posttoday

แผนพลังงานวืดเป้า

20 ธันวาคม 2559

สนพ.ยอมรับแผนจัดการพลังงานพลาดเป้า ยอดใช้ก๊าซธรรมชาติพุ่ง 64% เหตุโรงไฟฟ้าถ่านหินเลื่อนสัมปทาน ก๊าซฯ ล่าช้า

สนพ.ยอมรับแผนจัดการพลังงานพลาดเป้า ยอดใช้ก๊าซธรรมชาติพุ่ง 64% เหตุโรงไฟฟ้าถ่านหินเลื่อนสัมปทาน ก๊าซฯ ล่าช้า

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายแผนพลังงานในปี 2559 ยังมีหลายโครงการไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2015) ที่ต้องลดการใช้ก๊าซธรรมชาติให้อยู่ที่ระดับ 59% แต่เมื่อสิ้นสุดปลายปีน่าจะอยู่ที่ 64% เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชะลอออกไป รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการสัมปทานแหล่งก๊าซที่หมดอายุล่าช้ากว่ากำหนด

ทั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อแผนบริหาร จัดการก๊าซฯ ซึ่งจะต้องปรับแผนในส่วนนี้ โดยจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้น ด้านพลังงานทดแทนประเมินว่า จะผลิตได้น้อยว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มีสัดส่วนการผลิตอยู่ที่ 8% แต่คาดว่าจะผลิตได้เพียง 6% พลังงานน้ำในประเทศอยู่ที่ 2% ลดจากเป้าหมาย 3% ไฟฟ้าจากพลังน้ำต่างประเทศอยู่ที่ 7% มากกว่าเป้าหมายที่ 6% ถ่านหินนำเข้าอยู่ที่ 9% ลดจากเป้าหมายซึ่งอยู่ที่ 10% และถ่านหินลิกไนต์อยู่ที่ 11% ลดจากเป้าหมายซึ่งอยู่ที่ 14%

สำหรับสาเหตุหลักมาจากการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้น้อยลง โดยเฉพาะไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟต่ำกว่าเป้าหมาย การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว น้อยกว่าเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมาจากการใช้ลิกไนต์ในประเทศที่น้อยลง

อย่างไรก็ตาม แผนพีดีพียังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดแต่ยังไม่สามารถตอบหรือระบุได้ว่าจะต้องปรับแผนหรือไม่ แต่ถ้าต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สนพ.อยู่ระหว่างเตรียมแผนรองรับ เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณสำรองไฟฟ้า ได้แก่ 1.การขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเก่า 2.การจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ซึ่งอาจจะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเองแทนหรืออาจจะต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาผลิตแทนทั้งรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) และรายใหญ่ (ไอพีพี) 3.การซื้อไฟจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากแผนพีดีพี ปี 2579 กำหนดไว้ 20% สามารถเพิ่มได้ไม่เกิน 25% 4.เพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และ 5.จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานให้เข้มงวดขึ้น โดยเป้าหมายยังเน้นที่จะกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิงให้ได้เช่นเดิม