อิมแพ็ค ฟาร์ม ยกระดับผลผลิตการเกษตรสู่สินค้าออแกนิค
จากจุดเริ่มต้นที่ พอลล์ กาญจนพาสน์ ต้องการมีวัตุดิบอาหารปลอดสารพิษ ป้อนธุรกิจอาหารของบริษัท ต่อยอดจนกลายเป็นแบรนด์ อิมแพ็ค ฟาร์ม ที่ไม่ได้มีแค่ผักสลัด โดยมีเป้าหมายบุกตลาดโลก เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย
พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) เล่าย้อนถึงที่มาก่อนจะเป็น อิมแพ็ค ฟาร์ม ในทุกวันนี้ว่า เกิดจากการพูดคุยกันกับผู้ใหญ่ในวงที่แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าการเกษตร พบว่า มีการใช้สารเคมี โดยเฉพาะข้าว และผัก ทำอย่างไรถึงจะมีข้าวออแกนิค ที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่มีผลร้ายต่อร่างกาย เราจึงเริ่มที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่เรามีอยู่ก่อน เริ่มมีการรีวิวถึงที่มาของวัตถุดิบอาหารว่า มาจากที่ไหน มีการปลูก หรือ เลี้ยงอย่างไร
จากนั้นในช่วงปี 2565 จึงได้มีการพูดคุยกับเกษตรกรทางภาคเหนือ ที่ไม่ใช้สารเคมีในการปลูก และสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงต้องไม่มีสารเคมีด้วย เราจึงเริ่มต้นจากการรับซื้อ ผัก ผลไม้ตามฤดูกาลจากเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำมาจำหน่ายผ่านเครือข่ายของบริษัทในเครือ และเป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารให้แก่ผู้เข้าใช้บริการภายในศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ยอดขายของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในเครือของบริษัทต่อปีอยู่ที่ 1,500-1,800 ล้านบาท โดยมีต้นทุนวัตถุดิบอาหารอยู่ที่ 30% คิดเป็นเงินก็หลักร้อยล้าน ดังนั้นหากเรานำเงินตรงนี้ไปช่วยเกษตรกร และได้ผลผลิตที่เป็นออแกนิค ปลอดสารพิษให้ลูกค้าของเราได้รับประทาน ก็เป็นสิ่งที่ดีมากๆ
พอลล์ เล่าว่า ช่วงที่เริ่มต้นโครงการในปีแรก ต้องเผชิญหลายอุปสรรคพอสมควร ทั้งเรื่องการบริหารจัดการสินค้า ต้องปรับแนวทางกัน เนื่องจากผลผลิตก็เปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ น้ำท่วม น้ำแล้ง ล้วนมีผลหมด ที่สำคัญคือเรื่องการขนส่ง ที่ต้องเก็บรักษาผัก ผลไม้ให้สดอยู่เสมอ เราถึงเข้าใจว่า บริษัทที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรทำไมต้องซื้อในบริเวณใกล้ๆ ไม่เกิน 300 กิโลเมตร เพราะการขนส่งโดยเฉพาะผักที่เป็นออแกนิค ไม่มีสารพิษ เขาอยู่ได้ไม่นาน กว่าจะมาถึงก็เน่า เสียหาย ต่อมาเราจึงมีการคิดทำเป็นรูปแบบผงก่อนที่จะมาแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพแทน แต่เมื่อคิดกลับไปพบว่าปัญหาของเราที่เจอ ไม่หนักเท่าปัญหาที่เกษตรกรเจอ เพราะเขาต้องต่อสู่กับตรงนั้น หลายสิ่ง เราจึงต้องการสนับสนุนให้เขามีรายได้ที่ยั่งยืน
ต่อยอดสู่ แบรนด์ อิมแพ็ค ฟาร์ม
จากเดิมที่ต้องการนำสินค้าเกษตรปลอดสารพิษมาเป็นวัตถุดิบในร้านอาหารของบริษัท เราก็ต่อยอดสู่การสร้างแบรนด์ อิมแพ็ค ฟาร์ม ด้วยการเปิดร้านอิมแพ็ค ฟาร์ม สลัด บาร์ บริเวณชั้น 3 ในศูนย์อาหารฟู้ดอารีน่า และร้านอีส คาเฟ่ บาย อิมแพ็ค @กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า อาทิ น้ำช่อดอกมะพร้าว แซนด์วิช สลัดเพื่อสุขภาพ อีกทั้งขยายช่องทางจำหน่ายผ่านแอปพลิเคชันสั่งอาหารชั้นนำอย่าง แกร็บ ไลน์แมน และโรบินฮู้ด พร้อมพัฒนาบริการอาหารว่างเพื่อสุขภาพด้วย ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพสอดรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีการทำเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพหวังส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วย อาทิ พริกแกง ข้าวกล้องหอมมะลิ กาแฟแคปซูล ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ นำมาเปิดตัวครั้งแรกภายในงาน“THAIFEX – HOREC Asia” เพื่อขยายตลาดและกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น เจาะตลาดผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยงทั้งในไทยและต่างประเทศ อีกด้วย
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ก่อเกิดเป็นแนวคิดขยายความร่วมมือสู่ชุมชนใหม่ ๆ มากขึ้น ในฐานะตัวกลางผู้คัดสรรผลิตภัณฑ์จากชุมชนทั่วประเทศ นำมาจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1.กลุ่มผัก ผลไม้ตามฤดูกาล 2.กลุ่มเครื่องดื่ม 3.กลุ่มข้าว 4.กลุ่มเครื่องแกงสำเร็จรูป 5.บริการอาหารว่าง อิมแพ็ค ฟาร์ม 6.กลุ่มขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ และ7.กลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง
พอลล์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง เราก็มีการติดต่อกับชาวประมงโดยตรงในการนำอาหารทะเลมาจำหน่ายในตลาดรวมใจ ของเราด้วย นอกจากผักที่เป็นออแกนิคแล้ว โดยตลาดรวมใจจะกลายเป็นแหล่งสินค้าอาหารสดที่มีทั้งผักออแกนิค อาหารทะเล ที่สามารถนั่งรับประทานได้เลย นอกจากนี้ยังมีล้งทุเรียนที่มีให้เลือกสรรกันตลอดปี ตลาดรวมใจจะกลายเป็นศูนย์กลางตลาดสดในย่านนี้ เมื่อรถไฟฟ้าเชื่อมต่อเสร็จเรียบร้อย ประชาชนก็สามารถเดินทางมายังตลาดได้สะดวก ทำให้อิมแพ็ค มีครบทุกอย่าง ทั้งศูนย์การประชุม งานคอนเสิร์ต ร้านอาหาร ตลาดสด ในที่เดียว กลายเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าสนใจ
เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน สร้างรายได้ชุมชน
สำหรับเป้าหมายหลักของการพัฒนาโครงการเพื่อความยั่งยืน อิมแพ็ค ฟาร์ม คือ การสร้างโอกาส สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน ทั้งการสนับสนุนช่องทางขายและการตลาด ที่ผ่านมา เราช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น เราจึงมองหาสินค้ากลุ่มใหม่ ๆ จากชุมชนต่าง ๆ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและต่อเนื่องให้แก่ชุมชน
เราไม่ได้หวังมีกำไรมาก แต่ก็ไม่ได้อยากขาดทุน เพราะโครงการจะได้ทำต่อเนื่อง เราต้องการสร้างรายได้ให้ถึงชุมชนโดยตรง การขยายตลาดไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ หากทำได้ ก็จะทำให้เขามีรายได้เพิ่ม และเกิดความยั่งยืนต่อไป
ลิงก์ยูทูป
https://www.youtube.com/watch?v=Pscsd-o25ps
ลิงก์เฟซบุ๊ก
https://www.facebook.com/Posttoday/videos/1030645728489665/