posttoday

ฟาร์มปลาไหลส่งออกธุรกิจดาวเด่นแดนอิเหนา

24 กุมภาพันธ์ 2558

เมือง เปลาบูหัน ราตู เป็นเพียงเมืองประมงเล็กๆ บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

โดย...ก้องภพ เทอดสุวรรณ

เมือง เปลาบูหัน ราตู เป็นเพียงเมืองประมงเล็กๆ บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย แต่อีกไม่นานเมืองนี้จะกลายเป็นฟาร์มแหล่งเพาะพันธุ์ปลาไหลของอินโดนีเซียเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น

ฮิซายาซุ อิชิทานิ ผู้ประกอบการฟาร์มปลาไหลชาวญี่ปุ่น วัย 72 ปี และอาศัยอยู่ในอินโดนีเซียมากว่า 2 ทศวรรษ เป็นผู้บุกเบิกฟาร์ม
ปลาไหลคนแรกของแดนอิเหนา ด้วยสภาพน้ำที่อบอุ่นอันหมายถึงแหล่งอาหารที่สมบูรณ์สำหรับปลาไหล ต้องบอกว่า นี่คือโอกาสที่จะเติมเต็มตลาดในบ้านเกิดแดนอาทิตย์อุทัย ​

ปลาไหลญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อูนางิ” ที่อาศัยอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัยกำลังมีจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจ จนได้รับการขึ้นทะเบียนนานาชาติว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธ์ุ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าชาวญี่ปุ่นชอบรับประทานปลาไหลโดยการบริโภคปลาไหลของชาวญี่ปุ่นคิดเป็น 70% ของตลาดปลาไหลทั้งโลก ชาวแดนอาทิตย์อุทัยมีประเพณีบริโภคปลาไหลมาตั้งแต่โบราณ ​และดูเหมือนจะไม่มีแนวโน้มว่าจะลด การรับประทานปลาไหลแต่อย่างใด

ฟาร์มปลาไหลส่งออกธุรกิจดาวเด่นแดนอิเหนา

 

อิชิทานิเริ่มตัดสินใจทำฟาร์มปลาไหลครั้งแรกในปี 2009 และหลังจากเริ่มต้นธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฟาร์มของอิชิทานิก็สามารถส่งออกปลาไหลได้ถึงปีละ 1 ล้านตัว ในปี 2013 พร้อมกับขยายการจ้างพนักงานเป็น 50 คน มิหนำซ้ำยังมีแผนจะขยายฟาร์มแห่งที่ 2 ที่จังหวัดบันเต็นบนแหลมทางตะวันตกของเกาะชวา

อย่างไรก็ตาม กว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างที่เห็นในปัจจุบันนับเป็นเรื่องยากที่ต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์หลายปี ในปีแรกของการทำธุรกิจปลาไหลที่เลี้ยงไว้ตายทุกตัว

อิชิทานิต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดและสั่งสมประสบการณ์ เนื่องจากไม่เคยมีใครเลี้ยงปลาไหลในอินโดนีเซียมาก่อน 

“ปลาไหลเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวมาก จำเป็นต้องควบคุมทั้งอุณหภูมิน้ำและอาหาร” อิชิทานิ กล่าว

ปลาไหลนับเป็นสัตว์ที่มนุษย์มีความเข้าใจน้อยมาก จากข้อมูลสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) พบว่ามีปลาไหลถึง 10 ชนิดจากทั้งหมด 16 ชนิด ที่มนุษย์ยังไม่รู้จักแน่ชัด และไม่ทราบจำนวนประชากรที่แท้จริง

ฟาร์มปลาไหลส่งออกธุรกิจดาวเด่นแดนอิเหนา

 

​สำหรับอินโดนีเซียนับเป็นประเทศแห่งหมู่เกาะที่ร้อยรัดเกาะกว่า 1.3 หมื่นแห่งไว้ด้วยกัน ครอบคลุมพื้นที่จากตะวันออกไปยังตะวันตกกว่า 5,000 กม. ซึ่งส่งผลให้ประเทศนี้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาไหลหลากหลายชนิด ทั้งปลาไหลหางสั้นอินโดนีเซีย ​ปลาไหลลายหินอ่อน

“ปลาไหลลายหินอ่อนสามารถพบได้ทั่วไปทางตอนเหนือของอินโดนีเซีย แต่รสชาติไม่เหมือนปลาไหลทั่วไป รสมันเหมือนปลาธรรมดามากกว่า” อิชิทานิ กล่าว

ปลาไหลลายหินอ่อนอาจมีรสชาติไม่ถูกปากชาวญี่ปุ่น จึงไม่สามารถที่จะทดแทนปลาไหลญี่ปุ่นได้ อย่างไรก็ตามตลาดเมืองลุงแซมยังคงเปิดกว้างสำหรับปลาไหลชนิดนี้ ในฐานะอาหารทะเล

สำหรับปลาไหลหางสั้นนับเป็นสิ่งที่อิชิทานิกำลังมองหา เพราะมีรสชาติที่ใกล้เคียงกับปลาไหลพันธุ์ท้องถิ่นของญี่ปุ่น ทำให้สามารถทดแทนปลาไหลญี่ปุ่นที่กำลังขาดแคลนได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจฟาร์มปลาไหลยังคงประสบปัญหาในการโน้มน้าวใจให้คนญี่ปุ่นลองชิมปลาไหลชนิดนี้ ทำให้ยอดการส่งออกไปยังรัสเซียและสหรัฐมีสูงกว่าในญี่ปุ่น

“ด้วยความต้องการที่ทะยานสูงขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มประชากรปลาไหลที่กำลังลดลง เราเชื่อว่าฟาร์มปลาไหลของเราจะประสบความสำเร็จในฐานะผู้จัดหาปลาไหลให้กับทั่วโลก” เบนิ จิตังกัง หัวหน้าผู้ช่วยของฟาร์มปลาไหลแห่งแรกในอินโดนีเซีย กล่าว

ด้านรัฐบาลอินโดนีเซียสนับสนุนธุรกิจฟาร์มปลาไหลนี้อย่างดี โดย โทนี รูชิแมต ผู้อำนวยการกองทรัพยากรประมงของกระทรวงการเดินทะเลและประมง กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามอย่างยิ่งที่จะทำความเข้าใจประชากรปลาไหลในประเทศ และพัฒนาการจัดการทรัพยากรที่มีค่าเหล่านี้

ฟาร์มปลาไหลส่งออกธุรกิจดาวเด่นแดนอิเหนา