posttoday

กสทช.ไฟเขียว เอ็นที ใช้ดาวเทียม วันเว็บ บุกตลาดต่างประเทศ

25 กันยายน 2567

เอ็นที ขึ้นแท่น ฮับเกตเวย์ดาวเทียม LEO ในภูมิภาค หลัง กสทช.อนุมัติ เอ็นที ให้ วันเว็บ ใช้เกตุเวย์ จ.อุบลราชธานี บริการดาวเทียมบรอดแบนด์ 8 ประเทศในภูมิภาค คาดให้บริการภายในต้นพ.ย.ปั้นรายได้หลายร้อยล้าน

การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) วันนี้ (25 ก.ย.2567) ที่ประชุมมีมติ 6 เสียง เห็นชอบ การขออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมและใช้เครื่องวิทยุคมนาคม สำหรับการให้บริการรับ ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม (Satellite Uplink/Downlink Service) ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที  โดยพลตำรวจเอกณัฐธร เพราะสุนทร งดออกเสียง

แหล่งข่าวจากเอ็นที เปิดเผยว่า มติดังกล่าวทำให้ เอ็นที สามารถให้บริการเกตเวย์ ที่สร้างอยู่ใน จ.อุบลราชธานี กับ วันเว็บ เพื่อใช้เป็นสถานีฐาน สำหรับการให้บริการรับ ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม (Satellite Uplink/Downlink Service) เอ็นที จึงได้การอนุมัติใน 2 ส่วน คือ การให้วันเว็บใช้เกตย์เวย์ของเอ็นที และ การใช้คลื่นความถี่ดาวเทียม ซึ่งคลื่นนี้เป็นดาวเทียม LEO (Low Earth Orbit)  ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายประมูลคลื่น เหมือนดาวเทียมวงโคจรประจำที่ หรือ GEO (Geostationary Earth Orbit ) จึงใช้วิธีการมาก่อน ได้รับการพิจารณาก่อน

ทั้งนี้ วันเว็บมีเป้าหมายการทำตลาดบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม LEO ในต่างประเทศของภูมิภาคนี้ 8-9 ประเทศ ในลักษณะลูกค้าองค์กร ไม่ใช่การใช้งานส่วนบุคคล ขณะที่เอ็นที จะมีรายได้จากการเป็นฮับเกตเวย์ หลายร้อยล้าน โดยเอ็นที คาดว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ วันเว็บถึงจะให้บริการต่างประเทศได้ โดยใช้เวลา 4 สัปดาห์ในการนำเข้าอุปกรณ์ และ อีก 2 สัปดาห์ในการทำทดสอบความเสถียรของอุปกรณ์ 

ส่วนความคืบหน้าในการให้บริการดาวเทียม LEO ในประเทศของ วันเว็บ ผ่านเกตเวย์ของเอ็นที หลังจากบอร์ดกสทช.อนุมัติอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) สำหรับโครงข่ายดาวเทียม OneWeb โดยมีระยะเวลา 5 ปี เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมานั้น 

แหล่งข่าวระบุว่า ยังคงต้องรอการตีความในเนื้อหาสัญญาที่มีการคัดค้านกันว่า เป็นการทำสัญญาที่เอ็นทีเสียผลประโยชน์ หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกสทช.เพราะเป็นเรื่องธุรกิจที่เอกชนต้องไปเจรจากันเอง

แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สัญญาที่ถูกบอร์ดเอ็นที ตั้งคำถาม ว่าเป็นการคิดส่วนแบ่งรายได้ในการใช้เกตเวย์ในประเทศที่กำหนดเพดานการคิดเงินต่ำเกินไปนั้น ได้มีการแก้ไขหมดแล้ว ไม่มีการกำหนดเพดานขั้นต่ำแต่อย่างใด แต่โครงการก็ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ เนื่องจากมีความเห็นให้ส่งสัญญาไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดตีความก่อน ทำให้รายได้ที่เอ็นทีคาดว่าจะมีจากบริการในประเทศหลักพันล้านชะลอออกไปก่อน