'ไก่เบตรัง' ทางเลือกใหม่
นับเป็นการพัฒนาด้านปศุสัตว์ที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่งของไทย
โดย...เมธี เมืองแก้ว
นับเป็นการพัฒนาด้านปศุสัตว์ที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่งของไทย เมื่อวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ได้มีการนำไก่เบตง ซึ่งเป็นไก่ที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติและความอร่อย ของดีของ จ.ยะลา มาผสมกับไก่พื้นเมือง หรือไก่บ้าน ใน จ.ตรัง จนได้ไก่สายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า "เบตรัง" โดยหลังทดลองเลี้ยงประมาณ 3 เดือน ปรากฏว่า ไก่สายพันธุ์ใหม่นี้ โตเร็ว ทนทานต่อโรค แถมยังมีเนื้อแน่น แต่นุ่ม แถมยังรสชาติอร่อยเหมือนไก่เบตง
สำหรับการผสมข้ามสายพันธุ์ดังกล่าว เพื่อนำข้อดีของไก่เบตงกับไก่พื้นเมืองตรังมารวมกัน นั่นคือ ได้ขนาดตัวที่ใหญ่ของไก่เบตง และได้ความแข็งแรงของไก่พื้นเมือง ทำให้ไก่สายพันธุ์ใหม่นี้เลี้ยงง่าย เพราะกินทุกอย่างเหมือนไก่พื้นเมือง เช่น ผัก หญ้า ข้าว เพียงแต่เกษตรกรควรให้อาหารเสริมไปบ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเนื้อและไข่
เนื่องจากไก่เบตรังสามารถออกไข่ได้เหมือนกับไก่ปกติ จึงทำให้ได้ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ในตัวเดียวกัน โดยหลังประสบความสำเร็จในปี 2559 ทางวิทยาลัยจึงเริ่มฟักไข่ไก่สายพันธุ์นี้ เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรได้นำไปทดลองเลี้ยง มีตั้งแต่ลูกไก่อายุ 1 วัน น้ำหนักประมาณ 40 กรัม ราคาตัวละ 15 บาท อายุ 7 วัน ตัวละ 20 บาท อายุ 1 เดือน ตัวละ 50 บาท และอายุ 3 เดือน ตัวละ 100 บาท
ประทิพย์ แก้วประทุม อาจารย์แผนกวิชาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ผู้คิดค้นไก่พันธุ์ เบตรังรายแรกใน จ.ตรัง บอกว่า ขณะนี้สามารถฟักไข่ไก่สายพันธุ์ใหม่ได้สัปดาห์ละ 1,000 ฟอง หรือเดือนละประมาณ 3,000 ฟอง แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรทั้งในและต่างจังหวัด ที่มียอดสั่งซื้อเข้ามากว่า 1 แสนตัวแล้ว
ทั้งนี้ แค่เฉพาะโครงการอาหารกลางวัน ตามงบพัฒนา จ.ตรัง ที่มียอดสั่งซื้อเข้ามากว่า 7 หมื่นตัว ทางวิทยาลัยกำลังเร่งปรับปรุงตู้ฟักไข่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้ได้ปริมาณลูกไก่เบตรัง เดือนละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นฟอง สำหรับไก่สายพันธุ์นี้เมื่ออายุ 3-4 เดือน โดยเฉพาะเพศผู้จะมีน้ำหนักประมาณเกือบ 3 กิโลกรัม และสามารถจำหน่ายในรูปแบบไก่เนื้อได้แล้ว
ส่วนเพศเมียหากเลี้ยงต่อไปอีก 2 เดือน ก็จะเริ่มออกไข่เฉลี่ยขนาดเบอร์ 4 หรือหนักฟองละ 50-54 กรัม ซึ่งใหญ่กว่าไข่ไก่พื้นเมืองทั่วไป แถมยังมีการออกไข่สูงกว่าไก่เบตง คือ ประมาณเดือนละ 20-25 วัน โดยไก่เบตรัง จะออกไข่ต่อเนื่องกันไปประมาณ 16 เดือน หลังจากนั้น ก็สามารถนำมาจำหน่ายในรูปแบบไก่เนื้อได้อีกครั้ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้มาจาก 2 ทางคือ ทั้งไข่และเนื้อ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากว่าการเลี้ยงไก่สายพันธุ์อื่นๆ
ถือเป็นอีกทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ของไทย ให้มีสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองเพิ่มขึ้น สร้างความแตกต่างให้ กับวงการไก่ไทย และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค