There’s Something About Nina
ปริญญา ผดุงถิ่น"นีน่า" เป็นนักวิจัยชะนีจากจีนแผ่นดินใหญ่ มาทำงานแบบลุยเดี่ยวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี โดยพำนักอยู่ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 2559 จนถึงปลายเดือน มี.ค. 2560 จึงเดินทางกลับบ้านเกิดที่คุนหมิง
ปริญญา ผดุงถิ่น
"นีน่า" เป็นนักวิจัยชะนีจากจีนแผ่นดินใหญ่ มาทำงานแบบลุยเดี่ยวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี โดยพำนักอยู่ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 2559 จนถึงปลายเดือน มี.ค. 2560 จึงเดินทางกลับบ้านเกิดที่คุนหมิง
ผมเองเคยเจอนีน่ามาบ้าง แต่ไม่ค่อยได้คุยกันนัก เพราะการสปีคอิงลิชของผมอยู่ในระดับ สเนกๆ ฟิชๆ ได้แต่ทักทาย "ไฮ" "เฮลโล" "โอเค" 555
หลายครั้งได้ภาพนีน่าติดมาใน Camera Trap ระหว่างเธอออกเดินป่าติดตามชะนีห้วยขาแข้ง
เพื่อนผมบางคนเรียกเธอว่า "แม่พระ" เพราะครั้งหนึ่ง Camera Trap ของเขาโดนช้างป่ารื้อทำลายอย่างดุเดือด เมื่อเพื่อนคนนี้ตามมาจุดเกิดเหตุในหลายวันต่อมา ก็พบว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่หายไปแทบไม่เหลือ
แต่จริงๆ มันไม่ได้หาย แต่เป็นนีน่านี่เอง ที่รวบรวมเศษซากอุปกรณ์แทบทั้งหมด นำกลับไปยังที่พักของเธอ แล้วพยายามติดต่อให้เจ้าของมารับคืน เศษซากพวกนั้นหนักไม่ใช่เล่น และระยะทางเดินก็ไกลพอสมควร ไม่เรียก "แม่พระ" ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
ปล. ผมเองสารภาพว่าแอบนึกตัดสินเธอไปก่อนแล้ว ว่าคนจากแผ่นดินใหญ่คงมีชีวิตอยู่แบบไร้น้ำใจ ถือเป็นความผิดพลาดอย่างแรง ถือโอกาสขอโทษดังๆ ตรงนี้ก็แล้วกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ตอนโน้นจะไม่ค่อยได้คุยกัน แต่ตอนนี้ผมได้บทสัมภาษณ์ทางไกลของนีน่ามาอยู่ในมือแล้ว เป็นการถาม-ตอบผ่านอีเมล โดยการช่วยเหลือของเพื่อน "หนุ่มไทยหัวใจจีน" (ผมไม่มีปัญญา)
ขอแนะนำให้ท่านได้รู้จักชีวิตและงานของนักวิจัยสาวจีน ผู้ดั้นด้นมาอยู่ในป่าไทย ณ บัดนี้
"นีน่าเป็นชื่อเล่นให้คนเรียกง่ายๆ แต่ชื่อจริงคือ Ran Dai คำว่า Ran แปลว่า 'ธรรมชาติ' ฉันเติบโตที่คุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน
อั๊ว เอ๊ย ฉันรักสัตว์มาแต่เด็ก มักใช้เวลาเล่นกับพวกมันอย่างมีความสุข กระต่าย หมา เป็ด เป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักและเพื่อนที่ดีที่สุดในบ้าน เป็ดตัวหนึ่งที่ได้มาจากหน้าประตูโรงเรียน พัฒนาความผูกพันอันลึกซึ้งกับฉัน
เมื่ออายุ 19 ปี ฉันไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) โดยลงวิชาเอก Comparative literature (วรรณคดีเปรียบเทียบ) วิชาโท Biology (ชีววิทยา)
ฮ่องกงแตกต่างจากเมืองจีนมาก เป็นหน้าต่างบานใหญ่สู่โลกกว้างใหญ่ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน เมื่อเริ่มเรียนวิชาชีววิทยาเบื้องต้นทั้งหลายแหล่ ฉันก็พบตัวเองชื่นชอบวิชา Ecology (นิเวศวิทยา) และ Biodiversity (ความหลากหลายทางชีวภาพ) มากที่สุด
ปี 2009 ฉันเป็นนักศึกษาฝึกงาน เดินทางไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกล ที่มีแค่ 11 หลังคาเรือน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนาน (แต่ชื่อหมู่บ้าน ดันแปลว่า 'หมู่บ้านใหญ่' ซะงั้น) โดยออกติดตามนักวิจัยไปเดินหาชะนีพันธุ์ Nomascus concolor (Black Crested Gibbon)
ทั้งที่ชะนีพวกนี้คุ้นเคยกับคน แต่ฉันพบว่าตัวเองเดินช้าเกินไปจนตามชะนีไม่ทัน และมักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ส่วนใหญ่เลยต้องเฝ้าแคมป์ ดูคนก่อไฟหุงข้าวต้มแกง บางเวลาก็ออกไปเดินหาเห็ดกับชาวบ้าน"
แหม่ หมดเนื้อที่สัมปทานซะแล้ว มาติดตามกันต่ออาทิตย์หน้าครับ จากคนที่ตามทีมวิจัยชะนีจีนไม่ทัน นีน่าได้กลายมาเป็นนักวิจัยชะนีไทยที่แข็งแกร่ง