เร่งระบบราง4แสนล.
"บิ๊กตู่" สั่ง รฟท.เร่งลงทุนระบบราง 4 แสนล้าน เน้นรถไฟทางคู่และให้ซื้อหัวรถจักรมาให้บริการผู้มีรายได้น้อย
"บิ๊กตู่" สั่ง รฟท.เร่งลงทุนระบบราง 4 แสนล้าน เน้นรถไฟทางคู่และให้ซื้อหัวรถจักรมาให้บริการผู้มีรายได้น้อย
นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รอง ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ได้รายงานความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุม ให้รับทราบถึงแผนดำเนินงานในปัจจุบัน โดยนายกฯ ได้สั่งการให้ รฟท.พัฒนางานบริการ ผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารรถไฟชั้น 3 ควบคู่ไปกับการดำเนินงานวางระบบโครงสร้างพื้นฐานตามรางให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ
แหล่งข่าวจาก รฟท. ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งรัดแผนลงทุนระบบรางมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านบาท เริ่มจากโครงการทางคู่ 2 สายใหม่ ได้แก่ รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7.6 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ขณะที่รถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ได้ถูกเร่งรัดให้เสนอ ครม. เพื่อนำเสนอรายละเอียดร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ของทั้งสองโครงการเข้าสู่คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อ จัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ด) ต่อไป
ขณะที่รถไฟทางคู่เฟส 2 อีก 7 เส้นทางนั้น หลังจากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.แล้วจะเร่งรัดเสนอที่ประชุม ครม.ทุกเส้นทางภายในปีนี้ ก่อนเปิดประกวดราคาและก่อสร้างต่อไป โดยโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 รวม 5 เส้นทาง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตามภายใน 1-2 เดือนนี้จะเปิดให้บริการเส้นทางแรกคือรถไฟทางคู่ช่วงจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม.
แหล่งข่าวระบุอีกว่า นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้เพิ่มคุณภาพบริการผู้โดยสารชั้น 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ทั้งด้านความสะอาดของรถไฟไปจนถึงเรื่องการจัดหารถไฟใหม่มาให้บริการผู้โดยสาร โดย รฟท.มีแผนลงทุนจัดซื้อหัวรถจักรจำนวน 200 หัว ภายในปี 2570 เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่เฟส 1 และเฟส 2 ซึ่งขณะนี้โครงการจัดซื้อหัวรถจักร 50 คัน วงเงิน 6,500 ล้านบาท ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมบอร์ด รฟท.แล้ว อยู่ระหว่างนำร่างเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อเปิดประชาพิจารณ์ก่อนประกวดราคาต่อไป
ด้านโครงการเช่าหัวรถจักรอีก 50 หัว รวมค่าซ่อมบำรุงวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาทนั้น อยู่ระหว่างเสนอเข้าสู่ ที่ประชุมบอร์ด ซึ่ง รฟท.มีหัวรถจักรที่ต้องปลดระวางประมาณ 50 หัว ดังนั้นจะต้องร่างแผนจัดซื้อหัวรถจักรเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่าจำนวนที่ปลดระวาง
ด้านนายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนโครงการก่อสร้างศูนย์กลางบังคับการบินแห่งใหม่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 2-3 ปีก่อนเปิดให้บริการ ขณะที่สนามบิน อู่ตะเภา ในอนาคตจะกลายเป็นสนามบินหลักของพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้น มีความจำเป็นต้องลงทุนงานก่อสร้างอาคารและงานระบบควบคุมวิทยุการบินวงเงิน 2,000-3,000 ล้านบาทเช่นกัน เพื่อรองรับไทยเป็นฮับการบินภูมิภาค