posttoday

ใครจะช่วยชาติสำเร็จ รัฐ หรือ เอกชน กับการรักษาวงโคจรดาวเทียมของชาติ

10 ตุลาคม 2567

เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน วงโคจรดาวเทียมประจำที่ตำแหน่ง 50 .5 องศาตะวันออก จะหลุดลอยไป 27 พ.ย.2567 กสทช.ดิ้นฮึดสุดท้าย จนในที่สุดก็หนีไม่พ้นไทยคมที่เข้ามาขอรับใบอนุญาตเพียงรายเดียว ไทยคมจะสามารถรักษาวงโคจรได้หรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจของกสทช.

          17 ต.ค.นี้ กสทช.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในการคัดเลือกเข้ารับใบอนุญาตประมูลวงโคจรดาวเทียมแบบประจำที่ โดยไม่เคาะราคา ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้มีเพียงบริษัทลูกของไทยคมเพียงรายเดียวเท่านั้นที่อาสาเหมาวงโคจรที่เหลือทั้ง 3 วงโคจร 50.5,51และ 142 องศาตะวันออก ก่อนที่วงโคจรจะหลุดลอยไป โดยเฉพาะวงโคจร 50.5 ที่หมดสิทธิจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู 27 พ.ย.2567

ไอทียู ผู้ชี้ชะตาการใช้สิทธิวงโคจร

          วงโคจรดาวเทียมในอวกาศนั้น ไม่ได้เป็นสิทธิขาดของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น การได้สิทธิวงโคจรดาวเทียม ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของ ITU (International Telecommunication Union) หรือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หากประเทศใดต้องการใช้สิทธิวงโคจรต้องยื่นคำขอต่อ ไอทียู และจะต้องยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรตามเวลาที่กำหนด และหากไม่มีดาวเทียมขึ้นใช้งานภายในเวลาที่กำหนด ประเทศนั้นก็จะถูกยกเลิกการใช้สิทธิไป 

ความกดดันของ กสทช.

          รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน…..”  โดย กสทช. มีหน้าที่รับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับวงโคจรดาวเทียมของประเทศ ซึ่งต่อมา กสทช. มีการกำหนดแผนบริหารสิทธิวงโคจรของประเทศไทย พร้อมออกหลักเกณฑ์การจัดสรรวงโคจรของประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และรักษาไว้ซึ่งสิทธิวงโคจรอันเป็นสมบัติของชาติ 

          กสทช. จึงได้จัดให้มีการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี 2564 และครั้งต่อมาในปี 2566 ผลปรากฏว่า เหลือชุดวงโคจรในตำแหน่ง 50.5 / 51 องศาตะวันออก และชุดวงโคจรในตำแหน่ง 142 องศาตะวันออก ที่ไม่มีบริษัทใดสนใจเข้าร่วมประมูลทั้งสองครั้งนั้น 

          กสทช. จึงได้มีมติให้มีการจัดการประมูลการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจร 50.5 51องศาตะวันออก และ 142องศาตะวันออก ขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนส.ค. 2567 แต่ปรากฏว่า เมื่อครบกำหนดการยื่นเอกสารในวันที่ 23 ก.ค.2567 กลับไม่มีผู้ใดยื่นซองประมูล จึงทำให้ กสทช. ต้องยกเลิกการประมูล และเร่งรัดให้มีการจัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ 

          นั่นคือ การจัดสรรสิทธิฯ ในลักษณะ “โดยตรงแบบเปิดกว้าง (open direct award)”  โดยเปิดโอกาสให้บริษัทที่สนใจยื่นข้อเสนอในวันที่ 7 ต.ค. 2567 ซึ่งรูปแบบจะเป็นการผสมผสานระหว่างแนวทางการจัดสรรโดยตรง และการจัดสรรแบบเปรียบเทียบคุณสมบัติและข้อเสนอ (Beauty Contest) โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมให้ได้เป็นสำคัญ 

ใครจะช่วยชาติสำเร็จ รัฐ หรือ เอกชน กับการรักษาวงโคจรดาวเทียมของชาติ

          ตำแหน่งวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก ที่เสี่ยงหลุดสิทธิมากที่สุด เนื่องจากจะสิ้นสุดสิทธิในวันที่ 27 พ.ย. 2567 ตามที่ ไอทียู กำหนด และแน่นอนว่า การจัดหาดาวเทียมดวงใหม่จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ดังนั้นระยะเวลาที่เหลือเพียงประมาณ 1 เดือนเศษ จึงไม่สามารถจัดหาดาวเทียมดวงใหม่ได้อย่างแน่นอน เว้นแต่จะจัดหาดาวเทียมที่มีอยู่แล้วและลากดาวเทียมจากจุดอื่นมาที่วงจร 50.5 องศาตะวันออก

ใครจะช่วยชาติสำเร็จ

          เมื่อวันที่  7 ต.ค. 2567 ปรากฏว่า มีบริษัทลูกของไทยคมเข้ายื่นซองข้อเสนอขออนุญาตใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม จาก กสทช. สำหรับวงโคจรที่เหลืออยู่  ซึ่งถ้าหากพิจารณาหน่วยงานในไทยที่พอจะมีความเชี่ยวชาญด้านดาวเทียมมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “ไทยคม”  ทีตัดสินใจมายื่นข้อเสนอใช้สิทธิวงโคจรที่เหลืออยู่นี้ โดยเฉพาะตำแหน่ง 50.5E  ที่ไทยจะสิ้นสุดการใช้สิทธิวงโคจรนี้ในเดือน พ.ย. 2567 หากไม่มีดาวเทียมไปอยู่ในวงโคจร 

          ต้องมาลุ้นกันว่า ไทยจะใช้กลยุทธ์ไหนมาช่วย กสทช. รักษาสิทธิวงโคจรนี้ ในระยะเวลาที่เหลือเพียงเดือนเศษ เพราะตำแหน่งวงโคจรที่เหลืออยู่นี้ เรียกว่า งานยากสุดๆ เป็นตำแหน่งที่ห่างไกลจากประเทศไทย บวกกับมีดาวเทียมเจ้าถิ่นทำตลาดในพื้นที่อยู่แล้วทั้งสิ้น 

          ดังนั้น ถ้าให้สร้างดาวเทียมใหม่เลย คงไม่ทันแน่ๆ หรือจะให้เช่า/ลาก ดาวเทียมอื่นมา ก็ต้องรีบหา รีบคุย รีบประสานงานจัดการกับพันธมิตรให้ได้ตามกำหนดเวลา ซึ่งก็ไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ ก็ถือเป็นผลงานของกสทช. และไทยคม ที่จะสามารถช่วยประเทศชาติในการรักษาวงโคจร