posttoday

KBANK ร่วง 3.37% เหตุกำไรครึ่งปีแรกทรุด-กังวลหนี้เสีย STARK

21 กรกฎาคม 2566

ราคาหุ้น KBANK ร่วง 3.37% หลังกำไรครึ่งปีแรกลดลง และกังวลหนี้เสีย STARK โบรกฯ ประเมินความเสี่ยงค่าใช้จ่ายสำรองลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งจำกัด เหตุตั้งสำรองไปแล้วเกือบ 100% ในไตรมาส 1/66 แนะ “ซื้อ” เป้า 160 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK วันนี้ (21 ก.ค.) ปิดช่วงเช้า เวลา 12.30 น. ปรับลดลง 3.37% หรือลดลง 4.50 บาท มาอยู่ที่ 129 บาท มูลค่าซื้อขาย 5,204.90 ล้านบาท ราคาปรับตัวขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 135 บาท และปรับตัวลงไปทำระดับต่ำสุดที่ 128.50 บาท

KBANK ร่วง 3.37% เหตุกำไรครึ่งปีแรกทรุด-กังวลหนี้เสีย STARK

หลังจาก KBANK ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับงวดครึ่งแรกปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 21,735 ล้านบาท ลดลง 1.22% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารยังคงดำเนินการตามหลักความระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอ ในการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามแนวทางที่ธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการจัดการลูกค้าธุรกิจรายใหญ่รายหนึ่ง ที่เริ่มมีสัญญาณความเสื่อมถอยในไตรมาสก่อน และได้มีสำรองฯ ครบถ้วนแล้วในไตรมาส 1/2566 ซึ่งแม้สินเชื่อดังกล่าวถูกจัดเป็นสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตในไตรมาส 2 แต่ธนาคารก็ยังคงมีความแข็งแกร่งจากการเตรียมการมาก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สำรองฯ ในไตรมาส 2/2566 แม้ว่ายังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 32.77% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่มีความใกล้เคียงกับที่ธนาคารได้ประมาณการไว้ก่อนหน้า เพื่อรองรับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ยังส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังไม่กระจายตัวทั่วถึง และส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง

บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า ยังคงคำแนะนำ “BUY” และคงราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 160 บาท เพราะ 1) ความเสี่ยงค่าใช้จ่ายสำรองจำกัด ประเด็นลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งมีปัญหา เพราะธนาคารตั้งสำรองไปแล้วเกือบ 100% ในไตรมาส 1/2566 และการตั้งสำรองส่วน Management Overlay เพิ่ม ไม่กระทบต่อประมาณการ เพราะคาดค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) ที่ 225 bps. มากกว่าเป้าของ KBANK ที่ไม่เกิน 210bps.

2) เป็นหนึ่งในธนาคารที่ได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น และ 3) เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนา Digital Banking เพื่อต่อยอดธุรกิจหลัก รวมถึงการเพิ่มช่องทางการเติบโตใหม่ต่อเนื่อง