ตลาดไมซ์ภูมิภาคเดือด ไทยไม่หวั่นมาเลเซียเร่งโต
อุตสาหกรรมการจัดประชุมสัมมนาและนิทรรศการ (ไมซ์) ถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่แต่ละประเทศในอาเซียนต่างประกาศตนจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ภาครัฐของหลายประเทศต่างเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการประชุมสัมมนา เช่น สร้างศูนย์การประชุมเพิ่ม พัฒนาเส้นทางคมนาคมให้สะดวกขึ้น เพื่อดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาประเทศของตัวเองมากขึ้น
อุตสาหกรรมการจัดประชุมสัมมนาและนิทรรศการ (ไมซ์) ถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่แต่ละประเทศในอาเซียนต่างประกาศตนจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ภาครัฐของหลายประเทศต่างเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการประชุมสัมมนา เช่น สร้างศูนย์การประชุมเพิ่ม พัฒนาเส้นทางคมนาคมให้สะดวกขึ้น เพื่อดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาประเทศของตัวเองมากขึ้น
จากรายงานสถิติล่าสุดของ International Congress and Convention Association (ICCA) ในปี 2556 พบว่า สิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีการจัดประชุมระดับนานาชาติมากที่สุดในอาเซียน โดยอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก ตลอดปีดังกล่าวจัดสัมมนาไปทั้งสิ้น 175 ครั้ง ตามด้วยไทยเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค และอันดับ 29 ของโลก จัดประชุมไป 136 ครั้ง
ทั้งนี้ มาเลเซียและอินโดนีเซียก็มีอันดับห่างจากไทยไม่มากนัก โดยมาเลเซียอยู่อันดับที่ 35 และอินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 37 จัดการประชุมไป 117 และ 106 ครั้งตามลำดับ
ในแง่เมืองสำคัญที่มีการจัดประชุมสัมมนา สิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นำของภูมิภาคด้วยการจัดประชุม 175 ครั้ง ขณะที่กรุงเทพฯ มีการจัดประชุม 93 ครั้ง กัวลาลัมเปอร์ 68 ครั้ง
นิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) มองว่า ในแง่การจัดนิทรรศการไทยยังถือเป็นผู้นำของภูมิภาค เนื่องจากมีพื้นที่เช่าจัดนิทรรศการรวมกันกว่า 4.6 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน ขณะเดียวกันยังมีศูนย์การประชุมขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น อิมแพค อารีน่า มีพื้นที่กว่า 1.37 แสน ตร.ม.
“แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าสถานการณ์อาจเปลี่ยนไปบ้าง เนื่องจากมาเลเซียกำลังอยู่ระหว่างการสร้างศูนย์จัดการประชุมและนิทรรศการขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง ทำให้ในอนาคตมาเลเซียอาจมีศูนย์การประชุมและนิทรรศการขนาดใหญ่กว่าไทย”
อย่างไรก็ดี การมีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่เพิ่มอาจยังไม่ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ของมาเลเซียเติบโตแซงไทยในทันที เนื่องจากการที่ชาวต่างชาติจะตัดสินใจใช้ประเทศใดเป็นสถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ เช่น ประสบการณ์ที่ได้รับจากการจัดประชุม เบื้องต้น เชื่อว่าไทยยังมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ของภูมิภาค เนื่องจากต่างชาติยังคงตระหนักว่าไทยมีจิตใจด้านบริการ มีความเป็นไทยอยู่ในสายเลือด
ขณะเดียวกันหากเทียบกับสิงคโปร์ไทยยังมีข้อได้เปรียบเรื่องจุดหมายปลายทางหลากหลาย ผู้สนใจจัดประชุมและนิทรรศการสามารถมาจัดในกรุงเทพฯหรือจัดในหัวเมืองสำคัญตามภาคต่างๆ ของไทยก็ได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ไทยยังต้องพัฒนาอีกหลายด้าน เช่น ทักษะด้านภาษา เนื่องจากเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
ด้าน นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สสปน. บอกว่า หลังเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายคนไปมาระหว่างกันสะดวกขึ้น การเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโต อย่างไรก็ดีความเคลื่อนไหวดังกล่าวน่าจะเป็นไปในทางช่วยเหลือกันมากกว่าการแข่งขันกันเอง
อย่างไรก็ดี สสปน.จะเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านไมซ์ให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ พัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ ตลอดจนพัฒนาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยให้มีความรู้และแนวคิดที่ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้ไทยต่อไป
สำหรับปี 2558 เชื่อว่าอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยจะสดใส เนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศมั่นคงกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าจะเติบโตขึ้นมาที่ 8.8 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 10%
ทั้งนี้ ในปี 2557 ไทยมีนักท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมไมซ์ 9.19 แสนคน สร้างรายได้ 8.08 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการประชุมบริษัทข้ามชาติ 2.51 หมื่นล้านบาท การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล 1.52 หมื่นล้านบาท การประชุมนานาชาติ 2.67 หมื่นล้านบาท และการจัดนิทรรศการ 1.36 หมื่นล้านบาท