posttoday

เงิน การออม และความสุข

30 มีนาคม 2564

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ความสุขเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของมนุษย์ ในขณะที่โลกมีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น คนในสังคมก็ล้วนแล้วแต่พยายามที่จะแสวงหาชีวิตที่มีความสุข ในการใช้ชีวิตในแต่ละวันของพวกเราจึงพูดถึงเรื่องความสุขค่อนข้างมาก ซึ่งความสุขเป็นสภาวะทางด้านจิตใจ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้เงินเป็นอย่างมาก หากจะถามว่าเงินซื้อความสุขได้ไหม คำตอบชัดเจนก็คือ “ใช่” เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเงินและความสุข ซึ่งทำให้ข้อสังเกตในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการมีเงินกับความสุขมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ เพื่อจะได้มีเงิน นักวางแผนทางการเงินได้บอกให้พวกเราตั้งเป้าหมายในชีวิตและออมเงินเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น การออมจึงเป็นหนทางไปสู่การมีเงินเพื่อทำให้เราบรรลุเป้าหมายต่างๆ เช่น การศึกษา การไปเที่ยว และ การออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งแต่ละเป้าหมายเหล่านี้ คือสิ่งที่ทำให้เรามี “ความสุข” ดังนั้น เงิน การออม และความสุข จึงมีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วันนี้ผมจึงอยากเล่าให้ฟังถึงทฤษฎีหนึ่งที่เรียกว่า Fulfillment Curve ที่ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการมีเงินทอง ความร่ำรวย และความสุขเอาไว้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียวครับ โดยทฤษฎีได้กล่าวไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้เงินและความสุขนั้น จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีเงินมากก็ใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องการมากและความสุขก็เพิ่มขึ้น จนถึงจุดจุดหนึ่งที่เรียกว่า “ความรู้สึกพอ (enough)” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเรามีเงินมากขึ้นหรือการได้จับจ่ายใช้สอยเงินในกระเป๋าสตางค์มากขึ้น แต่กลับไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด โดยทฤษฎีได้แบ่งเป็น 4 ช่วงด้วยกัน คือ

ช่วงแรกจะเรียกว่า ช่วง Survival ซึ่งมีค่าใช้จ่ายระดับพื้นฐานบางอย่าง เช่น การซื้ออาหารและสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในแต่ละวันตามปัจจัยสี่ ช่วงเวลานี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการใช้ชีวิตให้อยู่รอด ตาม Fulfillment Curve การใช้จ่ายในช่วงแรกของเราจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการใช้ชีวิต ดังนั้น การใช้จ่ายเงิน จึงทำให้ Fulfillment Curve ของเราเพิ่มสูงขึ้นและทำให้ความสุขเพิ่มมากขึ้นในช่วงแรกนี้

ช่วงต่อมาเป็น ช่วง Comforts ซึ่งการใช้จ่ายเงินก้อนต่อไปนี้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นและสะดวกสบายมากขึ้น แต่ไม่ได้จำเป็น เช่น การใช้จ่ายซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อรถยนต์ หรือซื้อหม้อทอดไร้น้ำมัน ดังนั้นในช่วงนี้ของ Fulfillment Curve ระดับความสุขก็ยังคงเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าในช่วงแรก ส่วนในช่วงที่สาม หรือ ช่วง Luxuries นั้น เมื่อเข้าสู่ระดับ Luxuries การใช้จ่ายเงินเพื่อความหรูหรา ไม่ใช่สิ่งจำเป็นหรือทำให้ชีวิตสะดวกสบาย แต่เป็นการใช้จ่ายเพื่อทำให้มีความแตกต่าง มีคุณค่ามากกว่าคนอื่น เช่น นาฬิกาหรู หรือ รถสปอร์ต ซึ่งเกินความจำเป็น แต่ก็มีความสุขมากขึ้นเช่นกัน

จนถึงช่วงสุดท้าย เรียกว่า ช่วง Suboptimal หรือ Extravagances ซึ่งเมื่อเรามีความหรูหราในชีวิตถึงจุดหนึ่งแล้ว Fulfillment Curve ระบุว่า ความหรูหรามากเกินไปเริ่มจะเป็นภาระ เช่น มีรถยนต์สะสมหลายสิบคัน จนไม่มีที่จอด หรือการมีกระเป๋าแบรนด์เนมหลายสิบใบ ทั้งๆ ที่ถือได้ทีละใบ เมื่อมีการสะสมสมบัติหรือสิ่งของต่างๆ เยอะเกินไปจนไม่มีที่เก็บ การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อสะสมมากขึ้น ก็อาจทำให้ความสุขของเราลดลงก็เป็นได้

สรุปว่าแนวคิดหลักของ Fulfillment Curve คือ การมีเงินและการใช้จ่ายเงินจะทำให้เรามีความสุขในช่วงแรก แต่การมีเงินและใช้จ่ายเงินมากเกินไป ก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นตลอดไปแต่อย่างใด ดังนั้น จะเห็นได้ว่า คนเราไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมายเกินไป แต่เราควรมีเป้าหมายการใช้เงินเพื่อให้เป็นไปตามความจำเป็นและเพื่อความรื่นรมย์ของชีวิตพอประมาณ ซึ่งจุดที่จะทำให้เข้าถึงความสุขสูงสุดก็คือ ความรู้สึกพอ (enough) ชีวิตก็จะสมดุลและมีความสุข เพราะจริงๆ แล้วเงินไม่ได้ทำให้เรามีความสุข แต่สามารถช่วยให้เราพึงพอใจในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเรายังไม่เกิดความรู้สึกพอในจิตใจ นั่นก็หมายความว่า เรายังเข้าไม่ถึงความสุขไปด้วย ตัวอย่างในกรณีนี้เห็นได้จากการสำรวจความคิดเห็นในประเทศออสเตรเลีย ในปี ค.ศ.2002 ไม่น่าเชื่อเลยว่าเมื่อไปสอบถามคนออสเตรเลียที่ร่ำรวยว่าพวกเขาสามารถซื้อทุกอย่างที่ต้องการได้หรือไม่ กลับพบคำตอบว่าชาวออสเตรเลียถึงร้อยละ 62 เชื่อว่าพวกเขายังมีสิ่งที่อยากได้ อยากซื้ออยู่ และยังไม่มีความสุขเพราะยังไม่ได้ทุกสิ่งที่ต้องการ ซึ่งก็เป็นตัวอย่างของการเข้าไม่ถึงความรู้สึกพอ และทำให้ชีวิตยังคงวนเวียนกับการแสวงหาไม่มีที่สิ้นสุด

สรุปได้ว่า ถ้าเรามีการออมเงินเพื่อสิ่งจำเป็นพื้นฐานแล้ว เราจะมีความสุข แต่หลังจากนั้นความสุขอาจเพิ่มขึ้นจากการใช้เงินเพื่อความสะดวกสบายและความหรูหราต่างๆ แต่หากเรามีเงินจำนวนมากแล้วยังคงใช้เวลาในการมุ่งแสวงหาเงินเพื่อความมั่งคั่งและทรัพย์สิน อาจทำให้เราสูญเสียความสุขที่แท้จริงจากความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวไป นอกจากนี้ ยังอาจทำลายสุขภาพจิตและร่างกายของเราได้ ดังนั้น ความรู้สึกพอจึงเป็นหัวใจแห่งความสุขโดยแท้จริง