posttoday

“เจียรวนนท์” เสียแชมป์ตระกูลรวยสุดของไทยในรอบทศวรรษให้ “อยู่วิทยา”

03 กรกฎาคม 2567

นิตยสาร Forbes จัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2024 Thailand’50 Richest โดยเฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว ก้าวขึ้นอันดับ 1 ดันพี่น้อง “เจียรวนนท์” ไปอยู่อันดับ 2 ครั้งแรกในรอบ 10 ปี หลัง Red Bull ทำยอดขายทะลุเป้าทั่วโลก

นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ระบุว่า หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังส่งผลให้ดัชนีหุ้นอ้างอิงลดลง 15% นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องไปถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ความมั่งคั่งรวมของเหล่ามหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทยจึงลดลงเกือบ 12% เหลือเพียง 1.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.73 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2023

โดยอันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2024 พบว่า “เฉลิม อยู่วิทยา” ขยับขึ้นสู่อันดับ 1 หลังจากที่ธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังมียอดขายมากกว่า 12,000 ล้านกระป๋องทั่วโลก ทำให้มหาเศรษฐีกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ที่ครองอันดับ 1 มายาวนานเกือบทศวรรษ หล่นลงมาอยู่อันดับ 2

โดย 5 อันดับแรกของมหาเศรษฐีไทยประกอบด้วย

1 เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ 1.32 ล้านล้านบาท)

​ธุรกิจ: อาหารและเครื่องดื่ม

​ขยับขึ้นจากอันดับ 2 ​จากปีที่ผ่านมา Red Bull เครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งขายได้มากกว่า 1.2 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลกในปี 2023 โดยครอบครัวอยู่วิทยาถือหุ้นอยู่ 51%  ก่อตั้งโดย ‘เฉลียว อยู่วิทยา’ และร่วมทุนทางธุรกิจกับ มหาเศรษฐีชาวออสเตรีย Dietrich Mateschitz ซึ่งทั้งคู่เสียชีวิตไปแล้ว

2 พี่น้องเจียรวนนท์

​มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.06 ล้านล้านบาท)

​​ธุรกิจ : อาหารและเครื่องดื่ม

​​อันดับลดลงจากอันดับ 1 ​เมื่อปีที่แล้ว โดยต้นกำเนิดธุรกิจของเครือซีพี ที่เริ่มจากการเปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าจากจีนให้เกษตรกรไทยในปี 1921 โดยมี "ธนินท์ เจียรวนนท์"  เป็นประธานและซีอีโอของซีพีมาเป็นเวลา 48 ปี ก่อนก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2017 แต่ยังคงเป็นประธานอาวุโส  

3 เจริญ สิริวัฒนภักดี

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.68 แสนล้านบาท)

ธุรกิจ: อาหารและเครื่องดื่ม

อันดับไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา โดย ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ เป็นเจ้าของไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากรายได้   นอกจากนี้ยังมีอาณาจักรค้าปลีก ได้แก่ เครือไฮเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และยังมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง AWC ที่มีโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ รวมถึงยังมีโปรเจ็กต์อสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่คือ One Bangkok มูลค่ากว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์  

 

4 ครอบครัวจิราธิวัฒน์

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 9.9 พันล้านดอลลาร์ (3.64 แสนล้านบาท)

​​ธุรกิจ: แฟชั่นและค้าปลีก

​​อันดับไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา โดยครอบครัวจิราธิวัฒน์ เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล เป็นผู้พัฒนาห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศในแง่ของพื้นที่เช่าสุทธิ ในเดือนพฤศจิกายน 2023 กลุ่มเซ็นทรัลยังได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในห้างสรรพสินค้า Selfridges ในลอนดอน และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกด้วย และในเดือนเมษายน 2024 กลุ่มเซ็นทรัลได้ซื้ออาคารห้างสรรพสินค้า KaDeWe  จากบริษัท Signa ในออสเตรีย มูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์

 

5 สารัชถ์ รัตนาวะดี

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 9.2 พันล้านดอลลาร์ (3.38 แสนล้านบาท)

​​ธุรกิจ : พลังงาน

​​อันดับไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา โดยสารัชถ์ รัตนาวะดี ดำรงตำแหน่งซีอีโอของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ปี 2021 สารัชถ์ได้เข้าถือหุ้นใน InTouch Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมและหน่วยไร้สาย Advanced Info Service (AIS) ทั้งนี้ การร่วมทุนระหว่างกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี กับ Singtel และ AIS เพื่อจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2025