posttoday

Travel Link ขยับแผน เจาะบิ๊ก ดาต้า นักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านมือถือ

11 ตุลาคม 2567

พร้อมประสานแอปต่างชาติ ทั้งแอปชำระเงิน จองที่พัก หวังรวมศูนย์บิ๊ก ดาต้า รับมือแผนท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ ช่วยปั้นเม็ดเงินท่องเที่ยวตรงจุด

          กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผย สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 8 เดือนแรกปี 2567 (1 ม.ค.-31 ส.ค.2567) ว่ามีการเดินทางเข้าไทยสะสม 23,567,850 คน เพิ่มขึ้น 31% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สร้างรายได้สะสม 1,107,985 ล้านบาท 

          จากการเก็บข้อมูลของ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบว่า คนอังกฤษและรัสเซียมาท่องเที่ยวนานที่สุด ขณะที่ไต้หวัน ไม่ก่อนไม่เคยมีสถิติท่องเที่ยวไทยติดอันดับมาก่อน ก็ติดอันดับมาที่อันดับ 5 

          ข้อมูลการท่องเที่ยว การเดินทาง และรายละเอียดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำเป็นอย่างมากในการนำมาวิเคราะห์และวางแผนสำหรับธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ทำให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ BDI ร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมแพลตฟอร์ม Travel Link ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการวิเคราะห์ข้อมูลและแสดงผลการวิเคราะห์ออกมาในรูปแบบแดชบอร์ดหรืออินโฟกราฟิก

          คาดว่าผลลัพธ์ที่ได้สามารถช่วยเหลือการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งทาง ททท. สามารถนำข้อมูลและผลการวิเคราะห์ไปใช้ในการกำหนดทิศทางการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว ทั้งด้านอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) รวมไปถึงการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในด้านท่องเที่ยว เพื่อช่วยยกกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย  

          ทว่าการทำงานดังกล่าว ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ถึงพื้นที่เมืองที่ไม่มีสนามบิน รวมถึงไม่ครอบคลุมการใช้งาน การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันของนักท่องเที่ยว  เนื่องจาก BDI ได้มีการเชื่อมต่อข้อมูลกับด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ เท่านั้น 

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวว่า กระทรวงจึงได้เดินหน้าขยายแผนการเก็บข้อมูลด้วยการจับมือกับค่ายมือถือในการนำร่องนำข้อมูลเสาสัญญาณมือถือในพื้นที่นครราชสีมา และ พังงา มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลประชากรที่เข้ามาในพื้นที่ ช่วยให้วิเคราะห์ผลการกระจายตัว การเดินทาง ระยะเวลาการอยู่หรือพำนักในพื้นที่ การท่องเที่ยวเมืองรอง ของนักท่องเที่ยวที่มาจากจังหวัดอื่น ๆ นอกพื้นที่ที่สนใจได้ในระดับรายวันได้ 

ข้อมูลที่ได้ เราไม่ได้ระบุตัวตน รับรองว่าไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแน่นอน เมื่อเรามีข้อมูลที่ครบ บิ๊ก ดาต้า ที่ได้จะช่วยให้การวางแผนธุรกิจการท่องเที่ยวแม่นยำมากขึ้น

          เมื่อได้ข้อมูลระดับรายวัน ก็สามารถขยับไปสู่การขยายผลระดับชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมวางแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ขณะเดียวกันกระทรวงดีอี ก็ได้ประสานกับเอกชน เช่น We Chat , Trip.com และ Agoda ที่ให้บริการระบบชำระเงิน ระบบจองที่พัก เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อนำมาวางแผนการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งเอกชนมีความสนใจและพร้อมให้ความร่วมมือ