พุทธศาสนาใน‘คันธาระ’ แดนตะวันออก
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมทิ้งท้ายเรื่องคันธารราฐที่หยุนหนาน
โดย กรกิจ ดิษฐาน
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมทิ้งท้ายเรื่องคันธารราฐที่หยุนหนาน โดยตั้งข้อสังเกตว่ามณฑลหยุนหนาน มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก และเชื่อว่าหยุนหนานเป็นดินแดนเดียวในจีนที่มีพระพุทธศาสนา 3 ฝ่ายอยู่ครบถ้วน และสืบทอดมาเป็นพันปีไม่ขาดสาย โดยชนเผ่าไท/ไตและว้านับถือเถรวาท ชาวฮั่นนับถือมหายาน และชาวไป๋และทิเบตนับถือตันตระยาน ชาวไป๋นี่เองที่เชื่อกันว่าเป็นอนุชนของชาวอาณาจักรน่านจ้าว-ต้าหลี่
ชาวน่านจ้าวอ้างตัวว่าเป็นอนุชนของพวกอายหลาว (ซึ่งมีผู้เชื่อว่าเป็นบรรพชนหนึ่งของคนไท/ลาว) อย่างไรก็ตาม อาณาจักรน่านจ้าว น่าจะมีหลายเผ่าพันธุ์ มีชาวไป๋หรืออี๋เป็นใหญ่ คงมีคนเผ่าไทอยู่ไม่น้อยรวมถึงชาวทิเบตกับพยูหรือพวกพม่า จากบันทึกสมัยราชวงศ์ถังระบุว่า แถบนี้มีอาณาจักรอยู่ 6 แห่ง เรียกตัวเองว่า“จ้าว” (诏) แปลไทยก็แปลว่า จ้าว/เจ้า นั่นเองส่วนหนาน (南) เป็นคำจีนแปลว่าใต้ น่านจ้าวจึงหมายถึง จ้าวทางใต้
ในจำนวนจ้าว 6 เผ่า “จ้าวทางใต้”เรียกตัวเอง “เหมิงแส” (蒙舍 สำเนียงจีนยุคกลาง) คล้ายกับคำว่าเมืองแส อีกทั้งคนไทยังเรียกทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ ที่เมืองต้าหลี่ (เมืองหลวงที่ 2 ของน่านจ้าว)ว่า “หนองแส” นับว่าสอดคล้องอย่างน่าประหลาด
ใครที่อินๆ ตำนานพญานาคคงคุ้นเคยกับหนองแสเป็นอย่างดี หนองแส หรือเอ๋อร์ไห่เบื้องตะวันออกของเมืองน่านจ้าว-ต้าหลี่ เป็นที่สถิตของพญานาคราชศรีสุทโธกับพญานาคสุวรรณโค ทั้งสองนาคนี้ฟัดกันจนกลายเป็นแม่น้ำโขงขึ้นมา เป็นตำนานลาว/ไท แม้แต่ในภาพพงศาวดารน่านจ้าว (南诏画卷) ก็ยังปรากฏเรื่องนี้
แม้ว่าน่านจ้าวจะมีคำสำคัญตรงกับภาษาไท/ไต แต่ใช่ว่าจะเป็นอาณาจักรของคนไท ด้วยน่านจ้าวมีวัฒนธรรมและที่ต่างจากคนไทในหยุนหนานแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และเป็นไปได้ว่ามีการถ่ายโอนวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างญาติหรือเพื่อนบ้านใกล้ชิดมากกว่า ชาวน่านจ้าวนั้นนับถือพระพุทธศาสนาแบบตันตระที่แพร่หลายแถบเบงกอล และคล้ายนิกายวัชรยานสมัยราชวงศ์ถัง พุทธศิลป์ผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบปาละ (พระพุทธรูปจะคล้ายแบบปาละกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก) แต่สถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนสมัยราชวงศ์ถัง-ซ่ง
ตามตำนานของน่านจ้าว พระพุทธศาสนามาถึงแถบนี้โดยพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (กวนอิม) จำแลงกายเป็นภิกษุชมพูทวีปมาช่วยกษัตริย์น่านจ้าวปราบคนเถื่อน พระโพธิสัตว์จำแลงองค์นี้เรียกว่า อาฉัวเย กวนอิม (阿嵯耶观音) หรือ “อชัยอวโลกิเตศวร” บางครั้งเรียกว่า ดาวโชคลาภแห่งหยุนหนาน และรูปพระโพธิสัตว์อชัยนี้มีการสร้างไว้มากมายในหยุนหนาน รูปลักษณ์เหมือนศิลปะศรีวิชัยกับทวาราวดียังไงยังงั้น
ต่อมาในช่วงราชวงศ์เป่ยโจว-ราชวงศ์ซ่ง อาณาจักรน่านจ้าวสิ้นสุดลง เกิดอาณาจักรต้าหลี่ขึ้นมาแทน มีคนสกุลต้วนเป็นผู้นำ (เช่น ต้วนอวี้ แห่งนิยายแปดเทพอสูรมังกรฟ้า ซึ่งก็คือพระเจ้าซวนเหรินตี้ ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์) อาณาจักรต้าหลี่นับถือพระพุทธศาสนาแบบตันตระเช่นเดิม แต่ได้รับอิทธิพลมหายานแบบฮั่นมากขึ้น ยุคนี้นิยมสร้างเสาศิลาพระสูตร ศิลาจารึกพระสูตร จำหลักอักษรจีนและอักษรสิทธัม เป็นพระสูตรต่างๆ เช่นการุณิกราชปรัชญาปารมิตาสูตร และกษิติครรภโพธิสัตว์ธารณี
ปัจจุบันพวกไป๋ยังคงนับถือพระพุทธศาสนาแบบน่านจ้าว-ต้าหลี่ เรียกว่าพระพุทธศาสนาแบบอาจารี คงเหมือนกับนิกายตันตระที่เรียกว่า คณะอารีในพุกาม ก่อนพระเจ้าอนิรุธกำราบปฏิรูปให้เป็นเถรวาททั้งหมด นิกายอาจารีของน่านจ้าวในหยุนหนานก็ถูกปราบปรามอย่างหนักในสมัยราชวงศ์หมิง แต่ทุกวันนี้ยังหลงเหลืออยู่
เมืองต้าหลี่กับเมืองคุนหมิง อันเป็นศูนย์กลางหลักและรองของน่านจ้าว-ต้าหลี่ เป็นดินแดนพระพุทธศาสนาเคยมีวัดวามากมาย เป็นที่น่าเสียดายที่วัดวาอารามถูกทำลายไปมากเมื่อครั้งกบฏตู้เหวินซิ่ว