posttoday

ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยจนที่สุดในภูมิภาค

02 มีนาคม 2564

ประเทศไทยเคยจนกว่าเมียนมาและฟิลิปปินส์รวยที่สุดในภูมิภาค แต่ทำไมมันถึงกลับตาลปัตรไปได้

หลังการทำรัฐประหารในไทยเมื่อปี 2557 ไทยถูกมองว่าถอยหลังเข้าคลองอีกครั้ง บวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงต่อเนื่อง ทำให้มีการพูดถึงแนวโน้มของไทยในแง่ที่ไม่ดีนักมากขึ้น

หนึ่งในนั้นคืองานวิชาการที่ชื่อ "หล่นลงไปทีหลัง แล้วมุ่งมั่นทะยานไปข้างหน้า แล้วหล่นไปทีหลังอีกที: ประเทศไทยตั้งปี 1870 จนถึง 2014" เป็นงานวิจัยของ Anne Booth แห่งสถาบัน SOAS ในลอนนดอน

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเคยอยู่ในตำแหน่งท้ายๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วก็ถีบตัวข้่นมาเป็นแถวหน้าได้สำเร็จ แต่งานวิจัยนี้ชี้ว่าไทยกลับมาซบเซาอีกครั้งหลังวิกฤตการเงินปี 2540

แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่คนไทยหลายคนเข้าใจผิดมาโดยตลอด นั่นคือเข้าใจผิดไปว่าสมัยก่อนประเทศไทยเคยเจริญกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์แต่ต้องมาตกต่ำในภายหลัง จนทั้งสองประเทศแซงหน้าไปแล้ว

ความจริงก็คือ "ในปี 1938 จีดีพีต่อหัวของไทยต่ำกว่าอาณานิคมในเอเชียยกเว้นพม่าและอินเดีย ในช่วงทศวรรษหลังปี 1946 เมื่ออดีตอาณานิคมทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเอกราชหรือมีมาตรการปกครองตนเองอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยยังถือว่าค่อนข้างล้าหลังและมีเศรษฐกิจที่ไม่ดี"

เมื่อมาดูที่สถิติในช่วงทศวรรษที่ 1930s จะเห็นกันจะๆ ว่า ประเทศที่ "รวยที่สุด" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานั้นคือฟิลิปปินส์ ซึ่งมีรายได้ต่อหัว 1,542 เหรียญสหรัฐ มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าประเทศอื่นคืมีอัตราการตายของทารก 139/1,000 คน จำนวนประชากรที่ได้รับการศึกษาสูงกว่าใครที่ 11.54%

ประเทศมาลายาซึ่งต่อมาจะแยกออกเป็นประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์มั่งคั่งที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค มีรายได้ต่อหัวที่ 1,426 เหรียญสหรัฐ อันดับที่ 3 คืออินโดนีเซีย 1,171 เหรียญสหรัฐ อันดับที่ 4 คือประเทศสยามหรือไทยมีรายได้ต่อหัว 826 เหรียญสหรัฐ

อันดับรองจากไทยคือพม่าหรือเมียนมาที่ 740 เหรียญสหรัฐ แต่ไทยกับเมียนมามักสลับกันไปมาบางครั้งเมียนมามีรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทยในหลักพันเลยทีเดียว เช่นปี 1938 สูงราวๆ 1,100 - 900 เหรียญสหรัฐ 

ยกเว้นเมียนมาแล้ว ยังมีอินโดจีนของฝรั่งเศสที่ต่อมาจะแยกเป็นเวียดนาม กัมพูชา และลาว กลุ่มนี้ไม่มีข้อมูล แต่งานวิจัยบอกว่ารายได้ต่อหัวของไทยค่อนข้างสูงกว่าเวียดนาม ซึ่งหมายความว่าสูงกว่ากันไม่เท่าไร

จากสถิตินี้เมื่อปี 1938 จะเห็นว่าประเทศไทยเป็นบ๊วยหรือรองบ๊วยในภูมิภาคในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มาเลเซียและสิงคโปร์มีเศรษฐกิจที่ดีกว่าไทยมาก

แม้แต่เมียนมาก็ยังแซงไทยในบางครั้งและในเวลานั้นเมียนมายังเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก และเมื่อนับรายได้ต่อหัวคนเมียนมามีรายได้ 3.8 เหรียญสหรัฐ คนไทยมีรายได้ 3.5 เหรียญสหรัฐ ต่ำที่สุดยกเว้นอินโดจีน (แต่อินโดจีนไม่มีข้อมูลชัดเจน)

ดังนั้นหากมีใครบอกว่าไทยเคยเจริญมาก่อนเพื่อนบ้านจึงไม่ใช่ความจริง หากไม่ใช่ความเข้าใจผิดก็เป็นการบิดเบือน ความจริงก็คือไทยมีเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดในหมู่เพื่อนบ้าน

ความที่ไทยในเวลานั้นย่ำแย่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายเศรษฐกิจ-การเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น แทนที่ไทยจะมีรายได้จากการเก็บภาษีประชาชนซึ่งเจริญก้าวหน้ากลายเป็นชนชั้นกลางเหมือนในญี่ปุ่น แต่ไทยไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าแบบญี่ปุ่น เรื่องนี้จึงทำไม่ได้

แต่ปรากฎว่ารายได้กว่า 40% ของประเทศไทยได้มาจากการผูกขาดสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์อย่างการผูกขาดการค้าฝิ่น ซึ่งนอกจากจะไม่ต่อยอดความเจริญทางวัตถุแล้วยังทำลายสังคมอย่างเลวร้าย

อีกสาเหตุคือระบบราชการของไทยที่ใหญ่เกินไป ทำให้ต้องเจียดเงินมาจ่ายบุคคลากรซึ่งอาจจะมากเกิความจำเป็น เมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ในเวลานั้นซึ่งรวยที่สุดในภูมิภาค ฟิลิปปินส์อยู่ในอารักขาของสหรัฐจึงไม่ต้องใช้งบประมาณด้านความมั่นคงและยังมีระบบราชการที่เล็กกว่าไทย ทำให้ฟิลิปปินส์มีเงินเหลือมาจัดการการศึกษาและสาธารณะสุขได้ดีกว่าไทย คือคนฟิลิปปินส์ที่มีการศึกษาสูงที่สุดในภูมิภาค 11.54% ของประชากร ขณะที่ไทยอยู่ที่ 10.65% แต่ก็ยังถือว่าสูงที่สุดอันดับสองในแถบนี้

ในแง่การศึกษาไทยจึงทำได้ดีมาก ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจแย่ที่สุด แต่กระจายความรู้ให้ประชาชนมากที่สุด เรื่องนี้ยังสะท้อนว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกับไทยมีปัญหาซ่อนเร้นในตัวเลขที่เหมือนจะดูดี

ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปกครองโดยประเทศเจ้าอาณานิคมชาติตะวันตก คือฟิลิปปินส์ปกครองโดยสหรัฐ มาลายาของบริเตนหรือสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน เมียนมาก็เป็นของบริเตน อินโดนีเซียเป็นของเนเธอร์แลนด์ และอินโดจีนเป็นของฝรั่งเศส ยกเว้นไทยเท่านั้นที่เป็นเอกราช

หากมองเผินๆ เหมือนกับว่าการตกเป็นอาณานิคมจะช่วยประเทศเหล่านี้เจริญกว่าไทย ซึ่งในบางแง่ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่อย่างที่บอกไว้ว่าตัวเลขนั้นหลอกได้ เมื่อเราเห็นตัวเลขของบางประเทศ เช่น เมียนมาที่รายได้ต่อหัวพอๆ กับไทยหรือบางช่วงดีกว่าไทยๆ เราอาจคิดว่าการที่คนพม่าอยู่ในอาณัติของอังกฤษเป็นเรื่องที่เป็นคุณกับพวกเขา

แต่ความจริงก็คือ ถึงแม้เศรษฐกิจของเมียนในเวลานั้นจะดีกว่าไทย แต่ความมั่งคั่งตกอยู่เจ้าอาณานิคมอังกฤษ และชนชั้นกลางที่ประกอบด้วยคนอินเดียและจีนที่ควบคุมการค้า คนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์มีสถานะทางสังคมดีกว่าชาวพม่า (บะหม่า) ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะอังกฤษใช้วิธี "แบ่งแยกและปกครอง" เพื่อกดทับและกีดกันคนพม่า

ดังนั้นเราจะเห็นว่าถึงแม้รายได้ต่อหัวของชาวเมียนมาจะดีกว่าไทย แต่มันไม่ได้แยกแยะว่าคนพม่า คนกลุ่มน้อย คนจีน/อินเดีย และคนอังกฤษได้เท่าไรบ้าง แต่เราจะเห็นได้ว่าอังกฤษเจียดเงินให้การศึกษาแก่ประชาชน (ที่เป็นคนชั้นสี่ในประเทศตัวเอง) ในระดับที่ต่ำมาก คนในประเทศเมียนมาเข้าถึงการศึกษาแค่เพียง 5.45% หรือไม่ถึงครึ่งของประเทศไทยในเวลานั้น

เจ้าหน้าที่อังกฤษบรรยายสถานะของชาวพม่าในเวลานั้นเอาไว้ว่า “เจ้าที่ดินชาวต่างชาติและคนปล่อยเงินกู้ชาวต่างชาติ ทำให้การส่งออกทรัพยากรของประเทศเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากและส่งผลให้เกษตรกรและประเทศโดยรวมยากจนลงอย่างต่อเนื่อง…. ชาวนามีฐานะยากจนเพิ่มขึ้นและการว่างงานเพิ่มขึ้น…การล่มสลายของระบบสังคมพม่าทำให้จิตสำนึกทางสังคมเสื่อมโทรม ซึ่งในสถานการณ์ความยากจนและการว่างงานทำให้เกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก”

นี่คือผลของการที่ประเทศหนึ่งตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะดี แต่มันไม่ได้หมายความว่าเจ้าของประเทศเดิมจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองไม่ได้ด้วย ชาวพม่านั้นไม่ได้รับอนุญาตให้รับราชการทหาร (เพราะอังกฤษกลัวว่าจะก่อการ) อังกฤษไปใช้คนอินเดียและคนกระเหรี่ยงแทน ส่วนงานราชการเจ้านายเป็นฝรั่งและงานอื่นๆ ให้คนอินเดีย คนพม่าที่เคยเป็นเจ้าของประเทศมีสถานะต่ำสุดในสังคม

ในบางประเทศการนำคนต่างชาติเข้ามาทำงานแทนเจ้าของประเทศเดิมทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง เช่น ในมาเลเซียคนจีนเข้าควบคุมเศรษฐกิจและมั่งคั่งขึ้น ทำให้คนมลายูเจ้าถิ่นเดิมไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งแทนที่คนมลายจะมีส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจมากกว่าคนกลุ่มอื่น กลับเป็นกลุ่มคนที่จนที่สุดและมีโอกาสทางสังคมน้อยที่สุด (ยกเว้นมลายูชั้นสูง) ความขัดแย้งระหว่างคนต่างชาติที่คุมความมั่งคั่งกับกับเจ้าถิ่นเดิมที่จนกว่า รุนแรงที่สุดในอินโดนีเซียซึ่งทำให้เกิดการสังหารหมู่คนจีนหลายครั้ง

เทียบกับประเทศไทยที่เป็นเอกราช คนไทยปกครองคนไทยด้วยกันเอง แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี และมีความบกพร่องในหลายๆ เรื่อง แต่อย่างน้อยคนไทยก็กำหนดชะตากรรมตัวเองได้ (ในระดับหนึ่ง) เช่นเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการลดข้าราชการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงความต้องการให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ทำให้นายทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจขึ้นมาและก่อการปฏิวัติขึ้นมาในปี พ.ศ. 2475

ประเทศไทยยังสามารถกลืนคนจีนและเชื้อชาติอื่นๆ เข้ามาเป็นคนไทยได้อย่างกลมกลืน (สมกับเนื้อหาในเพลงชาติว่า "รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย") ทำให้คนไทยไม่รู้สึกว่าคนจีนเข้ามากอบโกย "ของๆ คนไทย" เท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลสยาม/ไทยอย่างหนึ่ง

แม้ว่าไทยจะจนกว่าเพื่อนบ้าน แต่เพราะไม่มีปัญหาเชื้อชาติและศาสนาเหมือนเมียนมา, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้ไทยตัดปัญหาเรื่องนี้ไปได้

และเมื่อประเทศไทยถึงเวลา "เทคออฟ" จากความยากจนอย่างจริงจังในทศวรรษที่ 1950s ไทยก็เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งจากประเทศที่จนที่สุดอันดับสอง กลายเป็นประเทศที่รวยที่สุดอันดับสามของภูมิภาค จากรายได้ต่อหัวหลัก 500 เหรียญสหรัฐกว่าๆ มาเป็นเกือบ 8,000 แล้วในเวลานี้

ในขณะที่เมียนมาที่เคยสูงกว่าไทยและบางจุดเท่ากับไทย หลังได้รับเอกราชแล้วไม่นานก็เกิดการยึดอำนาจโดยนายพลเน วิน และนำระบบสังคมนิยมมาใช้ทำให้ประเทศถดถอยอย่างหนักประชาชนตกอยู่ในความยากจนรุนแรง และทำให้ประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ในทศวรรษที่ 1950s เมื่อไทยเริ่มกระบวนการสร้างอุตสาหกรรมและถีบตัวเองจากสังคมเกษตรที่อยู่กันแบบเนิบๆ รายได้ต่อหัวของไทยมีแต่โตวันโตคืน ส่วนคนเมียนมามีรายได้ต่อหัวลดลงสวนทางกับไทยไปเรื่อยๆ ในปี 1962 ที่นายพลเน วินยึดอำนาจ รายได้ต่อหัวของเมียนมาอยู่ที่ราวๆ 700 เหรียญ

ความหายนะเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด เมียนมาที่เคยใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่ใครใคร่ค้าค้า ใครใคร่ขายขาย กลายเป็นเศรษฐกิจที่ผูกขาดโดยรัฐ คณะปฏิวัติออกกฎหมายยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐโดยรวมแล้วมีบริษัทเอกชนประมาณ 15,000 แห่งถูกทำให้เป็นของรัฐ นอกจากนี้ห้ามมิให้นักอุตสาหกรรมตั้งโรงงานใหม่ด้วยทุนส่วนตัว อุตสาหกรรมหลักทุกประเภทตกเป็นของรัฐ

ผู้ที่ได้รับผลกระทบแรกๆ คือนายทุนชาวอังกฤษเดิมที่ยังอยู่ในเมียนมา (พวกแองโกล-เบอร์มีส) และชาวอินเดียในเมียนมา นโยบายนี้จึงเหมือนเป็นการเอาคืนโดยชาวพม่าต่อชนชั้นต่างชาติที่เคยแย่งความมั่งคั่งจากเจ้าของประเทศไปในช่วงอาณานิคม ผลก็คือเมื่อกลางปี 1963 มีชาวต่างชาติ 2,500 คนต่อสัปดาห์เดินทางออกจากพม่า และภายในเดือนกันยายน 1964 ชาวอินเดียประมาณ 100,000 คนต้องเดินทางออกจากประเทศ

เพียงแต่มันไม่ได้กระทบแค่นายทุน มันกระทบไปถึงประชาชนทุกชั้นเพราะอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ผลิตข้าวได้ไม่พอที่จะส่งออกเพื่อเป็นมหาอำนาจข้าวได้อีกต่อไป และตลอดทศวรรษ 1960 ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเมียนมาลดลงจาก 214 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 1964 เป็น 50 ล้านดอลลาร์ในปี 1971 

ทั้งหมดนี้เพราะความอ่อนด้อยในเรื่องเศรษฐกิจของพวกทหารและความดึงดันในอำนาจของนักปฏิวัติ หลังจากนั้นเมียนมาก็จนลงๆ และถูกไทยแซงแบบทิ้งห่างลิบตาจนถึงทุกวันนี้

ในขณะที่ไทยในเวลาเดียวกัน แม้จะปกครองด้วยรัฐบาลทหาร แต่ยังมีการใช้พลเรือนที่มีความรู้ (พวกเทคโนแครต) ทำให้เศรษฐกิจไทยมีรากฐานที่มั่นคงขึ้นและมีการเปิดตลาดที่เสรีกว่าหลายเท่า แต่ไม่ได้หมาายความรัฐบาลทหารจะมีประสิทธิภาพกว่ารัฐบาลพลเรือน 

หมายเหตุ - ในขณะที่ฟิลิปปินส์ได้รับอานิสงส์จากสหรัฐมากพอสมควร เมื่อเป็นเอกราชแล้วยังคงเจริญมาได้ระดับหนึ่ง มีช่วงหนึ่งในทศวรรษที่ 1960 ที่จีดีพีของไทยห่างจากฟิลิปปินส์ถึง 73% จนกระทั่งประเทศดิ่งเหวในช่วงเผด็จการมาร์กอส จากรายได้ต่อหัวสูงถึง 1,542 เหรียญสหรัฐในปี 1938 หล่นมาอยู่แค่ 715 เหรียญในปี 1990

ในปีเดียวกันนั้นประเทศไทยที่เคยตามฟิลิปปินส์มาโดยตลอดก็ถีบตัวขึ้นมาจาก 826 เหรียญในปี 1938 มาอยู่ที่ 1,508 เหรียญสหรัฐ สาเหตุที่ไทยนำขึ้นมาเพราะไทยเน้นส่างเสริมการลงทุนด้วยการตั้ง BOI ขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 แต่ฟิลิปปินส์ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้จนกระทั่งทศวรรษที่ 1980

สถานะของฟิลิปปินส์จึงสลับกับไทย ณ จุดนี้และจนถึงทุกวันนี้ฟิลิปปินส์ถูกไทยทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น

โดย กรกิจ ดิษฐาน

ภาพ Bangkok, Siam [Thailand]. Photograph by John Thomson, 1866.. Credit: Wellcome Collection. Attribution 4.0 International (CC BY 4.0)