กระตุ้นแทบตาย เงินหายไปไหน
สถานการณ์ขณะนี้ต้องพูดได้เต็มปากว่า ภาวะฝืดเคืองได้กระจายตัวออกไปในทุกอณูพื้นที่ของประเทศ
โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์
สถานการณ์ขณะนี้ต้องพูดได้เต็มปากว่า ภาวะฝืดเคืองได้กระจายตัวออกไปในทุกอณูพื้นที่ของประเทศ
แม้จะไม่ใช่ภาวะเงินฝืดในทางเศรษฐศาสตร์ แต่ปวงประชาราษฎร์ต่างรับรู้ว่า เงินฝืดสภาพคล่องไม่มี ผู้ประกอบการต่างตกอยู่ในภาวะขายของไม่ออก สต๊อกบวม เช็คเด้งเกิดขึ้นระนาว และรอบนี้แทนที่จะเด้งในระดับหลักล้านบาท กลับเด้งในระดับแค่หลักแสนบาท ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความฝืดเคือง
ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายว่า แม้ขณะนี้จะไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อยังไม่ติดลบติดต่อกันยาว 6 เดือนตามทฤษฎี แต่ในแง่ความรู้สึกของประชาชนแล้ว ขณะนี้กลับรู้สึกว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ค่าครองชีพกับรายได้ไม่สอดคล้องกัน
รายได้พิเศษหรือเงินล่วงเวลาหาได้ยาก พ่อค้าแม่ค้ากำไรขายสินค้าลดลง เพราะแข่งขันกันลดราคาสินค้า เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่มีอัตราเติบโตไม่ดี
สถานการณ์เช่นนี้ หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขจะไม่เป็นผลดีต่อกำลังใจในการบริโภคในประเทศ จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ คือ เร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยเร็ว โดยการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการในภูมิภาคเร่งประมูลจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ โดยเร็ว ภายในไตรมาส 2 อย่างน้อย ในระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป หากได้ในระดับ 5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นระดับที่ดี และให้เร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ มีการประมูล จัดซื้อจัดจ้างกระจายไปทั่วประเทศ หากทำได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปีนี้เศรษฐกิจจึงจะโงหัว
ปัญหาคือ แล้วเงินงบประมาณที่รัฐบาลพยายามอัดฉีดลงไปก่อนหน้านี้หายไปไหน
1.งบลงทุนของกรมทางหลวง 5 หมื่นล้านบาท ได้ทยอยเซ็นสัญญาและเบิกจ่ายไปแล้ว 15%
2.กรมทางหลวงชนบท 4 หมื่นล้านบาท ที่ได้เซ็นสัญญาไปเกือบ 90% เบิกจ่ายไป 20%
3.เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ที่มีการโอนเงินให้กับชาวนาแล้ว 100% ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มเงินให้ชาวนาได้ราคาข้าวเพิ่มประมาณ 1,500 บาท/ตัน หรือทำให้ได้รับเงินเฉลี่ย 9,500 บาท/ตัน
4.ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่มีการโอนเงินไปแล้ว 7 แสนราย ซึ่งทำให้ชาวสวนยางได้เงินเพิ่มขึ้นประมาณกิโลกรัมละ 5 บาท
5.งบประมาณในโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนในพื้นที่แล้งซ้ำซาก โดยจัดสรรงบประมาณให้ตำบลละ 1 ล้านบาท จานวน 3,052 ตำบล ใน 58 จังหวัด วงเงินรวมค่าบริหารจัดการทั้งสิ้น 3,174 ล้านบาท
6.งบประมาณลงทุนของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไปราว 3.5-3.6 แสนล้านบาท
หากพิจารณาจากกลไกการเงินในขณะนี้พบว่า เม็ดเงินที่รัฐบาลทุ่มลงไปถูกนำไปเก็บไว้ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่เป็นปลายทางของเงิน ทั้งในส่วนของผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ จนปัจจุบันยอดสภาพคล่องส่วนเกินในแต่ละวันที่ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยกินดอกเบี้ยรายวันนั้นทะยานสูงจากระดับ 8 แสนล้านบาท/วัน เป็นเกือบ 1 ล้านล้านบาท/วัน เข้าไปแล้ว สะท้อนว่าเงินในระบบถูกดูดมาไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประการต่อมา ต้องยอมรับว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้นกัดกินจนเงินในกระเป๋าของชาวบ้านหายไปทุกวัน ในขณะที่มีรายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายกลับพอกพูนทวี
ข้อมูลของสำนักงานสถิติล่าสุด ระบุชัดว่า ในปี 2557 จำนวนครัวเรือนในประเทศไทยที่มีรายได้ไม่เพียงพอรายจ่ายมีสูงถึง 8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือน แต่ละครัวเรือนมีหนี้นอกระบบสูง 6 แสน-1.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านบาท นี่จึงเป็นคำตอบว่า ได้มาเท่าไหร่ก็นำไปจ่ายหนี้
ขณะที่เงินที่รัฐบาลเทลงไปสร้างงานตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่า เม็ดเงินดังกล่าวยังคงไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นกำลังซื้อในภูมิภาคให้ฟื้นตัว
เมื่อประเมินเม็ดเงินต่อรายที่เกษตรกรได้รับ โดยอิงจากจำนวนเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ จะพบว่าเม็ดเงินที่ได้รับเฉลี่ยต่อรายสูงที่สุด คือ ภาคอีสานแค่ 190 บาท ภาคกลาง 128 บาท ภาคเหนือได้รับรายละ 84 บาท ภาคใต้จะได้รับเงินช่วยเหลือต่อรายน้อยที่สุดเพียง 15 บาทเท่านั้น เนื่องจากมีพื้นที่ประสบภัยแล้งน้อยกว่าภาคอื่นๆ
และเมื่อพิจารณาต่อไปถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพื่อประเมินว่าเม็ดเงินทั้งหมด 3,052 ล้านบาท (ไม่นับค่าบริหารจัดการโครงการ) จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจริงในภาคส่วนใดนั้น จะพบว่า ในภาพรวมเกษตรกรจัดสรรรายได้ที่มีนาไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 50% ของรายได้ที่ได้รับ นำไปซื้อปัจจัยการผลิตการเกษตร 35% ส่วนที่เหลืออีก 18% จะนำไปใช้จ่ายในค่าเล่าเรียนบุตร ชำระหนี้
จะเห็นได้ว่า มีเงินเกือบ 2,000 ล้านบาท จะถูกนำมาจับจ่ายใช้สอยเพื่ออุปโภคบริโภค สะพัดหมุนเวียนในเศรษฐกิจชุมชน ส่วนเงินอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท เกษตรกรจะใช้จ่ายเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตทำการเกษตรและชำระหนี้
นี่คือคำตอบว่า...เงินหายไปไหน