ยุคไบเดนสงครามการค้าจะยิ่งหนักเพราะคนๆ นี้
แคเทอรีน ไทคือใคร? และสำคัญอย่างไรต่อชะตากรรมโลกที่ต้องเจอกับสงครามการค้าต่อไป
สหรัฐได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหญิงคนแรกคือ เจเน็ต เยลเลน ซึ่งจะถือเป็นมิติใหม่ทางการเมืองก็ว่าได้ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เช่นกันเพราะเยลเลนเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดที่เป็นหญิงคนแรกเช่นกัน
เราจะไม่พูดถึงเรื่องของเยลเลนมากนักในที่นี้ เพราะเคยเจาะลึกแบบละเอียดมาแล้วในบทความเรื่อง "เจาะลึกรัฐบาลไบเดน ขุนคลังสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์"
ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐจะชี้นำทิศทางเศรษฐกิจโลกเช่นกัน แต่ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งที่ถูกมองข้ามคือ รัฐบาลไบเดนจะมุ่งไปทางไหนในด้านการค้าโลก ดังนั้นเราจึงต้องพูดถึงบุคคลสำคัญสองคนในรัฐบาลไบเดินที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง (ขณะที่เขียนบทความนี้) คือ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จีนา ไรมอนโด (Gina Raimondo) กับว่าที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ คือ แคเทอรีน ไท (Katherine Tai) หรือแคเทอรีน "ไต้" ตามสำเนียงภาษาจีนที่ถูกต้องตามชื่อจีนของเธอคือ "ไต้ฉิน"
ที่น่าสนใจก็คือ ขุนพลเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลไบเดนเป็นผู้หญิงทั้งหมด แต่คนที่น่าจับตามากที่สุดคือ แคเทอรีน ไทเพราะตำแหน่งของเธอจะเป็นการชี้นำนโยบายด้านการค้าให้กับรัฐบาลไบเดน และไบเดนต้องรับเผือกร้อนต่อจากทรัมป์เรื่องสงครามการค้ากับจีน
แคเทอรีน ไทถูกจับตามองเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่ไม่ใช่คนผิวขาวคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ แต่เพราะพ่อแม่ของเธอคนจีน (เธอจึงชื่อจีนว่า ไต้ฉิน) ต่อมาพ่อแม่ของเธอย้ายไปอยู่ไต้หวัน (ไต้หวันจึงเคลมว่าเธอเป็น "ญาติ" กับไต้หวัน) เธอเกิดที่สหรัฐจึงเป็นอเมริกันโดยกำเนิด เคยไปสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยซุนยัดเซน ที่เมืองกว่างโจว ประเทศจีน (เธอจึงรู้จักจีนดีและพูดจีนกลางคล่องแคล่ว)
ที่สำคัญไทเคยทำงานกับสำนักงานผู้แทนการค้า (USTR) ตั้งแต่ปี 2007 ระหว่างปี 2011 - 2014 เป็นที่ปรึกษาเรื่องการบังคับใช้มาตรการการค้ากับจีน หลังจากปี 2014 เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการภาษีศุลกากรของสภาผู้แทนราษฎรในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการค้า และดำรงตำแหน่งนี้จนถึงสมัยทรัมป์และมีส่วนช่วยสภาฯ ในการต่อรองกับรัฐบาลทรัมป์เรื่องข้อตกลงการค้า
นี่คือคุณสมบัติเบื้องหลังของแคเทอรีน ไทซึ่งเรียกได้ว่า "คับแก้ว" ดูแล้วเหมาะกับการรับมือกับสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมาถึงสมัยของไบเดนได้ดี
โจ ไบเดนเอ่ยถึงไทเอาไว้ว่า "เธอเข้าใจดีว่าเราต้องการกลยุทธ์ที่มากขึ้น - เพื่อให้มีกลยุทธ์มากกว่าที่เราเคยเป็นมาในวิธีที่เราทำการค้า และนั่นทำให้เราทุกคนแข็งแกร่งขึ้น"
คำพูดนี้สะท้อนแนวทางของไบเดนด้วยที่ยังจะโจมตีเหมือนเดิมและอาจะรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ (จนบางคนเชื่อว่าเขาคือ "ทรัมป์ 2.0" ในเรื่องนโยบายต่อจีน) แต่เขาจะไม่เหมือนทรัมป์ตรงที่หุนหันพลันแล่น โผงผางและสั่งการอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันผ่านทางทวิตเตอร์ ไบเดนจัดการกับจีนอย่างรอบคอบด้วยกลยุทธ์ที่ลุ่มลึกกว่า
ถ้าเขาจะจะเล่นงานจีน ก็ต้องเล่นแบบมีความชอบธรรมตามกติกาโลก หากไม่ดึงจีนเข้ามาอยู่ในกรอบกติกาการค้าโลกเขาก็จะสร้างกรอบกติกาการค้าขึ้นมาใหม่ที่จีนต้องถูกบีบ นั่นคือการสร้างพันธมิตรเพื่อล้อมจีนนั่นเอง
แคเทอรีน ไทเป็นคนที่เหมาะสมในเรืองนี้ เธอจบการศึกษาด้านกฎหมายมาและรู้จักจีนดีแถมยังทำงานด้านเจรจาการค้ามานานถึง 17 ปี โดยส่วนตัวแล้วเธอยังบอกว่าเธอเป็นคนที่ "นักแก้ปัญหาแบบปฏิบัตินิยมในเรื่องนโยบายการค้า"
คำถามก็คือ ไทจะแก้ปัญหาแบบไหน? ระหว่างการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐให้หันหน้ามาคุยกัน หรือช่วยไบเดนแก้ปัญหาติดขัดในการเล่นงานจีนอย่างหนักๆ ต่อไป
ย้อนกลับไปดูผู้แทนการค้าฯ คนก่อนคือโรเบิร์ท ไลท์ไทเซอร์ (Robert Lighthizer) เรียกว่าเป็นคนสนองคำสั่งของทรัมป์ก็ว่าได้ ซึ่งไม่แยแสกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) เอาเลยนึกจะขึ้นภาษีจีนเพื่อลงโทษจีนก็ทำไปทื่อๆ จนกระทั่งปีที่แล้ว WTO มีคำชี้ขาดว่าการที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็นการละเมิดระเบียบของ WTO
การกระทำของทรัมป์กับผู้แทนการค้าของเขาอาจได้ใจคนอเมริกันที่ชอบแนวทางของทรัมป์ (ที่มักอ้างในทำนองว่า "จีนแย่งงานเรา ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของเรา") แต่มันทำลายสถานะผู้นำโลกของสหรัฐแบบยับเยิน เพราะสหรัฐนั่นเองที่เป็นสมาชิกแรกเริ่มของ WTO และสหรัฐอีกนั่นแหละที่ยอมให้จีนร่วม WTO เพื่อให้โลกค้าขายกันตามกติกา
ก่อนสมัยทรัมป์ยังมีหลักฐานเหลืออยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานผู้แทนการค้าฯ ที่ระบุว่า "สหรัฐเป็นสมาชิกดั้งเดิมของ WTO และเป็นผู้สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดตามกฎอย่างมั่นคง การทำงานผ่าน WTO ทำให้สหรัฐสามารถปกป้องและพัฒนาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของธุรกิจและคนงานอเมริกันในขณะที่เปิดตลาดต่างประเทศ .. สหรัฐยังเป็นผู้นำระดับโลกในการลดอุปสรรคทางการค้าเพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจทั่วโลก"
เมื่อทรัมป์เข้ามาสิ่งเหล่านี้ดูจะกลายเป็นอดีตไป สหรัฐกลายเป็นผู้สร้างอุปสรรคการค้าที่ไม่ชอบธรรม กลายเป็นประเทศที่ปิดตัวเอง ไม่แยแสการค้าเสรีและหมกมุ่นกับการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง (Protectionism) จนทำให้โลกปั่นป่วนอย่างหนัก
แต่กับไทและไบเดนเป็นคนละเรื่อง เมื่อย้อนกลับไปดูผลงานของไทที่เล่นงานจีนเหมือนกัน จะพบว่าขณะที่ทรัมป์กับพลพรรคเล่นงานจีนเหมือน "สงครามกองโจร" แต่ไทเล่นงานจีนด้วย "นิติสงคราม" ตามกติกาของ WTO ด้วยและสำเร็จเสียด้วย
กรณีศึกษาคือเมื่อปี 2012 ไทเป็นแกนนำในการผนึกกำลังประเทศต่างๆ รวม 18 ประเทศเพื่อฟ้องร้องต่อ WTO ฐานที่จีนกำหนดโควต้าการส่งออกแรร์เอิร์ธ จนจีนต้องยอมยกเลิกเมื่อปี 2015
ในระหว่างที่เธอเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการภาษีศุลกากรฯ ยังมีการผลักดันมาตรการแบนสินค้าจากซินเจียงที่อ้างกันว่าผลิตโดยการบังคับใช้แรงงานในค่ายกักกัน/ค่ายฝึกอาชีพของทางการจีนในซินเจียง
ตอนนี้ที่สงครามการค้ากำลังคุกรุ่น จีนก็แสดงท่าทีว่าจะกุมตลาดแรร์เอิร์ธเอาไว้ให้มั่น จนเมื่อไม่กี่วันก่อนรัฐบาลจีนก็ผ่านกฎใหม่เพื่อคุมแร่ชนิดนี้ให้เข้มงวดขึ้นอีก ไม่แน่ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเสนอชื่อไท ผู้เคยล้มจีนเรื่องแรร์เอิร์ธมาแล้ว
อย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักผู้แทนการค้าฯ ล้วนแต่เป็นหัวกะทิด้านกฎหมายไม่ก็ด้านเศรษฐศาสตร์ ไทเองก็มีดีกรีด้านกฎหมาย ดังนั้นสหรัฐกับจีนที่เคยรบแบบแลกหมัดสมัยทรัมป์ จะต้องหันมารบด้วยการเปิดตำรากฎหมายกันมากขึ้น
ในวันที่ถูกเสนอชื่อโดยไบเดน แคเทอรีน ไทบอกว่า "การค้าก็เหมือนเครื่องมืออื่นๆ ของเราในด้านนโยบายต่างประเทศ มันไม่ใช่เป้าหมายในตัวมันเอง มันคือวิธีการในการสร้างความหวังและโอกาสให้กับผู้คน และมันจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมนุษยธรรมและศักดิ์ศรีของชาวอเมริกันทุกคนและทุกๆ คนอยู่ที่ใจกลางในแนวทางของเรา"
คำพูดนี้คล้ายกับจุดยืนของทรัมป์อย่างมาก เพียงแต่พูดอย่างนุ่มนวลเหมือนไม่อันตราย
กับการที่ทรัมป์ใช้ "เครื่องมือหนัก" ด้วยขึ้นภาษีกีดกันจีน เธอเองยังคล้อยตามด้วยซ้ำโดยบอกว่ามันเป็นมาตรการเชิงป้องกัน ซึ่งสหรัฐต้องการอะไรที่เป็นเชิงรุกมากกว่านี้ ทว่าเธอแย้มว่าควรจะผนึกกำลังกับพันธมิตรด้วย
แคเทอรีน ไทจะใช้การค้าเป็นเครื่องมือกดดันจีนต่อไป ดังนั้นหลายคนจะไม่รู้สึกโล่งใจที่เห็นชื่อของเธอ ตรงกันข้ามใครที่รู้จักไทดีขึ้น จะต้องเตรียมตัวให้ดีว่าสงครามการค้าไม่แผ่วลง แต่มีทางเลือกสองทางคือแรงเท่าเดิมหรือหนักกว่าเดิม
หากยังไม่เชื่อก็ต้องยกคำพูดของไบเดนที่กล่าวชมเชยไทว่าเธอเป็น "หัวหน้าฝ่ายการค้าผู้บังคับใช้มาตรการต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีนซึ่งจะมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริส"
ชัดเสียยิ่งกว่าชัดว่า สองมหาอำนาจจะเผชิญหน้ากันต่อไป
โดย กรกิจ ดิษฐาน
Photo Chip Somodevilla/AFP