posttoday

สันติธาร เสถียรไทย ออมแบบพ่อลูกสอง

20 กันยายน 2560

พรสวรรค์ นันทะแม้จะอยู่ในธุรกิจภาคการเงินมานานประมาณ 7 ปี เพราะร่วมงานกับบริษัท เครดิตสวิส ที่สิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2553 ที่สำคัญยังจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกอย่างฮาร์วาร์ด ที่บ่งบอกว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน แต่ "ดร.ต้นสน" สันติธาร เสถียรไทย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ภูมิภาคเอเชีย บริษัท เครดิตสวิส ก็ประมาทในการบริหารจัดการเงินออม

พรสวรรค์ นันทะ

แม้จะอยู่ในธุรกิจภาคการเงินมานานประมาณ 7 ปี เพราะร่วมงานกับบริษัท เครดิตสวิส ที่สิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2553 ที่สำคัญยังจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกอย่างฮาร์วาร์ด ที่บ่งบอกว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน แต่ "ดร.ต้นสน" สันติธาร เสถียรไทย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ภูมิภาคเอเชีย บริษัท เครดิตสวิส ก็ประมาทในการบริหารจัดการเงินออม

สันติธาร เล่าว่า การบริหารเงินส่วนตัวในฐานะที่เป็นคนมีครอบครัวและมีลูกชายแล้ว 2 คน คือ "น้องต้นไม้" สิฑา เสถียรไทย อายุ 2 ขวบ และ "น้องต้นหม่อน" สิฬา เสถียรไทย อายุ 4 เดือน และภรรยา "เอย" ชนาทิพ เสถียรไทย (เพ็ญชาติ) ไม่ได้ทำงานประจำ บวกกับการที่ต้องอยู่ประจำที่สิงคโปร์ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง การจัดการเงินจึงต้องทำอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดูแลลูกไปได้จนเขาเรียนจบมหาวิทยาลัย และอยู่ในวัยที่สามารถทำงานหาเงินดูแลตัวเองได้แล้ว

ดังนั้น จึงพยายามแบ่งเงินเป็น 3 ส่วน 1) เงินซื้อประกันความเสี่ยงส่วนหนึ่งเพื่อประกันความเสี่ยงอนาคตลูก 2) ลงทุน และ 3) เป็นค่าใช้จ่ายประจำ

สำหรับส่วนแรก ด้านประกันสุขภาพ ตามปกตินั้นบริษัทที่ทำงานจะมีให้อยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่ผมจะซื้อเพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมการเจ็บป่วยที่อาจหนักหรือไม่ คาดคิด เพื่อเพิ่มการประกันให้ครอบคลุมมากขึ้นได้ทั้งครอบครัว ที่ผ่านมาได้ใช้กับลูกชายเวลาลูกป่วยแล้ว ซึ่งค่ารักษาพยาบาลถือว่าสำคัญ เนื่องจากเป็นอะไรที่เราคาดยาก ไม่เห็นก่อน แต่พอมันเกิดขึ้นมันจะแพงมาก จึงควรให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ ผมจะซื้อประกันชีวิตอย่างเดียวอีก เพราะมองว่าประกันชีวิตจะมีประโยชน์ที่สุดตอนลูกยังเล็ก เพราะภรรยาผมก็เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว ไม่ได้ทำงาน ผมเป็นคนเดียวที่หาเงินในบ้าน ฉะนั้น ถ้าผมเป็นอะไรขึ้นมามันจะกระทบต่อฐานะการเงินของทั้งบ้านทันที ผมจึงพยายามจะปกป้องช่วงนี้เอาไว้ก่อนให้ครอบครัวได้มีเงินซัพพอร์ต

"แต่ผมว่าการประกันชีวิตอาจไม่จำเป็นต้องทำตลอดไป เพราะซื้อไปๆ เบี้ยประกันจะแพงขึ้นมากเมื่อเราอายุมากขึ้น ผมจึงเลือกซื้อในช่วงที่มันยังไม่แพงมาก ไม่ไปซื้อในช่วงอายุ 60-65 ปี ที่ลูกคงเรียนจบมหาวิทยาลัยและสามารถทำงานและดูแลตัวเองได้แล้ว ผมจึงเลือกซื้อประกันบ้าง แต่ไม่ทุ่มเงินมากนัก" สันติธาร กล่าว

สำหรับการลงทุน สันติธาร เล่าว่า ส่วนหนึ่งจะมีการลงทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ซึ่งผมและครอบครัวอยู่สิงคโปร์ กฎหมายก็จะให้ทำ คือ ดึงเงินออกไปในแต่ละเดือนประมาณ 10% หรือตามที่เพดานกำหนด แล้วบริษัทก็จะจ่ายสมทบบางส่วนคล้ายระบบบำนาญแห่งชาติ และผมจะลงทุนเพิ่มจากนี้อีกบางส่วน เพื่อการนำไปลงทุนรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยด้วย แต่ไม่ใช่การฝากเงิน เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำในกองทุนอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund)

"ถามว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น มีอยู่ 2 สาเหตุ คือ ผมอยู่ในตลาดการเงินตามเนื้องานแล้วจะลงทุนเองยาก เพราะการจะไปลงทุนอะไรต้องขออนุญาต และผมต้องการลงทุนในความเสี่ยงที่น้อยกว่าปกติ เพราะงานผม เงินเดือน หรือโบนัส ขึ้นอยู่กับการขึ้นลงในตลาดการเงินอยู่แล้ว ฉะนั้น ผมจะไม่ลงทุนในตลาดเงินให้ความเสี่ยงมันกระจุกอยู่ในตลาด หรือเอาเงินไปไว้ในตะกร้าใบเดียวกันอีก" สันติธาร กล่าวถึงสไตล์การลงทุน

สันติธาร กล่าวว่า ในส่วนสุดท้าย คือ การแบ่งเงินไว้ใช้จ่ายปกติ เดิมตอนที่ยังโสดจะเก็บออมเงินได้ง่ายและมีสัดส่วนที่มากประมาณ 10-20% ของรายได้ แต่เมื่อมีลูกค่าใช้จ่ายต่างๆ จะปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก เพราะค่าครองชีพในสิงคโปร์ก็สูงอยู่แล้ว บวกกับลูกชายทั้งสองคนก็ป่วยตามกรรมพันธุ์ คือ เป็นกรดไหลย้อน ที่ต้องกินยาและรักษาต่อเนื่อง ตั้งแต่แรกเกิดไปจนอายุ 8-9 เดือน จึงจะหายเป็นปกติ

ฉะนั้น ในการใช้จ่ายจึงเลือกนำแอพพลิเคชั่นเข้ามาใช้จัดการกับค่าใช้จ่ายหลายๆ ตัว เพื่อให้มันช่วยวิเคราะห์การเงินว่าเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง โดยช่วงนี้ทดลองใช้อยู่ 2 อัน คือ ซีดลี่ (Seedly) ที่เป็นของท้องถิ่นในสิงคโปร์ ซึ่งจะเข้าใจลักษณะค่าใช้จ่ายของท้องถิ่นได้ดีกว่าของต่างประเทศ โดยแอพจะเข้าไปในระบบบัญชีธนาคาร ซึ่งใช้ระบบเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ เดาว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้าง เพื่อให้รู้ว่าค่าใช้จ่ายรั่วตรงไหนจะได้ไปคุมได้ เช่น ค่าโรงพยาบาล อาหาร ท่องเที่ยว ฯลฯ

การเตรียมการทางการเงิน ส่วนหนึ่งเพราะให้ความสำคัญกับการเรียนของลูก เพราะอนาคตโลกจะเปลี่ยนไป เป็นเรียนตลอดชีพ หรือลองไลฟ์เลิร์นนิ่ง คือ เรียนแล้วเรียนอีก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามเทคโนโลยี ซึ่งเคล็ดลับการเรียนตลอดชีพ คือ การบ่มนิสัยที่ดี พฤติกรรมที่ดีของเด็ก โดยเฉพาะในชั้นปฐมวัยจะยิ่งสำคัญมากขึ้น

"ผมตั้งใจว่าจะไม่ส่งลูกไปเรียนจริงจังในวัยเด็ก แค่ให้เข้าสังคม เป็นเพย์เพสเลิร์นนิ่ง เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ช่วยเสริมสร้างพฤติกรรมเพอร์ซันแนลเอ็กซ์เฟ็กทีฟ และตั้งใจจะให้ลูกทำงานบ้านเอง ให้เขาเรียนรู้ความรับผิดชอบ ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันมีผลต่อชีวิต ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนมหาวิทยาลัยมากนัก แต่ก็มีหลักประกันให้เขาได้เรียนไม่น้อยนั้น" สันติธาร สรุปแผนการเรียนในอนาคตของลูกและความมั่นคงของครอบครัว