posttoday

ลุ้น 3 ตัวเต็ง คว้าใบอนุญาต Virtual Bank จ่อประกาศกลางปี 68

23 กันยายน 2567

เก็ง 3 ตัวเต็ง “KTB-CP-ซีกรุ๊ป” คว้าใบอนุญาต Virtual Bank หลัง ธปท. แจ้งมีผู้ยื่นคำขอทั้งสิ้น 5 ราย ประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตกลางปี 68 ก่อนเปิดดำเนินธุรกิจกลางปี 69 โบรกฯ มอง 3 แบงก์ร่วมชิงไลเซนส์ ส่งผลดีกับ BBL-KTB แต่ไม่ดีกับ SCB

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า 5 กลุ่ม ที่ยื่นขอใบอนุญาตชิง Virtual Bank ประเมิน KTB, CP และ BBL น่าจะได้ใบอนุญาต ในขณะที่ SCB และ Lightnet Group น่าจะต้องแข่งขันกัน ซึ่งใน 3 ธนาคารใหญ่ที่ยื่นขอใบอนุญาต (KTB, BBL, SCB) มองว่า Virtual Bank จะส่งผลดีกับ KTB และ BBL  

ส่วนกรณีของ BBL เนื่องจากธุรกิจรายย่อยของธนาคารมีสัดส่วนต่ำ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยที่น้อยกว่า 15% การเข้ามาของ BBL ยังมีโอกาสจะขยายฐานลูกค้ารายย่อยได้จากฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของพันธมิตรในกลุ่ม

ขณะเดียวกัน KTB และพันธมิตร มีแนวโน้มจะได้อานิสงส์มากที่สุดในแง่ของการใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) จาก ADVANC และ OR ส่วนที่นอกระบบธนาคาร การปรับปรุงยอดเก็บเงินสด และคุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงการขยายสินเชื่อเพิ่มในอนาคตด้วย 

อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ส่งผลดีกับ SCB ถ้าธนาคารนำ Virtual Bank ไปใช้ให้บริการด้านการธนาคารสำหรับรายย่อย เพราะถือว่าทับซ้อนกันกับหย่วยงานที่มีอยู่

ธปท.แจ้งมีผู้ยื่นคำขอ 5 ราย

หลังจากวันนี้ (23 ก.ย.) นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้ เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) มายัง ธปท. จนถึงวันที่ 19 ก.ย.2567
 
บัดนี้ ธปท. ได้ปิดรับคำขอแล้ว โดยมีผู้ยื่นคำขอจำนวนทั้งสิ้น 5 ราย ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank ของผู้ขออนุญาต ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567 โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ก่อนเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในช่วงกลางปี 2568 โดยผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

เปิดรายชื่อ 5 กลุ่มชิง Virtual Bank

ก่อนหน้านี้ กลุ่มทุนใหญ่ที่สนใจร่วมชิง Virtual Bank ประกอบด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่   

1.กลุ่มธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ร่วมกับพันธมิตร 2 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ส่งเข้ามาเป็นแกนในการร่วมพันธมิตร และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR

2.กลุ่มซีกรุ๊ป (Sea Group) จากสิงคโปร์ ผนึกกับพันธมิตร 4 ราย ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่ส่ง บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย

3.กลุ่มบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จับมือกับพันธมิตร 2 ราย ได้แก่ คาเคาแบงก์ (KakaoBank) จากเกาหลีใต้ และ วีแบงก์ (WeBank) จากจีน

4.กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ส่ง แอสเซนด์ มันนี่” ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” ร่วมเป็นพันธมิตรกับ แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทค และเป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา (Albaba) จากจีน 

5. กลุ่ม Lightnet ภายใต้ “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” จับมือ WeLab ผู้นำด้าน Virtual Bank ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก