารประธานาธิบดีบิล คลินตันตั้งแต่ปี 2540 ถึง 2542
4. ในปี 2558 เยลเลนได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามาให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางแห่งสหรัฐที่เป็นผู้หญิงคนแรก โดยแทนที่เบน เบนเบอร์นันเก้ และในสมัยของไบเดน (ซึ่งเคยเป็นรองประธานาธิบดีสมัยโอบามา) เธอก็กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ของสตรีอีกครั้ง
5. คำถามสำคัญก็คือเจเน็ต เยลเลนในฐานะขุนคลังคนใหม่จะแก้ปัญหาเศษรษฐกิจอย่างไร? เพราะงานหินที่สุดในตอนนี้คือการทำให้เศรษฐกิจที่พังพินาศเพราะโควิด-19 กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
6. ปรัชญาเบื้องหลังนโยบายเศรษฐกิจของเยลเลนก็คือ การสนใจเรื่องคนยากจนและการว่างงาน ไม่ค่อยสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเพราะให้ความสำคัญเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการมีกินมากว่าเรื่องเงินเฟ้อ
7. เยลเลนเป็นนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian) ซึ่งให้ความสำคัญกับรัฐและเอกชน ไม่ได้ปล่าอยให้รัฐ "ล้อฟรี" โดยไม่แทรกแซงตลาดมากจนเกินไป และสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามวัฏจักรวงจรธุรกิจที่ตลาดขึ้นๆ ลงๆ โดยไม่มีการแทรกแซง
8. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เยลเลนทำให้เกิดวิวาทะครั้งใหญ่ เมื่อเธอระบุว่าเธอไม่คาดหวังว่าจะเกิดวิกฤตการเงินอีก "ในช่วงชีวิตของเรา" เยลเลนอธิบายว่าสมมติฐานนี้เกิดขึ้นมาจากการที่เธอเชื่อว่าธนาคาร "แข็งแกร่งมาก" อันเป็นผลมาจากการกำกับดูแลของธนาคารกลางสหรัฐ
9. หลังจากทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาพิจารณาแต่งตั้งเยลเลนต่ออีกวาระหนึ่ง แต่ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ได้เสนอชื่อให้เจอโรม พาวเวลล์ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธนาคารกลางสหรัฐต่อจากเยลเลนเมื่อวาระของเธอสิ้นสุดลงในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 มีรายงานว่าส่วนสูงของเยลเลนเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของทรัมป์
10. เยลเลนแต่งงานกับจอร์จ อาเคอร์ลอฟ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเมมโมเรียลสาขาเศรษฐศาสตร์ เขาเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ ทั้งสองคนสร้างชีวิตคู่ร่วมกันโดยมีแกนหลักอยู่ที่การทำงานเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะปัญหาความยากจน และบุตรชายของทั้งคู่ก็ยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่อาเคอร์ลอฟบอกว่าภรรยาคือเยลเลนสนับสนุนการค้าเสรีมากว่าเขานิดหน่อย
Photo by Brendan Smialowski / AFP