posttoday

TBN เปิดแผนขยายธุรกิจรับเทรนด์ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม พร้อม IPO ปีนี้

23 มีนาคม 2566

ชูจุดเด่น ผู้นำตลาด Low Code ลุยขายไอพีโอ 25 ล้านหุ้น ต่อยอดโอกาสขยายธุรกิจ รองรับเทรนด์ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม พร้อมติดสปีดปั้นโปรแกรมเมอร์ 500-1,000 คนภายใน 3 ปี

นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปีนี้ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 25 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par value) 0.50 บาทต่อหุ้น 

ทั้งนี้ TBN จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อรองรับ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ใช้ในการเพิ่มจำนวนบุคลากร การพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนโครงการและจำนวนบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น โดยระยะเวลาการใช้เงินภายในปี 2568 

สำหรับ TBN เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์  MENDIX License รายแรกและปัจจุบันเป็นรายเดียวในประเทศไทย โดยบริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งจาก Siemens ให้เป็นผู้จัดจำหน่าย MENDIX License อย่างเป็นทางการรายแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2551 และได้ต่อสัญญาต่อเนื่องทุกปี โดยในเดือนพ.ย.2565 บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาถือหุ้นบริษัท ร้อยละ 25 

เทคโนโลยี Low Code ของ MENDIX ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของลูกค้าได้รวดเร็วกว่าการเขียน Code แบบดั้งเดิม ปัจจุบันมีลูกค้าระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ที่จดทะเบียนในตลาด 50 อันดับ อยู่ประมาณ 40 บริษัท ทั้งกลุ่มธนาคาร,สถาบันการเงิน,ค้าปลีก ,อุตสาหกรรมโรงงาน และภาครัฐ

"ยกตัวอย่างลูกค้ารายใหญ่คือ ซีพีเอฟ ที่ต้องการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล ความท้าทายคือเป็นองค์กรใหญ่ แต่ขาดบุคลากรโปรแกรมเมอร์ที่เพียงพอ เมื่อลูกค้าใช้งานของบริษัท ทำให้ลูกค้าสามารถขึ้นระบบคลาวด์ พัฒนาแอปพลิเคชั่น 7/11 และพัฒนาระบบอื่นๆได้ 180 ระบบ ภายใน 2 ปี นอกจากนี้ยังมีลูกค้า เคทีซี ที่ใช้บริการของบริษัทในกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคอนเท็ค เซ็นเตอร์ ได้ 30 % ทำให้พนักงานเรียนรู้และใช้งานง่าย ลดความผิดพลาดของการใช้งาน เป็นต้น "

นายปนายุ กล่าวว่า จุดเด่นของบริษัทคือ มีประสบการณ์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ผ่าน Low Code มากว่า 15 ปี ปัจจุบันบริษัทฯ มีทีมงานและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ จำนวน 150 คน นับว่ามากที่สุดในอุตสาหกรรม นอกจากนี้บริษัทยังสามารถให้บริการงานพัฒนาระบบดิจิทัลแบบครบวงจร (One-Stop Service) ทั้งแบบ Low Code และ High Code ทำให้ได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์และตอบสนองได้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า 

อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนโปรแกรมเมอร์ ขณะที่เทรนด์การทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้องค์กรต้องมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้น แต่บุคลากรในการพัฒนาไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วย ดังนั้นยังมีโอกาสเติบโตในตลาดนี้อีกจำนวนมาก

ดังนั้นการระดมทุนในตลาดฯจึงต้องการขยายขนาดของบริษัทเพื่อรองรับการเติบโต รวมถึงการสร้างบุคลากรทั้งภายใน และการสร้างบุคลากรภายนอกให้กับประเทศผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและภาครัฐ โดยตั้งเป้าสร้างบุคลากรเพิ่ม 500-1,000 คน ภายใน 3-5 ปี ซึ่งคนที่อยู่ในอาชีพอื่นก็สามารถเข้ามาสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์ได้หากผ่านหลักสูตรดังกล่าว

นางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า สำหรับฐานะทางการเงินในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2564) รายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ มีจำนวนเท่ากับ 130.38 ล้านบาท 215.73 ล้านบาท และ 291.19 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 65.47 และร้อยละ 34.98 ตามลำดับ  และสำหรับงวด 9 เดือนแรกปี 2564 และปี 2565 เท่ากับ 198.12 ล้านบาท และ 243.96 ล้านบาท ตามลำดับ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 45.44 ล้านบาท 87.61 ล้านบาท และ 84.04 ล้านบาท ตามลำดับ และในงวด 9 เดือนของปี 2564 และปี 2565 มีกำไรสุทธิ 58.70 ล้านบาท และ 26.52 ล้านบาท 

ด้านภาพรวมตลาด Low Code ทั่วโลกมีมูลค่าเกือบ 21.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และคาดว่าจะสูงถึง 190.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 31.30 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตคือ ความต้องการ แอปพลิเคชัน ที่ต้องสร้างได้อย่างรวดเร็ว แข่งกับเวลา (Time to market) องค์กรจึงนำ Low Code มาใช้เพื่อให้นักพัฒนาผลิต แอปพลิเคชัน ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อความต้องการของตลาด โดยมีผลการวิจัยที่คาดการณ์ว่านักพัฒนา Low Code จะคิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนนักพัฒนาทั้งหมดภายในปี 2573 และการพัฒนาแอปพลิเคชันผ่าน Low Code จะคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนแอปพลิเคชันทั้งหมดภายในปี 2568