posttoday

ครึ่งปีมิจฉาชีพโทร 19 ล้านครั้ง 'ดีอี' รื้อกม.เสร็จสิ้นปีบังคับแบงก์จ่ายเงินเหยื่อ

17 กันยายน 2567

2 ปี คนไทยถูกมิจฉาชีพหลอกเงิน 7 หมื่นล้านบาท เฉลี่ย 78 ล้านบาทต่อวัน สถิติ Whoscall ครึ่งปีแรก 67 พบมิจฉาชีพโทรเข้า 19 ล้านครั้ง ดีอีคาดแก้กฎหมายอาชญากรรมออนไลน์ บีบธนาคาร คืนเงินผู้เสียหาย 100% เสร็จภายในสิ้นปี

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า 2 – 3 ปีที่ผ่านมา การหลอกลวงออนไลน์เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยหลายแสนคนต่อปี สถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่างเดือนมี.ค.2565 –ก.ค. 2567 พบว่า ความเสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่ารวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาท หรือ เฉลี่ย 78 ล้านบาทต่อวัน 

ผลสำรวจเบื้องต้นจากรายงานขององค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก Global Anti-Scam Alliance (GASA) ประจำปี 2567  ยังพบว่ามีคนไทยเพียง 55%  ที่มั่นใจว่ารู้เท่าทันมิจฉาชีพ และ 89% เผยว่า ต้องรับมือกับมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง 

ครึ่งปีมิจฉาชีพโทร 19 ล้านครั้ง \'ดีอี\' รื้อกม.เสร็จสิ้นปีบังคับแบงก์จ่ายเงินเหยื่อ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.

ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ Whoscall สามารถตรวจพบสายโทรเข้าจากมิจฉาชีพได้เกือบถึง 19 ล้านครั้ง ในขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่บิดเบือน/หลอกลวง จำนวนกว่า 47,000 รายการ ระหว่างเดือน ต.ค. 2566 – ส.ค. 2567

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการร่างกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้เสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานอื่นๆ โดยสาระสำคัญของกฎหมายนี้ คือ การกำหนดให้ธนาคารต้องรับผิดชอบ คืนเงินแก่ผู้เสียหายเต็มจำนวน 100% หากเกิดความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ 

ขณะนี้ ธปท. อยู่ในระหว่างการจัดทำไกด์ไลน์เพื่อกำหนดหน้าที่ของสถาบันการเงิน หากธนาคารไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและเกิดความเสียหายแก่ประชาชน สถาบันการเงินจะต้องรับผิดชอบคืนเงินเต็มจำนวน โดยจะมีการจัดการตามแนวทางที่หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ธปท. หรือ กสทช. กำหนดไว้

พ.ร.ก. ที่จะออกมาเป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์ และเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ ขณะนี้ พ.ร.ก. ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะมีกระบวนการทางกฎหมายที่ชัดเจนและซับซ้อน เนื่องจากเงินที่ถูกยึดมาจากผู้กระทำความผิดบางส่วนยังคงอยู่ในระบบธนาคาร ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไกในการคืนเงินให้ผู้เสียหาย คาดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี