posttoday

มติสปช.212เสียงจี้ครม.ตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ

22 ธันวาคม 2557

สปช.มีมติ 212 เสียงจี้ครม.เร่งตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เสนอขยายอายุเกษียณเพิ่มเติม แก้ปัญหาขาดแรงงาน

สปช.มีมติ 212 เสียงจี้ครม.เร่งตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เสนอขยายอายุเกษียณเพิ่มเติม แก้ปัญหาขาดแรงงาน

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ประชุมสภาปฏิรูปแแห่งชาติ (สปช.) มีมติเอฉันท์ 212 เสียงเห็นชอบกับรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง หลักประกันความมั่นคงด้านรายได้เพื่อการยังชีพของผู้สูงอายุ:การเร่งรัดการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติพ.ศ.2554 ของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สปช. และส่งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ในรายงานข้อเสนอของคณะกมธ.มีสาระสำคัญ คือ ในช่วงที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่งผลให้กองทุนไม่สามารถรับสมาชิกได้ ซึ่งเป็นการเสียโอกาสของประชาชนในการสร้างหลักประกันด้วยตัวเอง คณะกมธ.เห็นว่าการไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ก่อนให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน อย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่

1.การเลื่อนเวลาการเปิดรับสมาชิกเข้ากองทุน ส่งผลให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับแรงงานนอกระบบที่มีความตั้งใจสร้างหลักประกันยามชราภาพ

2.มาตรา40ในพระราชบัญญัติประกันสังคมมีสถานะเป็นเพียงพระราชกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาอัตราเงินสมทบเป็นรายปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการออกเป็นพระราชบัญญัติที่รัฐต้องสมทบเงินที่แน่นอนกว่า ทำให้เห็นความแตกต่างกันในเรื่องของความมั่นคงในหลักประกันของประชาชนที่แน่นอนกว่า

3.สิทธิของสมาชิกตามกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ จะมุ่งเน้นไปที่การมีระบบบำนาญที่จ่ายเป็นรายเดือนแก่ผู้สูงอายุ ในขณะที่สิทธิของสมาชิกตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา40ของกฎหมายประกันสังคมจะเปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกได้ทั้งบำเหน็จชราภาพและบำนาญชราภาพ ซึ่งเป็นสิ่งควรระวังในเรื่องการเปิดให้สมาชิดสามารถรับเงินบำเหน็จได้ เพราะอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติที่ต้องการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับระชาชนผู้สูงอายุ ไปจนถึงสุดท้ายของชีวิต

4.เนื่องจากระบบสวัสดิการและระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุมีความแตกต่างกัน จึงควรแยกจากกัน กล่าวคือ การจัดสวัสดิการเป็นภาระผูกพันระยะสั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการดำรงชีวิตขณะอยู่ในวัยทำงาน ในขณะที่การออมเพื่อการเกษียณเป็นภาระผูกพันระยะยาวและกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารการเงินการคลัง และรักษาวินัยทางการคลังของประเทศ

ดังนั้น คณะกมธ.เห็นว่าการดำเนินการเร่งรัดการดำเนินงานตามกฎหมายการออมแห่งชาติ จะเป็นการขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน จึงเห็นสมควรแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีให้เร่งปฏิบัติตามกฎหมายการออมแห่งชาติทันที และเสนอเรื่องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นระยะต่อไป

ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสปช.ด้านสังคม อภิปรายว่า ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 65 ล้านคน โดยตั้งแต่ปี 2545  มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 9.4% ต่อมาปีอีก 5 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 10.7% ดังนั้น อีก25ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุถึง20ล้านคน แต่คนในวัยแรงงานกำลดลงเหลือ35% ประมาณ 22-23 ล้านคน เท่ากับว่าแรงงาน 3 คนต้องแบกผู้สูงอายุ 2.7 คน ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าครอบครัวจะมีลูกน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีมากขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงจำเป็นที่รัฐอาจต้องขยายเวลาเกษียณออกไป การขยายเวลาเกษียณในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าทำเพื่อจำนวนผู้สูงอายุน้อยลง แต่เมื่อผู้สูงอายุมีสุขภาพดีขึ้นก็ควรได้โอกาสทำงานต่อไป โดยอาจขยายไปถึง 65 ปี หรือ 70 ปีในบางอาชีพ เช่น แพทย์ ผู้พิพากษา หรือคนที่ใช้ความคิดแต่ไม่ได้ใช้แรงงาน ซึ่งรัฐควรส่งเสริมให้เอกชนดำเนินการตามนี้ด้วยโดยให้มีแรงงจูงใจ

"ที่สำคัญต้องส่งเสริมวินัยการออมอย่างแท้จริง กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติเป็นหนทางที่ดีที่สุด ไม่ใช่มาตรา40ของกฎหมายประกันสังคม และส่งเสริมให้ครอบครัวที่มีความพร้อม เร่งมีลูกทันทีเมื่อแต่งงานแล้ว โดยรัฐควรใช้มาตรการทางภาษีมาสร้างแรงจูงใจสำหรับครอบครัวที่มีบุตร เช่น การเพิ่มส่วนลดหย่อนภาษี เป็นต้น" นายเจิมศักดิ์ กล่าว

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสปช.ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการให้ขยายอายุการทำงานจาก 60 ปีออกไป หลายประเทศอย่างในสหรัฐอเมริกาถือว่าการเขียนข้อกำหนดเรื่องอายุการทำงานไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิและความเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถ้าคนใดถึงวัยเกษียณแล้วแต่ถ้ายังทำงานได้ก็ควรเปิดช่องให้ทำงานต่อไปได้ เช่นกันกับการเกษียณอายุการทำงานก่อนวัยเกษียณก็ควรให้มีการดำเนินการได้

"เงินออม1บาทในยามทำงานจะไม่ใช่เงิน 1บาทในยามเกษียณแต่จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้เงินงอกเงยขึ้นเป็น 10-20 บาทถ้าเป็นไปได้ ดังนั้น การออมตั้งแต่เนิ่นๆจึงเป็นเรื่องสำคัญ และควรดำเนินการจัดตั้งระบบให้ดีเพื่อให้การออมเป็นไปอย่างทั่วถึง เพราะประชาชนคนไทยเพียง 1ใน3 ของวัยแรงงานเท่านั้นที่อยู่ในระบบแรงงาน แต่ที่เหลืออีก 2ใน3 เป็นแรงงานนอกระบบ ขณะเดียวกันต้องมีระบบควบคุมการลงทุนให้มีความถูกต้องเหมาะสมด้วย มิเช่นนั้นจะเหมือนกับในประเทศที่เกิดความเสียหาย" นายพิสิฐ กล่าว 

นายสมชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกสปช.ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ประเทศไทยควรมีระบบตาข่ายแห่งความปลอดภัยทางสังคม ซึ่งรัฐต้องจัดให้มีระบบนี้เพื่อให้ความปลอดภัยในการดำรงชีวิตต่อประชาชนของรัฐ ระบบนี้ถ้าจะทำให้ดีจะต้องมีความเพียงพอ มีความครอบคลุม และมีความยั่งยืน กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการมานานแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงมีคำถามว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร