ฟูนันที่คนนอกดงขมิ้นไม่รู้จัก
ฟูนัน เป็นอาณาจักรสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เรารู้จักมันน้อยเหลือเกิน
โดย กรกิจ ดิษฐาน
ฟูนัน เป็นอาณาจักรสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เรารู้จักมันน้อยเหลือเกิน ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของบันทึกภาษาจีน ที่เหลือเป็นจารึกท้องถิ่นไม่กี่ชิ้นแต่มากพอที่จะเทียบเคียงกับหลักฐานจีนได้ว่าไม่ได้มั่ว
คำว่าฟูนัน หรือ ฝูหนาน () ก็เป็นคำจีนแท้ๆ แปลงหรือแปลมาจากคำท้องถิ่นหรือคำสันสกฤตใดก็ไม่ทราบ แต่คนนิยมแปลกลับมาเป็นคำว่า "พนม" หรือ "บนัม" อ้างสำเนียงภาษาจีนยุคกลางที่ออกเสียงคำ ว่า บิ่วนั่ม ส่วนจะเป็นพนมไหนนั้นก็ยังไม่สรุป
ตามหลักฐานจีนนั้นฟูนันรุ่มรวยด้วยอารยธรรมพุทธศาสนา แม้หลักฐานบ่งชี้ในท้องถิ่นจะแทบไม่มี แต่หากจะใช้หลักฐานจีนจะพบร่องรอยอยู่ไม่น้อย เริ่มแต่ครั้งพระเจ้าโกณฑินยะ ชัยวรมัน ทรงส่งพระนาคเสน () ไปยังราชสำนักจีน เมื่อครั้งราชวงศ์หนานฉี เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงฉี เมื่อปี ค.ศ. 484 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าฉีอู่ตี้ () มหาราชพระองค์หนึ่งแห่งยุค บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีการแปลพระวินัยภาษาบาลีเป็นครั้งแรก ที่เมืองกว่างโจว อย่างไรก็ตามพระวินัยฉบับเถรวาทได้สูญหายไป และไม่เคยปรากฏในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีนอีก จะมีก็แต่พระวินัยของนิกายอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกับฝ่ายเถรวาท แต่มิใช่สายตรง เช่นพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลักฐานเรื่องพระวินัยเถรวาทที่แปลขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าฉีอู่ตี้ ทำให้ทราบว่า ครั้งนั้นฝ่ายเถรวาทพยายามปักหลักในจีนเช่นกัน แต่ไม่สำเร็จ
คำถามก็คือพระวินัยเถรวาทนี้แปลโดยพระภิกษุจากที่ใด? จากชมพูทวีปโดยตรง หรือว่ามาจากฟูนัน จามปา หรือว่ามาจากสุวรรณภูมิ? มีความเป็นได้มากน้อยเพียงใดที่พระนาคเสนแห่งฟูนัน อาจเป็นผู้นำพระวินัยบาลีไปเผยแพร่ที่จีนพร้อมกับเครื่องราชบรรณาการในครั้งนั้น?
ที่น่าประหลาดก็คือ ในช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่นานมีการแปลสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย สรุปว่าจีนมีอรรถกถาพระวินัยเถรวาท แต่ไม่มีตัวบทพระวินัยเถรวาทโดยตรง
อย่างไรก็ตาม มีเค้าว่าพุทธศาสนาในฟูนันจะมิใช่เถรวาท เพราะนักแปลพระสูตรที่เดินทางจากฟูนันไปจีน ล้วนแต่แปลพระสูตรฝ่ายมหายาน หรืออย่างน้อยที่สุดเป็นฝ่ายสรวาสติวาท ดังจะกล่าวต่อไป ในที่นี้จะกล่าวถึงภิกษุชาวฟูนันในจีนเสียก่อน ซึ่งมี 2 ท่าน คือ พระมันทระเสน และพระสังฆพร เดินทางไปจีนราวศตวรรษที่ 5-6
พระมันทระเสน () เป็นผู้แปล "สัปตะศติกาปรัชญาปารมิตาสูตร" หรือมัญชุศรีนิรเทศมหาปรัชญาปารมิตาสูตร () แปลเมื่อปีที่ 2 แห่งรัชศกเทียนเจียน หรือปี ค.ศ. 503 ตรงกับสมัยพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ แห่งราชวงศ์เหลียง พระมันทระเสน ยังเป็นผู้แปล "รัตนเมฆสูตร" () ในปีเดียวกันศักราชเดียวกัน แต่มีการะบุสถานที่แปลด้วยว่า มีขึ้นที่นครหยางตู หรือหนานจิงในปัจจุบัน
พระสังฆพร () เป็นผู้แปลคัมภีร์วิมุติมรรคปกรณ์ () แปลเมื่อปีที่ 14 แห่งรัชศกเทียนเจียน หรือปี ค.ศ. 515 ตรงกับสมัยพระเจ้าเหลียงอู่ตี้ แห่งราชวงศ์เหลียง ทำการแปลที่นครหยางตู หรือหนานจิงในปัจจุบัน อีกเล่มที่ท่านแปล คือ อโศกราชสูตร () หรือ อโศกาวทาน อันเป็นพระราชประวัติของพระเจ้าอโศก แปลเมื่อวันที่ 20 เดือน 6 ปีที่ 11 แห่งรัชศกเทียนเจียน หรือปี ค.ศ. 512 นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์มัญชุศรีปริปฤจฉาสูตร () แปลเมื่อปีที่ 17 แห่งรัชศกเทียนเจียน หรือปี ค.ศ. 518 ว่าด้วยการแตกนิกายในช่วงหลังพุทธกาลราว 1,000 ปี
คัมภีร์มัญชุศรีนิรเทศฯ ที่พระมันทระเสนแปลนั้น เห็นได้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับฝ่ายมหายาน มีการเอ่ยถึงพระโพธิสัตว์มัญชุศรี ว่าเป็นผู้ปรารภพระธรรมเทศนา โดยตรัสสอนว่า ผู้ใดแสวงหาสถานที่สัปปายะ บำเพ็ญภาวนารำลึกพุทธานุสสติ จนกระทั่งมีพระพุทธอยู่ในทุกขณะจิต ก็จะพบกับพระพุทธะทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในชั่วขณะจิตเดียว วิปัสสนากรรมฐานดังว่านี้ ต่อมาได้เป็นแนวทางของพระอาจารย์ต้าวซิ่น พระสังฆนายกแห่งนิกายเซนองค์ที่ 4 และผู้ที่สืบทอดต่อมาคือพระอาจารย์เซินซิ่ว แห่งนิกายเซนสายเหนือ ส่วนคัมภีร์รัตนเมฆสูตร เป็นปริยายว่าด้วยจริยาพระโพธิสัตว์ และคุณแห่งพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นคติมหายานเช่นกัน
แต่คัมภีร์ที่พระสังฆพรแปลมีความหลากหลาย เพราะมีทั้งฝ่ายมหายาน และเกี่ยวข้องกับฝ่ายเถรวาทโดยคือเพราะคัมภีร์วิมุติมรรครจนาโดยพระอรหันต์อุปติสสะ ว่าด้วยการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวทางของฝ่ายเถรวาท มีเนื้อหาตรงกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค ของพระพุทธโฆสะ มีรายละเอียดแตกตางกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นักวิชาการยังเชื่อว่า คัมภีร์วิมุติมรรคแต่งขึ้นก่อนวิสุทธิมรรค และอาจเป็นต้นแบบให้พระพุทธโฆสะรจนาคัมภีร์หลังขึ้นมา จนโด่งดัง เป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบันนี้ แต่วิมุติมรรคได้สูญหายไปจากสารบบคัมภีร์ภาษาบาลี ไปปรากฏในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีน ถ้อยคำก็ใช้ภาษาสันสกฤต แต่หลักธรรมนั้นเป็นเถรวาท
แม้จะสรุปได้ยากว่า พระมันทระเสน และพระสังฆพร สังกัดคณะนิกายใดกันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ พุทธศาสนาในอาณาจักรฟูนันรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ทั้งมหายานและเถรวาทอาจเป็นที่นับถือเคียงคู่กันไป และงานปริยัติก็ยังมั่งคั่งสมบูรณ์ ถึงขนาดไปเผยแพร่ที่จีนได้ n