ธพส. กางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจกว่าหมื่นล้าน
ธพส. เปิดโมเดลธุรกิจเดินหน้าลงทุน กางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจกว่าหมื่นล้าน
ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. เปิดเผยว่า ธพส. เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง มีภารกิจหน้าที่ในการลงทุนก่อสร้างอาคาร การบริหารโครงการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และการบริหารจัดการทรัพย์สินอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เกิดการหมุนเวียนเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันโมเดลธุรกิจเพิ่มมูลค่าโครงการ ส่งกำไรกลับคืนรัฐบาลให้มากขึ้น
สำหรับในปี 2563 ธพส. บริหารจัดการธุรกิจจนสามารถเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจซบเซา อย่างน่าพอใจ ภายใต้การบริหารงานของ ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโมเดลทางธุรกิจจนกลายเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สามารถลงทุนก่อสร้างโครงการท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 4 โมเดลธุรกิจ ได้แก่
โมเดลที่ 1 การก่อสร้างอาคาร และเก็บค่าเช่าภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ อีกทั้งการก่อสร้างโครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามาฯ-ธนารักษ์ จังหวัดสมุทรปราการ บนที่ดินราชพัสดุ มูลค่า 1,400 ล้านบาท รวมถึงการก่อสร้างอาคารด้านทิศตะวันออก อาคารด้านทิศตะวันตก และอาคารสนับสนุน โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ โซนซี มูลค่า 6,000 ล้านบาท
โมเดลที่ 2 การบริหารโครงการของภาครัฐที่ได้รับมอบหมาย เช่น การบริหารโครงการสนามกอล์ฟบางพระ จังหวัดชลบุรี และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
โมเดลที่ 3 การรับจ้างก่อสร้างอาคาร โดยโมเดลนี้ถือเป็นธุรกิจที่ ธพส. ได้สร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท โดยมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ และส่งมอบเรียบร้อยแล้วในส่วนของอาคารสำนักงานประหยัดพลังงาน ซอยพหลโยธิน 11 มูลค่า 262 ล้านบาท นอกจากนี้ ธพส. ยังเตรียมก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ประหยัดพลังงาน ให้กรมสรรพสามิต มูลค่า 200 ล้านบาท
โมเดลที่ 4 การคุมงานก่อสร้าง โครงการบูรณาการสวัสดิการที่พักอาศัยกับสถานที่ทำงานและศูนย์บริการของข้าราชการพลเรือนสามัญ 14 อาคาร โดยจะก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียมขนาด 76-650 ห้อง ขนาดพื้นที่ใช้สอย 35-40 ตารางเมตร ต่อห้อง โดย ธพส. จะทำหน้าที่ในการควบคุมการก่อสร้าง ส่วนค่าเช่าที่ดินลูกบ้านจะเป็นผู้รับผิดชอบเซ็นสัญญากับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่ ธพส. เป็นผู้จัดหาให้ รูปแบบการดำเนินการของโมเดลนี้ คือการเปิดให้เอกชนเข้าลงทุนก่อนแบบเหมาจ่ายทั้งโครงการ เมื่อเอกชนก่อสร้างแล้วเสร็จ ธพส. จะทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแทนลูกบ้าน เมื่อส่งมอบเรียบร้อยแล้ว ธพส. จึงจะจ่ายเงินลงทุนคืนให้ ซึ่งรูปแบบนี้คาดว่าจะช่วยให้การก่อสร้างรวดเร็วขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างคอนโดมิเนียมแต่ละแห่งประมาณ 14-16 เดือน อาจจะใช้เวลาเพียง 10-12 เดือนเท่านั้น
นอกจากนี้ ธพส. ยังอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับโครงการบ้านพักผู้สูงอายุที่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยอยู่ระหว่างการหารือว่าจะเข้าไปบริหารโครงการทั้งหมด หรือจะเป็นการรับจ้างก่อสร้าง รวมถึง ธพส. จะก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในรูปแบบของโมเดลธุรกิจใหม่ที่ ธพส. ไม่เคยทำมาก่อน เพราะเป็นครั้งแรกที่ ธพส. ไม่ได้พัฒนาโครงการบนที่ดินราชพัสดุ แต่เป็นการขอเช่าพื้นที่กับ อสมท. ซึ่งบอร์ด อสมท. ได้อนุมัติในหลักการแล้วว่าจะให้ ธอส. เช่าที่ดินเพื่อสร้างเป็นอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของธนาคารอาคารสงเคราะห์
โดย ธพส. จะทำหน้าที่ในการออกแบบและก่อสร้าง ซึ่งหากโครงการนี้สามารถดำเนินการได้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ ธพส. สามารถก้าวข้ามการพัฒนาได้เฉพาะที่ดินราชพัสดุ ไปสู่การบริหารจัดการบนที่ดินของหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ และยังจะเป็นโครงการนำร่องในการขยายธุรกิจของ ธพส. ในอนาคตอีกด้วย
“หน้าที่ของ ธพส. คือการเป็นกลไกของภาครัฐในการเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินลงทุนเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยการเดินหน้าลงทุนก่อสร้าง และบริหารจัดการโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เป้าหมายของ ธพส. คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการและขยายจำนวนโครงการให้มากขึ้นเพื่อสร้างผลกำไรกลับคืนสู่ภาครัฐให้สูงขึ้นภายใน 3 - 5 ปี” ดร.นาฬิกอติภัค กล่าว