posttoday

CIMB Thai ต่อจิ๊กซอว์ดูแลสังคม สนับสนุนคู่ชีวิต LGBTQ+ กู้ซื้อบ้าน

09 กุมภาพันธ์ 2566

เอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ฉายภาพ CIMB Thai ต่อจิ๊กซอว์นโยบาย ESG โดยเลือกดูแลสังคมด้วยการสนับสนุนคู่ชีวิต LGBTQ+ ที่มีถึง 3.6 ล้านคนในไทย ให้ได้มีโอกาสสานฝันร่วมกันกู้ซื้อบ้าน พร้อมปูทางสร้างความเท่าเทียมแก่คนตาบอดให้ได้มีงานและรายได้


เอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) เล่าถึงที่มาและแนวทางธุรกิจของธนาคารที่ต้องการส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมว่า เริ่มจากธนาคารมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเรื่อง ESG ซึ่งมองว่าการส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมเป็นส่วนหนึ่งของตัว S (Social) หรือการรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง


สำหรับการพัฒนาผลิตภัณ์และบริการ 'มาคู่ กู้ร่วม' มาจาก 2 มุมมอง หนึ่งคือต้องการให้ความสำคัญกับกลุ่ม LGBTQ+ ที่อายุมากกว่า 15 ปี ซึ่งปัจจุบันครองอัตราส่วน 5% ของประชากรไทย หรืออยู่ที่ราว 3.6 ล้านราย ซึ่ง 80% พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 

 

ส่วนมุมมองที่สองคือ ในแง่ศักยภาพด้านรายได้นั้น พบว่าประชากร LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ตามนิยาม DINK (Double Income No Kids) คือเป็นคู่รัก/คู่ชีวิตมีรายได้ทั้งคู่แต่ไม่มีลูก 

 

เอกสิทธิ์เล่าถึงภาพรวมของการให้สินเชื่อบ้านในอดีตว่า จากเดิมที่มักจะอนุมัติให้แก่ผู้กู้ร่วมนามสกุลเดียวกันที่เป็นญาติสนิทหรือสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสเป็นหลัก แต่ด้วยปัจจุบันที่ไทยมีกฎหมายคู่ชีวิตแล้ว จึงเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์อนุมัติสินเชื่อให้แก่กลุ่มคู่รัก/คู่ชีวิตที่มีความหลากหลายทางเพศได้ และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เองก็มองว่า LGBTQ+ ก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงด้วย 

 

เราใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการศึกษาตลาดและหาข้อมูลต่าง ๆ จึงได้ตกผลึกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้สินเชื่อบ้านกับกลุ่ม LGBTQ+ ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกลุ่มคู่รักเพศเดียวกันมาขอสินเชื่ออยู่บ้างและเราพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีรายได้สูงราว 6 หลักขึ้นไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเพิ่งโปรโมทเปิดตัวแคมเปญสินเชื่อบ้าน “มาคู่ กู้ง่าย” ไปเมื่อไม่นานนี้ แต่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ให้คู่รักเพศเดียวกัน สามารถขอสินเชื่อซื้อบ้านได้ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2565 แล้ว  โดยมียอดขออนุมัติสินเชื่อเข้ามาราว 160 ล้านบาท จากผู้สมัคร 40 ราย ซึ่งได้รับการอนุมัติแล้วเป็นวงเงินราว 30 ล้านบาท และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาเป็นวงเงินราว 25 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ภายใต้แคมเปญสินเชื่อบ้าน “มาคู่ กู้ง่าย” คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมัครสินเชื่อบ้านร่วมกันได้ โดยที่ไม่ต้องมีใบจดทะเบียนคู่ชีวิต เพียงแค่มีชื่อถือครองกรรมสิทธิ์ในโฉนดหรือหลักประกันร่วมกัน เพื่อสามารถพิสูจน์ถึงการมี commitment หรือการมีส่วนรับผิดชอบต่อทรัพย์สินร่วมกัน ตลอดจนเป็นพนักงานประจำ หรือเจ้าของกิจการ ที่มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป

 

โดยครอบคลุมทั้งการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน สินเชื่อซื้อบ้านมือหนึ่ง บ้านมือสอง และสินเชื่อบ้านอเนกประสงค์ มอร์เกจพาวเวอร์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่เปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกันที่ต้องการรีไฟแนนซ์ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย หรือสร้างอนาคตโดยเป็นเจ้าของบ้านร่วมกัน ได้เข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น


สำหรับเป้าหมายของการให้สินเชื่อกับกลุ่มคู่รักเพศเดียวกันนั้น ธนาคารคาดหวังจะทำยอดให้สินเชื่อราว 1.5 พันล้านบาท หรือที่ 5% ของเป้ายอดสินเชื่อใหม่ปีนี้ที่ราว 3.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตจากปีก่อนหน้าที่ 18%

 

ทั้งนี้เพื่อให้ไปถึงจุดหมายที่วางไว้ เอกสิทธิ์ย้ำว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จะต้องให้น้ำหนักกับการสื่อสารการตลาด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงใช้กลยุทธ์ด้านราคามาจูงใจลูกค้าด้วย

 

เรามองว่าลูกค้าในแคมเปญ มาคู่ กู้ง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นการรีไฟแนนซ์มาจากสถาบันการเงินอื่น ซึ่งปัจจุบัน 70% ของสินเชื่อใหม่เป็นการรีไฟแนนซ์ 

 

อย่างไรก็ตามด้วยศักยภาพทางด้านการเงินของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังเป็นโอกาสให้ธนาคารซีไอเอ็มบีฯ สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนได้อีก ในลักษณะการนำเสนอบริการแบบ Total Solution ได้ด้วย

 

สำหรับแนวทางในการส่งเสริมความเท่าเทียมในแง่มุมอื่นนั้น เอกสิทธิ์เปิดเผยว่าช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ทางฝั่งธุรกิจรายย่อย จะเริ่มมีพนักงานผู้พิการทางสายตามาเป็นเจ้าหน้าที่ติดตามหนี้และพนักงานขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารผ่านช่องทาง Call Center ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมต่าง ๆ 

 

ด้วยมองว่า นอกจากเป็นนโยบายที่ช่วยสนับสนุนให้กลุ่มผู้พิการทางสายตาได้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแล้ว ยังเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้จะมีทักษะและสมาธิในการติดต่อสื่อสารได้ดียิ่งกว่าบุคคลทั่วไป ตลอดจนคุยกับลูกค้าได้ดีด้วย เพียงแค่ต้องมีอุปกรณ์และคู่มือที่รองรับเรื่องอักษรเบรลล์ 

 

เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วน ที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนโอกาสที่เท่าเทียมกันในหลายมิติ เพื่อดูแลให้คนในสังคมไทยใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีคุณภาพ แม้มีความต่างกัน