บ้านต้นลำแพนต้นแบบแห่งความพอเพียง
มีโอกาสไปถ่ายรายการ “ธุรกิจติดดาว” ใน จ.สมุทรสงคราม ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สักเท่าไหร่ การเดินทางก็สะดวกสบายไปตามถนนพระราม 2 ผ่าน จ.สมุทรสาคร เพียงชั่วอึดใจก็ถึงที่หมายปลายทางแล้ว
มีโอกาสไปถ่ายรายการ “ธุรกิจติดดาว” ใน จ.สมุทรสงคราม ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สักเท่าไหร่ การเดินทางก็สะดวกสบายไปตามถนนพระราม 2 ผ่าน จ.สมุทรสาคร เพียงชั่วอึดใจก็ถึงที่หมายปลายทางแล้ว
เนื่องจากมีคนแนะนำว่า มีหมู่บ้านที่ยังไม่ถูกความเจริญเข้าไปครอบงำมากนัก ชาวบ้านอยู่กันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน การทำมาหากินของชาวบ้านยังพึ่งพาธรรมชาติได้อย่างสบายและอยู่กันอย่างพอเพียง
หมู่บ้านที่พูดถึง คือ หมู่บ้านต้นลำแพน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม นั่นเอง หมู่บ้านแห่งนี้เก่าแก่ก่อตั้งมาเป็น 100 ปีแล้ว เป็นหมู่บ้านที่ถูกปิดมาโดยตลอด เพราะห่างไกลจากตัวจังหวัดประมาณ 50 กิโลเมตร ไฟฟ้า น้ำประปาเพิ่งเข้ามาไม่กี่ปี
สมัยก่อนการเดินทางจะอาศัยเรือเป็นหลัก เพิ่งจะมามีถนนในช่วง 10 ปีมานี้ เมื่อมีถนนเข้ามา ทำให้คนภายนอกเข้ามาบ้านต้นลำแพนได้ง่ายขึ้น แต่คนยังไม่ค่อยรู้จักและยังไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากนัก
อาจจะเป็นเพราะภายในหมู่บ้านไม่มีโรงแรม ไม่มีร้านอาหาร ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนเมืองท่องเที่ยวทั่วไป แม้แต่ร้านสะดวกซื้อยังไม่มีเลยสักร้านเดียว
จึงเหมาะสำหรับคนที่รักการท่องเที่ยวที่แอบอิงกับธรรมชาติจริงๆ หากจะเข้าไปพักอาศัยต้องใช้วิธีติดต่อกับผู้นำหมู่บ้าน เพื่อให้จัดหาที่พักและอาหารตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปสัมผัสธรรมชาติจริงๆ หรือต้องเตรียมเสบียงกันไปเอง
ใครรักธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจรับรองว่าไม่ผิดหวัง หมู่บ้านต้นลำแพนมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสหลากหลาย โดยเฉพาะการจับปูแสมปูที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลน
อาชีพการดักปูแสมของคนที่นี่จะดักด้วยกระป๋องนม คนต้นคิดกระป๋องเงินล้านใบนี้ คือ ลุงสิน ดีไสว ปราชญ์ชาวบ้านผู้ประดิษฐ์กระป๋องดักปูแสมแห่งบ้านต้นลำแพน
ลุงสิน เล่าว่า วิธีการทำกระป๋องดักปูแสมจะใช้กระป๋องนมเปิดฝาด้านหน้าออกแล้วนำมาทุบให้เรียบ จากนั้นเอาไม้เข้าไปวางบนฝาเอาลวดยึดไว้ ใช้ลวดดามฝากับกระป๋องติดกัน และใช้ลวดเป็นตัวเกี่ยวเหยื่อทำเป็นตะขอเบ็ด
วิธีการจับปูแสมก็แสนง่าย ชาวบ้านจะนำกระป๋องไปวางที่รูปูตามป่าชายเลน ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่บ้าน ใช้อาหารล่อให้ปูเข้ามาในกระป๋องนม แต่ละวันชาวบ้านจะจับปูได้เฉลี่ย 5 กก./วัน/คน จับได้ทั้งปีไม่มีหยุดพัก
สิ่งสำคัญเขามีการปลูกฝังกันตั้งแต่รุ่นลูกว่า จะดักเฉพาะปูตัวใหญ่ ใครได้ตัวเล็กจะปล่อยกลับคืนสู่ป่าชายเลน เพื่ออนุรักษ์ปูแสมให้อยู่คู่กับบ้านต้นลำแพนตลอดไป
เขามีกฎของวิถีชุมชน คือ ถ้าใครดักปูตัวเล็กไปจำหน่ายให้พ่อค้า ถ้ารู้ว่าเป็นปูของใครจะมีบทลงโทษจะไม่ได้รับความช่วยเหลือต่างๆ จากคนในชุมชน
คุณสมบัติของปูแสมดองบ้านต้นลำแพนจะไม่เหมือนปูที่อื่น คือ จะมีมันปูสีเหลือง หลังจากดอง 1 คืนแล้ว ให้เทน้ำดองออกแล้วนำปูมาใส่กล่อง นำไปแช่ในตู้เย็นจะเก็บไว้ได้นาน
นักท่องเที่ยวที่มาสัมผัสบ้านต้นลำแพน นอกจากมาร่วมกิจกรรมจับปูแสมอาชีพเก่าแก่คู่หมู่บ้านแห่งนี้มานับ 100 ปีแล้ว ยังได้มาดูการเผาถ่านหลุมไม้ตะบูนบ้านต้นลำแพน โดยเอาไม้ตะบูนไม้ที่หาได้ในชุมชนมาเผา
คุณสมบัติของไม้ตะบูน คือ ทนให้ความร้อนดี รองจากไม้โกงกาง ซึ่งถือเป็นสินค้าขายดีอีกอย่างหนึ่ง เผากันไม่ทัน บางคนอยากได้ต้องสั่งจอง
นอกจากนั้น ยังมีสินค้าที่นำใบจากและใบมะพร้าวมาจักสาน โดยฝีมือชาวบ้านเขาทำมาจนเป็นอาชีพสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตแล้ว
ยังไม่หมด นักท่องเที่ยวที่มาจะได้สัมผัสอาชีพเลี้ยงกุ้ง ปลา และปูทะเล ซึ่งความพิเศษของปูที่นี่ คือ ปูจะตัวใหญ่เนื่องจากเลี้ยงแบบธรรมชาติ
ผู้ใหญ่รัก ทองสุก ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ต.ยี่สาร บอกว่า บ้านแห่งนี้อยู่กันอย่างพอเพียง พึ่งตนเองได้ด้วยธรรมชาติที่ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ มีเพียงกระป๋องปูแสมก็สามารถจับปูแสมเลี้ยงชีพได้
สำหรับการดูแลความเป็นระเบียบของชุมชนจะมีมาตรการทางสังคม เช่น ใครทำผิดกฎระเบียบที่คนในชุมชนร่างขึ้นมาจะมีบทลงโทษที่ชัดเจน จะเป็นที่รู้กันเพราะเป็นกฎเหล็กของหมู่บ้าน
สำหรับจุดเด่นของหมู่บ้านต้นลำแพน ผู้ใหญ่รัก บอกว่า ชุมชนมีความพร้อม คนในชุมชนให้ความร่วมมือและรักใคร่สามัคคีกันดี และพร้อมจะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว
สมศักดิ์ แสงสุริยา ประธานกรรมการชุมชนหมู่บ้านต้นลำแพน ฝากบอกถึงส่วนราชการ ว่า บ้านต้นลำแพนขาดการพัฒนามานาน แต่ก็ได้เป็น 1 ใน 8 ของหมู่บ้านโอท็อป เพื่อการท่องเที่ยวระดับประเทศ และขอร้องทางราชการให้ช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ อย่าเข้ามาเปลี่ยนแปลงหมู่บ้าน สิ่งไหนควรอนุรักษ์ชาวบ้านยินดีให้ความร่วมมือ
อย่างไรก็ตาม ชุมชนแห่งนี้ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ ใครอยากไปสัมผัส ชาวบ้านต้นลำแพนเขาฝากมาบอก ยินดีต้อนรับครับ!!!