“กุยบุรีโมเดล” พลิกวิกฤตคน-ช้าง ด้วยเทคโนโลยี AI ทรู
ในมุมเล็กๆ ของชายป่ากุยบุรี เสียงเทคโนโลยีดังก้องควบคู่กับเสียงช้าง ทรู จับมือกรมอุทยานฯ WWF-ประเทศไทย พัฒนา True Smart Early Warning System (TSEWS) ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เตรียมขยาย “กุยบุรีโมเดล” ไปยังป่าทั่วไทย
เรื่องเล่าจากป่า: เมื่อคนกับช้างต้องหาทางอยู่ร่วมกัน
กลางคืนในป่าลึกเงียบสงบ เพียงได้ยินเสียงกิ่งไม้ลั่นดังเป็นระยะ บ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวของช้างป่ากลุ่มหนึ่ง แต่เส้นทางที่มันมุ่งหน้าไปนั้น ไม่ใช่ในป่ากว้างเหมือนที่เคย แต่กลับมุ่งเข้าสู่เขตชุมชนใกล้เคียง
พื้นที่ป่าที่หดหาย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่ เมื่อมนุษย์ต้องการพื้นที่ทำการเกษตรและอยู่อาศัยมากขึ้น พื้นที่ของช้างป่าก็ยิ่งลดลงเรื่อย ๆ การที่พวกมันออกจากป่ามาบุกรุกพื้นที่ชุมชนเพื่อหาอาหารจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่ผลที่ตามมาคือความเสียหายที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งพืชผลถูกทำลาย ทรัพย์สินพังเสียหาย และบางครั้งถึงขั้นชีวิตของคนและช้างต้องสูญเสีย
ในหลายประเทศที่มีช้างป่า “ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง” (Human-Elephant Conflict: HEC) เป็นประเด็นที่แก้ไขได้ยาก
ช้างป่ากุยบุรี
ศรีลังกา สูญเสียช้างป่ากว่า 200 ตัวต่อปี จากความขัดแย้งนี้ ,อินเดีย ช้างป่าเสียชีวิต 100 ตัว ขณะที่มีคนเสียชีวิตมากถึง 400 คนต่อปี ,เคนยา ในช่วงปี 2553-2560 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะช้างกว่า 200 คน
ขณะที่ในประเทศไทย แม้จำนวนช้างป่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,013-4,422 ตัว กระจายอยู่ใน 16 กลุ่มป่า แต่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีอยู่กลับไม่ขยายตัวตาม ความขัดแย้งจึงเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่าห่วง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่า มากกว่า 37,000 ครั้ง และสร้างความเสียหายต่อพืชผลกว่า 3,800 ครั้ง ภายใต้ตัวเลขเหล่านี้ มีชีวิตผู้คนที่ได้รับผลกระทบ โดยในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา (2555-2567) มีผู้เสียชีวิตถึง 227 ราย และบาดเจ็บ 198 ราย
การเริ่มต้นของโครงการที่เปลี่ยนแปลงชุมชน
ย้อนกลับไปในปี 2561 เมื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น จับมือกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย เพื่อทดลองนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาช่วยแก้ปัญหา ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) พื้นที่นำร่องคือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
การแสดงผลของระบบ True Smart Early Warning System
True Smart Early Warning System (TSEWS) กลายเป็นพระเอกของโครงการนี้ ด้วยการผสานพลังของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G และ 4G พร้อมด้วยระบบ IoT (Internet of Things) และ กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap) ที่ส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ตรงถึงเจ้าหน้าที่
ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม
ปีแล้วปีเล่า ระบบนี้พิสูจน์ตัวเองด้วยสถิติที่น่าประทับใจ แม้ในปี 2566 จะมีเหตุการณ์ช้างป่าบุกรุกพื้นที่ถึง 1,104 ครั้ง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพืชผลมีเพียง 4 ครั้ง หรือ 0.36% เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ที่อัตราความเสียหายสูงถึง 74.5% การปรับเปลี่ยนนี้ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้านที่ไม่ต้องสูญเสียทรัพย์สิน และช้างที่ไม่ต้องเผชิญกับการตอบโต้
มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหารทรู และ วีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ
วีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวถึงความสำเร็จนี้ว่า “ระบบ TSEWS ไม่เพียงช่วยลดความสูญเสีย แต่ยังสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการดำรงชีวิตของชุมชนได้อย่างยั่งยืน”
วิษณุวิชญ์ ทองอ่อน ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในกลุ่มป่าแก่งกระจาน WWF กล่าวว่า ในอดีตมีเพียงเจ้าหน้าที่ 4-5 คน ทำหน้าที่ผลักดันช้างป่า โดยจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อชาวบ้านแจ้งว่าพบช้างเข้ามาบุกรุกในพื้นที่แล้ว เจ้าหน้าที่ไม่มีทางรู้ว่าช้างป่าจะลงมาเมื่อไหร่ การทำงานจึงเหมือนคนตาบอด และไม่ได้แก่ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นคือ ช้างป่า
วิษณุวิชญ์ ทองอ่อน ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในกลุ่มป่าแก่งกระจาน WWF
เมื่อมีการติดตั้งกล้องตามพื้นที่ต่างที่เป็นเส้นทางเดินของช้าง ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถรู้เหตุก่อนล่วงหน้า เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ได้ ปัจจุบันมีกล้องติดในพื้นที่ป่าประมาณ 60 ตัว รวมถึงมีการใช้โดรนให้เจ้าหน้าที่ตระเวนสำรวจช้างในพื้นที่ป่า และช่วยผลักดันช้าง ผ่านการใช้เสียงไล่ เช่น เสียงเสือ เสียงคนไล่ ทดแทนการใช้เสียงคน เพราะช้างจดจำได้ คุ้นเคย และอาจไม่หนี รวมถึงประทัดปิงปอง เพื่อสร้างเสียงดังให้ช้างป่ารวมตัวกันและขับไล่สู่ป่าพร้อมกัน
นิติพัฒน์ แน่นแคว้น ผู้ใหญ่บ้าน บ้านรวมไทย อ.กุยบุรี เล่าว่า นอกจากเทคโนโลยีแล้ว การแก้ปัญหาจากชาวบ้านให้ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรม ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการปลูกสับปะรด เพียงอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ช้างป่าชอบ ดังนั้นในชุมชนจึงมีการปรับปรุงการปลูกพืชผสมผสานมากขึ้น เป็นพืชที่ช้างไม่กิน และมีการรวมกลุ่ม 14 กลุ่มอาชีพ ในการนำผลิตผลมาสร้างรายได้
กล้องที่เจ้าหน้าที่ติดตั้งเพื่อดูช้างป่า
เทคโนโลยีเพื่อสังคม: ความมุ่งมั่นของทรู
มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหารของทรู กล่าวด้วยความภูมิใจว่า “โครงการนี้สะท้อนถึงแนวคิด Tech for Good ของทรูที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม ระบบ TSEWS ไม่ได้แก้ปัญหาเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดไปยังประเทศอื่นๆ ที่เผชิญกับปัญหาเดียวกันได้”
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง เป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่ด้วยโซลูชันที่ทันสมัย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และความตั้งใจที่จะสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทั้งมนุษย์และธรรมชาติ โครงการนี้ได้แสดงให้เห็นว่าความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์สามารถเป็นจริงได้
สำหรับการทำงานของโซลูชัน True Smart Early Warning System (TSEWS) เฝ้าระวังช้างป่ากว่า 400 ตัวในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประกอบด้วย
• นำเครือข่ายอัจฉริยะ 4G, 5G ผสานกับเทคโนโลยี AI และอุปกรณ์ IoT พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า
• ติดตั้งกล้อง Camera Trap พร้อมซิม เชื่อต่อเครือข่าย เพื่อระบุพิกัด และแจ้งเหตุแบบเรียลไทม์
• เมื่อกล้องตรวจจับพบช้างออกนอกบริเวณพื้นที่ป่า เริ่มบุกรุก ระบบส่งภาพช้างพร้อมพิกัดแจ้งเตือนไปยังระบบ Cloud
• ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมแจ้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพร้อมโดรนเข้าตรวจสอบ
• เจ้าหน้าที่ดำเนินการผลักดันช้างกลับเข้าป่า ลดความสูญเสีย
โซลูชันอัจฉริยะ “True Smart Early Warning System (TSEWS)”: นวัตกรรมจาก Tech For Good เพื่อสังคมยั่งยืน" ด้วย 3 แนวคิดเชิงกลยุทธ์ ได้แก่
1. EMPATHY: เข้าใจชีวิต ใส่ใจทุกมิติ
พัฒนาเทคโนโลยีบนพื้นฐานความเข้าใจความต้องการของทุกชีวิต ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ผ่านมุมมองที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และการรับฟังความต้องการจากทุกชุมชน
2. INSIGHTS: พลังข้อมูล นำสู่การเปลี่ยนแปลง
ตัดสินใจบนพื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูลแบบองค์รวม โดยบูรณาการข้อมูลจากเครือข่ายพันธมิตรและชุมชน เพื่อพัฒนาโซลูชันที่ตรงจุด
3. TECHNOLOGY: นวัตกรรมเพื่อทุกชีวิต
นำความเชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ผสาน AI และ Big Data พัฒนาเป็นโซลูชันที่เข้าถึงได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน