ยึดโมเดลพลังงานลมเคลียร์พื้นที่สปก.
กรมเชื้อเพลิงฯ เคลียร์ ส.ป.ก.ขอใช้พื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับแหล่งใหม่ในอนาคต ยึดโมเดลพลังงานลมหวังแก้ปัญหาหยุดผลิตของเอกชน
กรมเชื้อเพลิงฯ เคลียร์ ส.ป.ก.ขอใช้พื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับแหล่งใหม่ในอนาคต ยึดโมเดลพลังงานลมหวังแก้ปัญหาหยุดผลิตของเอกชน
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อหาแนวทางการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก.ที่จะไม่ให้ขัดต่อหลักกฎหมาย โดยอาจยึดกรณีล่าสุดที่ ส.ป.ก.ได้สรุปผลตรวจสอบการเช่าที่ดินเพื่อติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า 17 โครงการที่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะมีการปฏิบัติตามสัญญาที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น และเพื่อความชัดเจนต่อการเข้าไปสำรวจแหล่งปิโตรเลียมแห่งใหม่ในอนาคตด้วย
ขณะที่ปัจจุบันกรมได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับ ส.ป.ก.ในเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นว่ากรณีพลังงานลมน่าจะนำมาใช้กับกรณีของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ เนื่องจากจะช่วยให้ชาวบ้านได้รับค่าเช่า รัฐก็จะได้ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ถือว่าเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย และจะทำให้เกิดความชัดเจนก่อนที่กรมจะให้สัมปทานด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.เช่นเดียวกับกรณีของพลังงานลม คือ บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มีพื้นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ส.ป.ก. จำนวน 5 ฐานผลิตในเขตที่ดิน จ.เพชรบูรณ์ รวม 12 หลุมผลิต ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้พิจารณายืนตาม คำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่อาจยินยอมให้ใช้ที่ดินในเขต ส.ป.ก.ดังกล่าวได้ ทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินการใดๆ ใน พื้นที่นี้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2555
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เคยหารือถึงภาพรวมผลกระทบต่อคำสั่งศาลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งกรณีการผลิตปิโตรเลียมก็เจอปัญหาเช่นเดียวกับลม คือมีการฟ้องร้องจากเอกชนในปี 2556 กรณีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขอใช้พื้นที่ทำให้เกิดการชะลอการให้ใช้พื้นที่ ทำให้ บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ ได้รับผลกระทบ และจากการรายงาน ของกรมที่ได้รวบรวมผลกระทบต่อกรณีดังกล่าวคือ ปริมาณน้ำมันดิบหายไป 6,600 บาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นเงินราว 30 ล้านบาท/วัน รวมถึงผลกระทบต่อพื้นที่ที่จะเข้าไปสำรวจใหม่ในอนาคตด้วย
สำหรับการปรับโครงสร้างกรม เชื้อเพลิงธรรมชาติที่เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในการเพิ่มอัตรากำลังคนเพื่อรองรับการจัดตั้งกองบริหารจัดการภายในเพิ่ม 3 กอง ได้แก่ กองบริหารความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กองบริหารนำเข้า แอลเอ็นจี และกองบริหารจัดการถ่านหินนำเข้า ล่าสุด ก.พ.ร.ได้อนุมัติให้เพิ่มกองความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมแล้ว