posttoday

ไทยพัฒนา 'มะระขี้นก' สายพันธุ์ใหม่ ให้สารลดระดับน้ำตาลมากขึ้น แข่งตลาดโลก

05 กรกฎาคม 2567

กรมการแพทย์แผนไทยฯ โกอินเตอร์ ดัน 'มะระขี้นก' หนึ่งในสมุนไพร Herbal Champions 15 รายการของไทย ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ออกสู่ตลาดต่างประเทศชิงส่วนแบ่ง 28,000 ล้านบาท หลังพัฒนาสายพันธุ์สาเกต 101  ขึ้นใหม่เพื่อให้ได้สารสำคัญในปริมาณที่มากขึ้น!

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า ที่ได้มีการประกาศสมุนไพร Herbal Champions 15  รายการ ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 มะระขี้นกซึ่งเป็น 1 ในสมุนไพร Herbal Champions มีตลาดทั่วโลกมูลค่ารวมกว่า 28,000 ล้านบาท กำลังมีแนวโน้มของตลาดกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ข้อมูลเชิงลึกที่สำรวจประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีการส่งออกมะระสูงสุดในโลกมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท  ขณะที่ประเทศไทยส่งออกมะระขี้นกเพียง 18 ล้านบาท  สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสของมะระขี้นกในตลาดโลกสามารถจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

 

  • มหาสารคามปลูกมะระขี้นกพันธ์ุใหม่ส่งจีนมูลค่า 250 ล้านบาท

การศึกษาวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่ามะระขี้นกมีสารสำคัญที่ชื่อว่า ชาแรนติน (Charantin) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้   ประกอบกับเทรนด์การรักสุขภาพของผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพรมากขึ้นจึงทำให้มะระขี้นก    เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้รักสุขภาพในหลายประเทศทั่วโลก

ประเทศไทยจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์สาเกต 101  ของมะระขี้นกขึ้นใหม่เพื่อให้ได้สารสำคัญในปริมาณที่มากขึ้นให้เพียงพอต่อการแข่งขันในตลาดโลก ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสายพันธุ์ใหม่  ที่พัฒนาทำให้มะระขี้นกใหญ่ขึ้น และสามารถให้สาร Charantin มากกว่าเดิม ประมาณ 2 เท่า ซึ่งส่งผลให้ราคามะระขี้นกเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 30 บาท เป็นกิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งมีการนำร่องให้เกษตรกรจังหวัดมหาสารคามนำไปขยายพันธุ์ปลูกและเกิดการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวนมูลค่า 250 ล้านบาท เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการแปรรูปมะระขี้นกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ให้เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อาทิ มะระขี้นกแบบน้ำสกัดเข้มข้น ซุปมะระขี้นกแบบผง มะระขี้นกดองกิมจิ 3 รส  เป็นต้น

 

 

ทั้งนี้ ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อํานวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กล่าวว่าการผลักดันให้เกิดเกษตรมูลค่าสูงสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ  ที่มีความมุ่งมั่นในการผลักดันสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการแปรรูปสมุนไพรให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพมาตรฐาน ผลักดันจากการขายส่งวัตถุดิบเปลี่ยนเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ที่มีมูลค่าสูงเพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สมุนไพร เป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของสมุนไพรไทย