ภาคเอกชนผลักดัน Shopping Tourism ช่วยเศรษฐกิจไทย ชูท่องเที่ยว ช่วยเอสเอ็มอี
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอรัฐให้เปิด “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” เสนอให้ ภาครัฐผลักดัน Shopping Tourism หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้งอย่างจริงจัง หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอรัฐให้เปิด “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” เสนอให้ ภาครัฐผลักดัน Shopping Tourism หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้งอย่างจริงจัง หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
ดร. ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอให้ ภาครัฐผลักดัน Shopping Tourism หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้งอย่างจริงจัง เพื่อเป็นกลไก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเดินไปได้ในภาวะที่กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นขึ้นอย่างชัดเจน
หนึ่งในรูปธรรมของนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ก็คือ การเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี อากรโดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีอากรในเมืองให้มากขึ้น ร้านค้าปลอดอากรในเมืองหรือในท่าอากาศยาน นั้นถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของอุตสาหกรรมค้าปลีกที่มีศักยภาพและสามารถสร้างการเติบโตได้อีกมาก
จากรายงานการวิจัยของ Technavio’s “Global Duty-Free Retailing Market 2015-2019” คาดการณ์ว่า ธุรกิจค้าปลีกประเภทดิวตี้ฟรีทั่วโลกมีมูลค่าราว 3.6 ล้านล้านบาท ในขณะที่ GDP โลกเติบโตเพียง ร้อยละ 2.3 ส่วนแบ่งการตลาดของร้านค้าปลอดอากร ร้อยละ 43 อยู่ในเอเชีย-แปซิฟิค ซึ่งตลาดใหญ่ก็อยู่ที่ประเทศเกาหลีใต้ (ร้อยละ 13) จากการคาดการณ์ของ ศูนย์วิจัย Technavio ธุรกิจค้าปลีกดิวตี้ฟรีจะมีการเติบโตถึงร้อยละ 51 ภายในห้าปีข้างหน้า
ร้านค้าปลอดอากรในเมืองจะเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการซื้อ สินค้าและยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้มีการใช้จ่ายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆอาทิ โรงแรม ที่พัก สปา ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้าน จำหน่ายของที่ระลึก การคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นต้น
ดังนั้น การเพิ่มพื้นที่จำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมืองซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้เกิดจากการจ้างงานเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการผลิตและ การบริการ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนต่างๆ ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศให้มีความชัดเจนด้านการค้าเสรีของธุรกิจร้านค้าปลอดอากร สร้างรายได้ในเชิงภาษีอากรให้แก่ประเทศไทย ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้ง ยังเป็นประตูการขายให้กับผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ได้มีโอกาส ขายสินค้าท้องถิ่นและสินค้าแบรนด์ไทยให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
จุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) ถือเป็นช่องทางหนึ่งในกระบวนการส่งมอบสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง ตามประกาศกรมศุลกากรฉบับที่ 20/2549 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากรลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งกรมศุลกากรได้กำหนดวิธีการจัดส่งสินค้าของร้านค้าปลอดอากรในเมืองกรณีส่งมอบของ ณ จุดส่งมอบที่กำหนดให้อยู่ภายในบริเวณสนามบิน
ดังนั้น ในการบริหารจัดการร้านค้าปลอดอากรในเมืองโดยสากลปฎิบัติ เขาจะกำหนดจุดส่งมอบสินค้าที่เป็นกลางและมีเพียงจุดเดียวซึ่งเรียกกันว่า “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” “Public Pick-up Counter” โดยกำหนดให้นิติบุคคลที่เป็นกลางไม่ได้เกี่ยวข้องกับร้านค้าปลอดอากรในสนามบินหรือในเมืองร้านใดร้านหนึ่ง เป็นผู้บริหารจัดการ หากไม่ดำเนินการเช่นนั้น รัฐหรือผู้บริหารสนามบินนาชาติแต่ละแห่ง จะต้องจัดหาพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้เพียงพอ ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับการจัดหาพื้นที่ในสนามบินนานาชาติ อีกทั้งยากแก่การกำกับดูแล
ตามหลักการข้างต้นสำหรับประเทศไทย ทอท. ควรผู้ที่รับผิดชอบดูแลจัดสรรพื้นที่ให้เป็นที่ตั้งจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะภายในสนามบินนานาชาติทุกแห่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยให้กรมศุลกากรเห็นชอบตามกฏหมายศุลกากรและ ทอท. ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารพื้นที่ หรืออาจมอบหมายให้นิติบุคคลที่เป็นกลาง ทำหน้าที่บริหารแทน ไม่ควรมอบหมายให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรรายหนึ่งรายใดหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ระหว่างกันมาเป็นผู้บริหาร
เนื่องจากสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่ขายให้กับลูกค้าไปแล้วจะถูกใส่ไว้ในถุงใส ตามข้อกำหนดของกรมศุลกากร และนำไปฝากไว้ให้ลูกค้าที่จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ อันเป็นเหตุให้ผู้บริหารพื้นที่ได้ล่วงรู้ข้อมูลทางธุรกิจของคู่แข่งทางการค้าทุกรายที่นำสินค้าไปฝากไว้ที่จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะนั้น เช่น ร้านใดขายสินค้าอะไร สินค้าประเภทใดขายดี ราคาเท่าไหร่ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลทางการตลาด หากคู่แข่งขันทางการค้าได้ล่วงรู้ข้อมูลของคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกัน อาจจะทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบในทางธุรกิจเกิดขึ้นได้
Shopping Tourism หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง จากหลายประเทศที่นำไปใช้ทั้งในยุโรป และเอเชีย (ฮ่องกง สิงคโปร์) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เว้นแต่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ดังเช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนและ ญี่ปุ่น ต่างก็ใช้นโยบายดังกล่าว
การที่จะผลักดันนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง หรือ Shopping Tourism ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในรูปธรรมของนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ก็คือ การเปิดเสรีร้านค้าปลอดอากร โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้มากขึ้น จุดส่งมอบสินค้า(Pick-up Counter) ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติและที่หลายท่านเห็นว่า เป็นอุปสรรค ก็จะเป็นเรื่องง่ายมาก หากภาครัฐมีนโยบายกำหนด จุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) ให้เป็นลักษณะสากล คือให้เป็นจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Public Pick-up Counter) มอบหมายให้ ทอท. หรือนิติบุคคลเป็นที่กลางทำหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจในการบริหาร โดยไม่ว่าจะเป็น ทอท. หรือ กรมศุลกากรต่างจะต้องมีระบบเชื่อมต่อข้อมูลการส่งมอบสินค้าระหว่างกันเพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ขอเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมศุลกากร และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลประโยชน์มหาศาลที่ประเทศไทยจะได้รับ และช่วยกันกำหนดให้มีพื้นที่สำหรับตั้งเป็น จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Public pick up counter) ให้เกิดขึ้นในทุกสนามบินนานาชาติที่อยู่ในกำกับดูแลของ ทอท. เพื่อทำให้กฎหมายศุลกากรมีผลในทางปฎิบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้เข้าไปใช้บริการอย่างเท่าเทียมกัน อันจะมีผลนำไปสู่การเปิดเสรีร้านค้าปลอดอากรในเมืองอย่างแท้จริง
ส่วนทางด้าน “สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย” ก็ได้ทำหนังสือชี้แจงเจตนารมณ์ต่อกรมศุลกากรและ ทอท. ให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ในการเคลื่อนไหวนี้เพื่อเรียกร้องความถูกต้องในการเปิด “จุดส่งมอบสินค้า (pick up counter) สาธารณะ” ณ สนามบินนานาชาติ ที่อยู่ในกำกับดูแลของ ทอท. อันจะนำไปสู่การเปิดเสรีอย่างแท้จริงของธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองนั้น
สมาคมฯ ขอชี้แจงว่า การเรียกร้องดังกล่าว ไม่ได้ถือเป็นการละเมิดสัญญาสัมปทานหรือ ขอแก้ไขหรือขอยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ผู้รับอนุญาตปัจจุบันได้กระทำกับทอท.แต่อย่างใด ผู้ได้รับอนุญาตเดิมเคยได้รับสิทธิใดๆ ยังคงได้รับสิทธิในสัญญาสัมปทานนั้นเช่นเดิมทุกประการ
หากแต่การเรียกร้องให้เปิดจุดส่งมอบสินค้าดังกล่าว ถือเป็นสิทธิอันพึงมีของผู้ประกอบการ ที่ประสงค์จะขอจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรในเมืองและมีคุณสมบัติครบถ้วน (ตามข้อ 2 ของประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากร ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549) เพราะจุดส่งมอบสินค้าดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ไปรับสินค้าที่ซื้อไว้จากร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกแห่ง ก่อนเดินทางออกนอกราชอาณาจักร อีกทั้งยังถือเป็นหนึ่งในทางปฏิบัติของกระบวนการขายและการส่งมอบสินค้าโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมศุลกากร (ตามข้อ 6.3.3 (2) ของประกาศกรมศุลกากรข้างต้น)
ที่ผ่านมากรมศุลกากรได้เห็นชอบให้มีจุดส่งมอบสินค้าสำหรับร้านค้าปลอดอากรในเมืองไว้เฉพาะในพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือในพื้นที่ของร้านค้าปลอดอากรในสนามบินนานาชาติบางแห่งที่มีสัมปทาน อันมีผลทำให้ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมือง ไม่สามารถใช้พื้นที่จุดส่งมอบสินค้าที่กรมศุลกากรเห็นชอบไปแล้วได้โดยเสรี เนื่องจาก ทอท. แจ้งว่า สนามบินไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับเป็นที่ตั้งของจุดส่งมอบสินค้าได้อีก ขณะที่กรมศุลกากรก็ยังคงมีความเห็นว่า จุดส่งมอบสินค้าควรอยู่ในสนามบินนานาชาติ
ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว สมาคมฯ จึงจำเป็นต้องออกมาเรียกร้องเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมศุลกากร และ ทอท.ได้เข้ามาร่วมกันแก้ไขความเห็นที่ขัดแย้งกันเองระหว่าง กรมศุลกากร และ ทอท. เพื่อทำให้กฎหมายศุลกากรมีผลในทางปฏิบัติ
สมาคมฯ ขอเรียนอีกครั้งว่า การเรียกร้องของสมาคมฯ ไม่ได้เป็นไปเพื่อมุ่งหวังให้หน่วยงานรัฐต้องยกเลิกสัญญาสัมปทานใดๆ ทั้งสิ้น และ ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อทำให้ผู้รับอนุญาตรายใดรายหนึ่งต้องเสียสิทธิในสัญญาสัมปทานเดิมแต่อย่างใด
สมาคมฯ เพียงต้องการให้ ทอท. จัดสรรพื้นที่ในสนามบินนานาชาติทุกแห่ง เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าโดยความเห็นชอบของกรมศุลกากร อันจะมีผลทำให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมศุลกากร และสามารถเปิดทำการได้จริง (ตามมาตรา 8 ทวิ (1) แห่งพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2543)) การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหรือร่วมกันปฏิบัติ จนเป็นเหตุให้กฎหมายศุลกากรไม่มีผลบังคับใช้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศอย่างแน่นอน
สมาคมฯ ต้องการให้จุดส่งมอบสินค้าตามกฎหมายดังกล่าวเป็นพื้นที่หรือจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ ที่บริหารโดย ทอท. หรือนิติบุคคลที่เป็นกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกร้านได้เข้าไปใช้บริการอย่างเท่าเทียมกัน โดยจุดส่งมอบสินค้าจะใช้พื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร หรือขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของสนามบินนานาชาติแต่ละแห่ง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะตั้งอยู่ส่วนไหนของสนามบินนานาชาติก็ได้ ตามที่ ทอท. จะเห็นสมควรและที่กรมศุลกากรให้ความเห็นชอบ
จะเห็นได้ว่า การใช้พื้นที่ในกรณีนี้เป็นพื้นที่เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ของสนามบินนานาชาติที่มีอยู่ในแต่ละแห่ง หากแต่ประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับนั้นมากมายมหาศาล เพราะนอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มพื้นที่ให้กับร้านค้าปลอดอากรในเมืองเพื่อกระตุ้น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ยังเป็นการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น อันมีผลต่อการสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก การคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ตลอดจนสินค้าเอสเอ็มอีที่จะผลิตให้กับร้านค้าปลอดอากรในเมืองและห้างร้านต่างๆ รวมไปถึงเกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมในที่สุด
การสนับสนุน ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวในประเทศ (Tourism Business) เป็นนโยบายที่หลายประเทศนำมาใช้ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้จริง และในปี 2559 นี้ ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณะรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ประกาศที่จะใช้นโยบายดังกล่าวอย่างเข้มข้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการดึงเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศจากการช้อปปิ้ง และนี่คือโอกาสที่รัฐบาลจะต้องรีบสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นเพียงแค่ทางผ่านของสินค้าปลอดอากรที่นักท่องเที่ยวซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น
ในนามของสมาคมฯ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การชี้แจงข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อท่านและผู้อ่านของท่าน อีกทั้ง ยินดีที่จะได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะจากท่าน หากท่านประสงค์จะได้ข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับกรณีนี้เพิ่มเติม โปรดแจ้งให้ดิฉันทราบ จักขอบคุณยิ่ง
เกี่ยวกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย หรือ Thai Retailers Association เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย โดยเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมค้าปลีก ทั่วประเทศกว่า 113 บริษัท
บทบาทของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่ผ่านมา จะเป็นแกนกลางสำคัญในการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการค้าปลีก โดยการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้นำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายที่สำคัญ อีกทั้งสมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานโดดเด่นคือ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล เพื่อขอยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ในประเทศไทยภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งกับแคมเปญ Amazing Thailand