ดาวตกบนดวงจันทร์ ขณะเกิดจันทรุปราคา
วันที่ 21 ม.ค. 2562 ได้เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด
วันที่ 21 ม.ค. 2562 ได้เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง โดยช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ตรงกับเวลาเที่ยงวันตามเวลาประเทศไทย บริเวณที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้จึงอยู่ในซีกโลกด้านตรงข้ามกับประเทศไทย ได้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและถ่ายทอดสดบนอินเทอร์เน็ต นำไปสู่การค้นพบว่าขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงได้มีจุดแสงสว่างวาบขึ้นเป็นเวลาสั้นๆ บนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งต่อมาได้รับการยืนยันด้วยภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจากหลายแหล่งได้ผลตรงกันว่าเกิดในเวลาเดียวกันและตำแหน่งเดียวกัน แสดงว่ามีสะเก็ดดาวพุ่งชนดวงจันทร์
อวกาศระหว่างดาวเคราะห์ภายในระบบสุริยะอาจดูว่างเปล่า แต่แท้จริงแล้วมีสะเก็ดดาวล่องลอยอยู่ ดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศแบบโลกที่คอยช่วยป้องกันวัตถุจากอวกาศ พื้นผิวดวงจันทร์จึงเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตขนาดต่างๆ กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถมองเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ นั่นแสดงให้เห็นว่าดวงจันทร์ถูกชนอย่างต่อเนื่องมาตลอดอายุของระบบสุริยะ
เราเรียกปรากฏการณ์ที่สะเก็ดดาวในอวกาศเคลื่อนที่เข้ามาในบรรยากาศโลกว่าดาวตกหรือผีพุ่งไต้ สะเก็ดดาวส่วนใหญ่ที่เข้ามาในบรรยากาศโลกจะระเหิดหรือเผาไหม้หมดไปในบรรยากาศ ทำให้เห็นเป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้าเวลากลางคืนและไม่เป็นอันตรายต่อเราบนพื้นโลก บนดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศหนาแน่นห่อหุ้ม วัตถุเหล่านี้จึงพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์อยู่เสมอ ความเร็วของการชนสามารถสูงได้ถึงหลายสิบกิโลเมตร/วินาที หรือนับหมื่นกิโลเมตร/ชั่วโมง แต่การสังเกตทำได้ยาก เนื่องจากการชนที่สว่างพอจะเห็นได้จากพื้นโลกไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย
เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดดาวตกบนดวงจันทร์ แต่ดาวตกที่สังเกตได้ในระหว่างที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่ผ่านมานับเป็นเหตุการณ์ซึ่งมีหลักฐานทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวมากที่สุดเท่าที่เคยมีรายงานมา ก่อนหน้านี้มีรายงานการเห็นดาวตกขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2551 ซึ่งเห็นได้ในสหรัฐอเมริกา
สำหรับสถานีอวกาศนานาชาติและดาวเทียมต่างๆ ที่ส่งขึ้นไปโคจรรอบโลก องค์การนาซ่าสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการถูกชนจากสะเก็ดดาวได้โดยอาศัยผลการสังเกตดาวตกในบรรยากาศด้วยดาวเทียมและการสังเกตด้วยตาเปล่าจากนักดาราศาสตร์ทั่วโลก แต่บนดวงจันทร์เราอาจไม่สามารถใช้ข้อมูลนี้กับการประเมินความเสี่ยงที่มีต่อมนุษย์หรือสิ่งก่อสร้างบนดวงจันทร์ได้ หนทางที่จะได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีอยู่สองทาง วิธีแรกคืออาศัยข้อมูลจากบันทึกแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ วิธีที่สองคือการเฝ้าสังเกตเพื่อค้นหาแสงวาบในด้านมืดของดวงจันทร์ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่ามีสะเก็ดดาวตกกระแทกผิวดวงจันทร์
พ.ศ. 2552 นักดาราศาสตร์ในสเปนได้สร้างเครือข่ายจับตาดูดวงจันทร์ คอยเฝ้าสังเกตแสงสว่างวาบที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวด้านมืดของดวงจันทร์ด้วยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวด้วยระบบอัตโนมัติ ตั้งชื่อว่ามิดาส (MIDAS ย่อมาจาก Moon Impacts Detection and Analysis System) ข้อมูลจากมิดาสแสดงว่ามีสะเก็ดดาวพุ่งชนดวงจันทร์อยู่ทุกวัน เฉลี่ยทุก 3 ชั่วโมง
องค์การนาซ่ามีหน่วยงานศึกษาเกี่ยวกับสะเก็ดดาวในอวกาศที่ส่งผลต่อภารกิจในการสำรวจอวกาศ ตั้งอยู่ที่ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหนาแน่นและความเสี่ยงของสะเก็ดดาวที่จะพุ่งชนยานอวกาศซึ่งเดินทางออกไปสู่อวกาศนอกโลก มีการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เฝ้าดูดวงจันทร์โดยถ่ายภาพเคลื่อนไหวเพื่อสังเกตสิ่งที่อาจเป็นดาวตกบนดวงจันทร์โดยเน้นช่วงเวลาที่เป็นครึ่งแรกของข้างขึ้นและครึ่งหลังของข้างแรมซึ่งเราจะเห็นด้านมืดของดวงจันทร์ได้ครึ่งดวงหรือมากกว่าครึ่งดวง รวมถึงช่วงที่เกิดจันทรุปราคา
การศึกษาดาวตกบนดวงจันทร์ช่วยให้สามารถประเมินความเสี่ยงได้หากในอนาคตมีการก่อสร้างสถานีวิจัยถาวรบนดวงจันทร์และส่งมนุษย์ไปอาศัยอยู่บนดวงจันทร์
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า
(3-10 ก.พ.)
หากไม่มีเมฆบดบังท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ มีโอกาสเห็นดาวอังคารอยู่สูงบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตก ดาวอังคารยังอยู่ในกลุ่มดาวปลา ค่อนไปทางด้านที่ติดกับกลุ่มดาวแกะ หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง ดาวอังคารจะอยู่บนท้องฟ้าด้วยมุมเงย 50 องศา หลังจากนั้นดาวอังคารจะเคลื่อนต่ำลงจนตกลับขอบฟ้าในเวลาเกือบ 5 ทุ่ม สังเกตได้ว่าความสว่างของดาวอังคารลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเพราะดาวอังคารกำลังเคลื่อนห่างออกจากโลกมากขึ้น ขนาดปรากฏในกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงก็เล็กลงตามไปด้วย ทำให้สังเกตร่องรอยบนพื้นผิวได้ยากขึ้น
ท้องฟ้าเวลาเช้ามืดมีดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์และดาวเสาร์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู เป็นกลุ่มดาวที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งคั่นอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับคนยิงธนู ขึ้นเหนือขอบฟ้าก่อนดาวศุกร์และดาวเสาร์ เริ่มโผล่เหนือขอบฟ้าตั้งแต่เวลาก่อนตี 3 เล็กน้อย แต่อาจต้องรออีกราวครึ่งชั่วโมง ดาวพฤหัสบดีจึงจะเคลื่อนสูงห่างจากขอบฟ้ามากพอให้สังเกตได้ดีดาวพฤหัสบดีมีดาวบริวารจำนวนมาก แต่มี 4 ดวงที่สว่าง สังเกตได้ง่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์
ดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู เวลาประมาณตี 4 ก็น่าจะเห็นดาวศุกร์แล้ว โดยช่วงแรกอยู่สูงเหนือขอบฟ้าไม่มากนัก ดาวเสาร์ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวเดียวกันจะขึ้นตามหลังดาวศุกร์ เวลาประมาณตี 5 เป็นต้นไปก็น่าจะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสามดวงได้พร้อมกัน หากลากเส้นจากดาวพฤหัสบดีไปหาดาวศุกร์และดาวเสาร์ จะได้แนวคร่าวๆ ของสุริยวิถี หรือทางเดินของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ซึ่งก็คือระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และหากสังเกตตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงไปของดาวเคราะห์ทั้งสามนี้ในแต่ละวันก็จะพบว่าดาวศุกร์กำลังเคลื่อนห่างออกจากดาวพฤหัสบดีและเข้าใกล้ดาวเสาร์มากขึ้น
ต้นสัปดาห์เป็นปลายข้างแรม วันที่ 5 ก.พ. 2562 ดวงจันทร์จะเคลื่อนไปอยู่แนวเดียวกับดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ข้างขึ้นมองเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำของทุกวัน คืนวันที่ 10 ก.พ.จะเห็นดวงจันทร์ปรากฏอยู่ทางซ้ายมือของดาวอังคารที่ระยะห่าง 7 องศา