posttoday

อวสานหุ้นกู้? เจอวิกฤตผิดนัดชำระหนี้ ลาม CGD ขอยืดหนี้-แบ่งจ่ายเงินต้น

21 สิงหาคม 2566

หรือจะหมดยุคหุ้นกู้!! หลังเผชิญวิกฤตผิดนัดชำระหนี้ ล่าสุด “คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์” หรือ CGD นัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 2 รุ่น วันที่ 23 ส.ค.นี้ ขอขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้อีก 1 ปี และแบ่งจ่ายเงินต้นก่อนแค่ 30% ฉุดตลาดหุ้นกู้ซบเซา ขายยากขึ้น ทำ 2-3 บริษัท พับแผนขายหุ้นกู้

ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ในปัจจุบันดูเหมือนจะยังน่าเป็นห่วง!! หลังจาก หุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK มีสถานะผิดนัดชำระหนี้ ทั้ง 5 รุ่น รวมมูลค่า 9,198.40 ล้านบาท โดยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ 4,521 ราย คิดเป็น 89.87% และผู้ลงทุนสถาบัน 7 ราย ซึ่งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้ยื่นดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน หุ้นกู้ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL มีสถานะผิดนัดชำระหนี้ ทั้งหมด 7 รุ่น มูลค่ารวม 2,416 ล้านบาท โดยเป็นนักลงทุนรายบุคคล 98.57% บริษัทและนิติบุคคล 1.26% และนักลงทุนต่างชาติ 0.46%

นอกจากนี้ หุ้นกู้ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เป็นหุ้นกู้ที่มีสถานะปรับโครงสร้างหนี้ ทั้ง 4 รุ่น มูลค่า 745.69 ล้านบาท

ล่าสุด บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD เจ้าของ “โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา” เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ในวันที่ 23 ส.ค.2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยได้ออกหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในรุ่น CGD219A ที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 6 ก.ย.2566 มูลค่าคงค้างปัจจุบัน 232.90 ล้านบาท และหุ้นกู้รุ่น CGD20OA ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 ต.ค.2566 มูลค่าคงค้างปัจจุบัน 436.80 ล้านบาท รวมมูลค่าคงค้าง 2 รุ่น จำนวน 669.7 ล้านบาท เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้ง 2 รุ่น ออกไปอีก 1 ปี

นอกจากนี้ CGD ยังได้ขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาแบ่งชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้บางส่วนในสัดส่วน 30% ของมูลค่าคงค้างในปัจจุบัน หรือคิดเป็น 69.87 ล้านบาท สำหรับหุ้นกู้รุ่น CGD219A ที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 6 ก.ย.2566 และเงินต้นหุ้นกู้ส่วนที่เหลือ จะขอชำระคืนในวันที่ 6 ก.ย.2567 

ขณะที่หุ้นกู้รุ่น CGD20OA ขอชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้บางส่วนในสัดส่วน 30% ของมูลค่าคงค้างในปัจจุบัน หรือคิดเป็น 131.04 ล้านบาท ในวันที่ 19 ต.ค.2566 และเงินต้นหุ้นกู้ส่วนที่เหลือจะขอชำระคืนในวันที่ 19 ต.ค.2567

สำหรับหุ้นกู้ CGD219A มี บล.ดาโอ (ประเทศไทย) เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และหุ้นกู้ CGD20OA มี บล.พาย เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ CGD219A และ CGD20OA ใช้สิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ศึกษาข้อมูล ซักถามผู้ออกหรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจลงมติ

โดย ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ และผลกระทบที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับจากการมีมติอนุมัติ หรือไม่อนุมัติให้ชัดเจนในแต่ละทางเลือก พร้อมเหตุผลประกอบ โดยมีความเห็นของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ประกอบด้วย

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ ขายได้น้อยลง เนื่องจากบรรยากาศโดยรวมหลังจากมีการผิดนัดชำระหนี้ เช่น STARK และ ALL ทำให้นักลงทุนบางส่วนชะลอการตัดสินใจลงทุน แม้จะเป็นหุ้นกู้เรตติ้งสูง 

โดยหากดูจากสถิติ พบว่า หุ้นกู้เรตติ้ง AAA และ AA ยังไม่มีปัญหา ยังสามารถขายได้ 100% ของวงเงินที่เสนอขาย 

ขณะที่เริ่มเห็นหุ้นกู้เรตติ้ง A เดือน มิ.ย.2566 ขายได้ 99.8% เดือน ก.ค.2566 ขายได้ 94.2% ของวงเงินที่เสนอขาย  

หุ้นกู้เรตติ้ง BBB+, BBB, BBB- เดือน พ.ค. 2566 ขายได้ 87% เดือน มิ.ย.2566 ขายได้ 90.8% และเดือน ก.ค.2566 ขายได้ 100% ของวงเงินที่เสนอขาย (เป็นหุ้นกู้ของบริษัทที่เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนได้) 

หุ้นกู้ BB เดือน พ.ค. 2566 ขายได้ 80% เดือน มิ.ย.2566 ขายได้ 83.5% และเดือน ก.ค.2566 ขายได้ 83% ของวงเงินที่เสนอขาย

หุ้นกู้ไม่มีเรตติ้ง เดือน พ.ค. 2566 ขายได้ 84% เดือน มิ.ย.2566 ขายได้ 80% และเดือน ก.ค.2566 ขายได้ 86% ของวงเงินที่เสนอขาย  

สำหรับยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 ส.ค.2566 (YTD) อยู่ที่ 7.1 แสนล้านบาท ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. จนถึงสิ้นปี 2566 จะมีหุ้นกู้ที่จะออกเพื่อทดแทนรุ่นที่ครบกำหนดไถ่ถอนอีกประมาณ 2.2 แสนล้านบาท

โดยในจำนวน 2.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้กลุ่ม High Yield หรือกลุ่มที่มีเรตติ้งต่ำกว่า BBB- ลงไปถึงไม่มีเรตติ้ง ประมาณ 10% หรือคิดเป็น 2.2 หมื่นล้านบาท (รวม บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI) หากไม่รวม THAI จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นหุ้นกู้ Investment Grade

“ใน 2.2 หมื่นล้านบาท บางตัวก็ยังไม่มีปัญหา ซึ่งนักลงทุนจะเลือกดูตามชื่อเป็นรายบริษัทมากกว่า เช่น กลุ่มไฟแนนซ์ ก็อาจจะได้รับความเชื่อถือ ก็มองว่ายังไปได้ ขณะที่ตอนนี้มี 2-3 บริษัท ยกเลิกการเสนอขายหุ้นกู้ไปเลย ซึ่งเป็นกลุ่ม High Yield เนื่องจากบรรยากาศไม่ได้เอื้อต่อการระดมทุน และนักลงทุนไปหาหุ้นกู้เรตติ้งสูง ความเสี่ยงต่ำ” นางสาวอริยา กล่าว  

นางสาวอริยา กล่าวว่า หุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง ก็ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของบริษัท เช่น บริษัทที่กำลังเติบโต เขาไม่จัดเรตติ้ง เพราะหนี้เขายังมีจำนวนมาก นักลงทุนต้องทำการบ้าน แต่จะยากหน่อย เพราะไม่มีเรตติ้ง 

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนมาตลอด น่าจะขายหุ้นกู้ได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนมีการเรียนรู้ หาข้อมูลในด้านผลประกอบการของบริษัทว่าเป็นอย่างไรบ้าง ขณะที่บางตัวที่ไม่ได้จัดเรตติ้ง แต่นักลงทุนดูว่ามีศักยภาพในการทำกำไร แม้จะมีหนี้จำนวนมาก ดังนั้นนักลงทุนก็ต้องพิจารณาว่ารับความเสี่ยงตรงนี้ได้หรือไม่ 

ทางด้านหุ้นกู้คงค้างที่มีปัญหา ณ วันที่  31 ก.ค.2566 รวมประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท ได้แก่ หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระ (Default Payment) จำนวน 6 บริษัท มูลค่ารวม 2.36 หมื่นล้านบาท (รวม STARK และ ALL) และหุ้นกู้บริษัทที่ปรับโครงสร้างหนี้ (Restructure) จำนวน 14 บริษัท มูลค่ารวม 1.33 หมื่นล้านบาท 

ขณะที่หุ้นกู้ที่เข้าฟื้นฟูกิจการ (Rehabilitation) จำนวน 3 บริษัท มูลค่ารวมกว่า 7.1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท, บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE มูลค่ากว่า 1,219 ล้านบาท และ บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH มูลค่า 230 ล้านบาท