มุมมองบวกต่อตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่
พงศธร ลีลาประชากุล ทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บล.ภัทร & CIO, Kiatnakin Phatra Financial Group
พงศธร ลีลาประชากุล ทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บล.ภัทร & CIO, Kiatnakin Phatra Financial Group
นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่หรือให้ผลตอบแทนรวม 30% ดีกว่าตลาดหุ้นโลกโดยรวมที่ให้ผลตอบแทนรวม 14% แต่ก็มีประเด็นที่ตลาดกังวลคือ
1) การเจรจาเพิ่มเพดานหนี้และการออกกฎหมายงบประมาณประจำปีในสหรัฐ 2) ความเสี่ยงต่อภัยสงครามและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่คุกรุ่นอยู่ในคาบสมุทรเกาหลี และอาจส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐและจีน 3) นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในประเทศที่พัฒนาแล้วมาถึงจุดเปลี่ยนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดสภาพคล่อง ไปเป็นการถอนสภาพคล่อง
4)ความผันผวนของสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบัน และ 5) ราคาที่ปรับขึ้นมาพอสมควร และอาจจะดูแพงและสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตในหลายตลาด ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เกิดแรงเทขายและการปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในแง่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่นักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่และเอเชียแปซิฟิกของแบงก์ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ (BofAML) ก็ยังคงมีมุมมองเชิงบวกเนื่องจาก 3 เหตุผลหลัก ดังนี้
1.เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตดีและเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มจะคงอยู่ในระดับต่ำยังคงบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการว่างงานของประเทศพัฒนาแล้วจะลดลงสู่ระดับปกติแล้วแต่ปัจจัยที่จะผลักดันให้เงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างรวดเร็วยังคงมีจำกัดแรงกดดัน ด้านเงินเฟ้อที่ต่ำน่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วถอนสภาพคล่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเกิดใหม่อาจจะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมอีกได้ซึ่งภาวะตลาดเช่นนี้เอื้อต่อการลงทุนในตลาดหุ้น
2.กำไรของบริษัทจดทะเบียนในประเทศเกิดใหม่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่สถานะและความมั่นคงทางการเงินก็แข็งแกร่งกว่าในอดีตปีนี้นับเป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี 2554 ที่นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของกำไรของตลาดหุ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดคาดว่ากำไรจะเติบโต 20% ในปี 2560 และ 11% ในปี 2561 ปัจจัยหลักที่จะผลักดันการเติบโตไม่ได้มาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัวขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากอัตรากำไรที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการควบคุมค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการที่ดีขึ้นของบริษัทจดทะเบียนในประเทศเกิดใหม่ในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในประเทศเกิดใหม่ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเงินของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ก็ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี ความมั่นคงและเสถียรภาพที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางของเงินทุนต่างชาติที่จะเข้ามาผลักดันมูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ ที่ปัจจุบันยังคงซื้อขายอยู่ในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีตและเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
3.เศรษฐกิจจีนดูมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้รัฐบาลจีนจะยังคงออกมาตรการควบคุมความเสี่ยงในระบบการเงินอย่างต่อเนื่องตลาดยังคงมีความกังวลต่อหนี้สินของจีนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับระดับการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงนี้ยังรวมไปถึงสินเชื่อนอกระบบธนาคาร ที่เติบโตขึ้นหนี้เสียที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นและภาวะตลาดเงินในประเทศที่ยังตึงตัวอยู่
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ออกมาตรการและนโยบายต่างๆ เพื่อมาจำกัดความเสี่ยงอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว โดยลดโอกาสและความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเกิดวิกฤต ซึ่งส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศทยอยปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ ค่าเงินหยวนกลับมาทรงตัวความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็ดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าสัดส่วนของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมในดัชนี MSCI ที่เน้นการเติบโตจากเศรษฐกิจแบบใหม่ เช่น กลุ่มไอทีกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและกลุ่มเพื่อสุขภาพ มีน้ำหนักในดัชนีเพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่กว่า 40% ในปัจจุบัน
ในขณะที่น้ำหนักของกลุ่มอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจแบบเก่า เช่น พลังงาน อุตสาหกรรม และวัสดุก่อสร้าง กลับมีน้ำหนักลดลงจาก 52% ในปี 2547 มาอยู่ที่ 12% ในปัจจุบันซึ่งแสดงถึงทิศทางที่สอดคล้องกันของตลาดหุ้นกับเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจระยะยาวที่เน้นการบริโภคและการบริการในประเทศเป็นปัจจัยหลักสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (จากในอดีตที่เป็นการลงทุนและสร้างหนี้สินของภาครัฐ)
ในขณะที่น้ำหนักของกลุ่มอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจแบบเก่า เช่น พลังงาน อุตสาหกรรม และวัสดุก่อสร้าง กลับมีน้ำหนักลดลงจาก 52% ในปี 2547 มาอยู่ที่ 12% ในปัจจุบันซึ่งแสดงถึงทิศทางที่สอดคล้องกันของตลาดหุ้นกับเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจระยะยาวที่เน้นการบริโภคและการบริการในประเทศเป็นปัจจัยหลักสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (จากในอดีตที่เป็นการลงทุนและสร้างหนี้สินของภาครัฐ)
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นนี้น่าจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ CIO Office ของ บล.ภัทร ยังคงมีมุมมองเชิงบวกและให้มีการกระจายการลงทุนไปในตลาดหุ้นต่างประเทศและคิดว่าตลาดหุ้นยุโรปและตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่มีความน่าสนใจ แต่ที่สำคัญคือยังคงแนะนำให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงไปในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน