posttoday

คลื่นยักษ์ใต้น้ำถล่มอาจเป็นสาเหตุทำให้เรือดำน้ำอินโดจมลง

02 พฤษภาคม 2564

จากการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเรืออินโดนีเซียที่บอกกับสื่อของออสเตรเลีย

ขณะที่เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียกำลังตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้เรือดำน้ำ KRI Nanggala (402) จมลงในน้ำลึก 800 กว่าเมตรนอกชายฝั่งบาหลีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วกล่าวว่าเรืออาจถูกคลื่นใต้น้ำอันทรงพลังดึงลงสู่พื้นมหาสมุทรจนกระทั่งเรือได้รับความเสียหายและจบลงด้วยความตายของลูกเรือทั้งลำ

ทีมงานสืบสวนกล่าวว่าภาพถ่ายดาวเทียมระบุว่ามีคลื่นใต้น้ำรุนแรงในพื้นที่ในช่วงเวลาที่เรือหายไป คลื่นดังกล่าวมองไม่เห็นบนพื้นผิวมหาสมุทร แต่คลื่นนี้เคยถูกจับภาพได้โดยองค์การ NASA เช่นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2016 ดาวเทียม Aqua ของ NASA ขณะเคลื่อนผ่านประเทศอินโดนีเซียจับภาพสีจริงที่น่าทึ่งของคลื่นรูปทรงผิดปกติได้แถบช่องแคบลอมบอก (โปรดดูภาพประกอบข่าว)

รายงานของ NASA ในเวลานั้นระบุว่า "ช่องแคบลอมบอกซึ่งเป็นทางเดินที่ค่อนข้างแคบระหว่างบาหลี (ตะวันตก) และลอมบอก (ตะวันออก) ช่วยให้น้ำไหลจากมหาสมุทรแปซิฟิกลงสู่มหาสมุทรอินเดีย พื้นทะเลของช่องแคบมีความซับซ้อนและขรุขระประกอบด้วยสองช่องหลักช่องหนึ่งช่องตื้นและช่องหนึ่งลึก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนที่ของน้ำเนื่องจากความซับซ้อนของช่องทางและส่วนต่อของมหาสมุทรกระแสน้ำในช่องแคบจึงมีจังหวะที่ซับซ้อน แต่ทุกๆ 14 วันมันจะรวมพลังกันเพื่อให้เกิดกระแสน้ำที่รุนแรงเป็นพิเศษ เป็นการรวมกันของภูมิประเทศที่ขรุขระ, กระแสน้ำที่แรง และน้ำที่แบ่งชั้นจากการแลกเปลี่ยนในมหาสมุทร ทำให้ช่องแคบลอมบอกมีชื่อเสียงในด้านการสร้างคลื่นภายในที่เข้มข้น"

“เมื่อน้ำพัดพาเรือและดันมันลงไปแล้วเราจะทำอะไรได้อีก ไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้” พลเรือตรี อิวน อิสนูรวันโต (Iwan Isnurwanto) ของกองทัพเรืออินโดนีเซียกล่าวกับ Australian Broadcasting Corporation หรือ ABC

ABC รายงานว่าพลเรือตรีมูฮัมหมัด อาลี (Rear Admiral Muhammad Ali) อดีตผู้บัญชาการเรือดำน้ำลำที่จมลงกล่าวว่าเงื่อนไขดังกล่าวอาจสร้าง "กระแสน้ำที่แรงซึ่งสามารถลากเรือในแนวตั้งเพื่อให้จมลงเร็วกว่าที่ควร"

ทั้งนี้ เชื่อกันว่าแรงดันน้ำทำให้เรือดำน้ำแตกออกจากกันเมื่อจมลงต่ำกว่าระดับความลึกสูงสุดในการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม นอกจากคำอธิบายนี้แล้วยังมีบางคนบอกว่าเรือลำดังกล่าวอาจถูกยิงด้วยขีปนาวุธจากเรือต่างชาตอหรือแม้กระทั่งไฟดับ แต่เจ้าหน้าที่ทหารเรือกล่าวว่าเรือดำน้ำยังคงถูกตรวจพบในขณะที่เริ่มดำน้ำเพื่อซ้อมยิงตอร์ปิโดและ "ไฟยังติดอยู่" ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสเพียงเล็กน้อยที่ไฟฟ้าดับจะเป็นสาเหตุ

ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ชี้ให้เห็นถึงความทรุดโทรมของเรือหรือ "ความล้าของโลหะ" (Fatigue) จากรอยแตกหรือการสึกกร่อนและอายุของเรือดำน้ำเป็นสาเหตุที่น่าจะทำให้เรือจม เนื่องจาก KRI Nanggala 402 สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2521 และได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2555 ซึ่งเป็นเวลาเกือบทศวรรษที่ผ่านมา

ภาพจาก Oceanic Nonlinear Internal Solitary Waves From the Lombok Strait