นวัตกรรมเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) กับการแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนา
โดย...กำพล ปัญญาโกเมศ
*******************
ผมได้มีโอกาสอ่านบทความ “เจาะลึกมหากาพย์หนี้สินชาวนา และการแก้ปัญหาโดย ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ ที่นำทุกคนมาทวงความคืบหน้าจากรัฐบาล” (https://plus.thairath.co.th/topic/money/101087) ผมพยายามสรุป Pain Point ของชาวนา อ่านแล้วก็พบว่าชาวนาไม่ได้เจ็บปวดเป็นจุดๆ (Pain Point) แต่น่าจะเจ็บทั้งตัวและเจ็บทั้งใจ เพราะยิ่งทำนา ยิ่งมีหนี้สิน รูปที่ 1 แสดงสิ่งที่ชาวนาตั้งคำถาม ชาวนาขายข้าวเปลือกได้กิโลกรัมละ 6 บาท หรือเกวียนละ 6,000 บาท ในขณะที่ต้นทุนการทำนาของชาวนาตกเกวียนละ 8,000 บาท ทำให้ชาวนาขาดทุนเกวียนละ 2,000 บาท โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาไปสีเป็นข้าวสาร โรงสีมีต้นทุนในการสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารคิดเป็นประมาณ 18 บาทต่อข้าวสาร 1 กิโลกรัม หรือเกวียนละ 18,000 บาท ในขณะที่ผมในฐานะผู้บริโภคปัจจุบันซื้อข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุงๆละ 5 กิโลกรัมราคาเฉลี่ยประมาณ 180 บาท คิดเป็นกิโลกรัมละ 36 บาท หรือเกวียนละ 36,000 บาท (ในบทความระบุว่าราคาขายข้าวสารเฉลี่ยกิโลกรัมละ 30 บาท แต่ผมไม่เคยสามารถซื้อข้าวสารหอมมะลิ ถุง 5 กิโลกรัมที่ ราคา 150 บาท)
คำถามที่ชาวนาถาม“ส่วนต่างเกวียนละ 18,000 บาท หายไปไหน?”
คำถามถัดไปที่ชาวนา (และผม) ถาม
“ส่วนต่างเกวียนละ 18,000 บาท ส่วนหนึ่งมาแบ่งให้ชาวนาทำให้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาแบ่งให้ผู้บริโภคทำให้ผู้บริโภคซื้อข้าวสารถูกลง ได้ไหม?"
ผมได้มีโอกาสคุยกับพี่รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ หรือพี่เปิ้น ประธานมูลนิธิรวมพัฒน์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เนื่องจากเราทั้งคู่มีพื้นฐานและความสนใจด้านการเงินการลงทุน ผมกับพี่เปิ้น มีแนวคิดตรงกันว่าเราสามารถนำนวัตกรรมด้านการเงิน (FinTech) มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงระหว่างชุมชนเมืองกับหมู่บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ให้กับคนในหมู่บ้าน และเกษตรกร พี่เปิ้นเดินหน้าเรื่องการสร้างต้นแบบระบบ "เหรียญดิจิตอล (Digital Token)" เพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนจากชุมชนเมืองสู่หมู่บ้าน (https://www.komchadluek.net/news/508418)
สำหรับผม ผมคิดว่า "เหรียญดิจิตอล (Digital Token)" และแนวคิด “Tokenization” เป็นแนวทางที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาของชาวนาได้อย่างยั่นยืน ไม่เป็นภาระการคลังของรัฐ แต่เราต้องทำแบบครบต้องวงจร (หรือบูรณาการแบบที่ชอบเรียกกัน) ครบทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อที่จะแก้ปัญหานี้
รูปที่ 2 แสดงแนวคิดที่เริ่มจากการตั้ง “กองทุนสร้างอนาคตชาวนา” ทำการออกเหรียญดิจิตอล (Digital Token) อาจให้ชื่อว่า “เหรียญสร้างอนาคตชาวนา (Future Farmer Token: FFT) เสนอขายให้กับผู้บริโภค โดยผู้ถือ “เหรียญสร้างอนาคตชาวนา’ มีสิทธิในการซื้อข้าวสารหอมมะลิเดือนละ 1 ถุง 5 กิโลกรัม ที่ราคา 120 บาท (เท่ากับกิโลกรัมละ 24 บาท หรือเกวียนละ 24,000 บาท) ทำให้ผู้ถือเหรียญสามารถซื้อข้าวสารถูกลงถุงละประมาณ 60 บาท ประหยัดไปได้กว่า 30% แนวคิดนี้เทียบเคียงกับการที่คนมีฐานะซื้อสมาชิกสนามกอล์ฟ สมาชิก Sport Club หรือสมาชิก Time Sharing ของโรงแรมเครือดังๆ หรือสำหรับคนทั่วๆไป ก็คล้ายกับการที่เราไปทานอาหาร แล้วเค้าถามว่าจะสมัครสมาชิกไหม เสียค่าสมาชิก 100 หรือ 200 บาทต่อปี ถ้าเป็นสมาชิกก็สามารถได้ส่วนลด 10%-15% (ในกระเป๋าผมและภรรยามีบัตรสมาชิกร้านอาหารหลายร้านเลย 555) หลังจากออกเหรียญขายให้กับผู้บริโภคในตลาดแรก (Primary Market) อาจจะสามารถนำเหรียญนี้เข้าซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Market) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและความน่าสนใจของเหรียญนี้
เงินที่ระดมได้จากการขายเหรียญ รวมกับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ในช่วงต้น สามารถนำไปชำระหนี้ชาวนาบางส่วน และ/หรือ นำไปพัฒนาวิสาหกิจสร้างอนาคตชาวนา โดยจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ และปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น ยุ้งฉาง เครื่องสีข้าว เครื่องกำจัดมอด เครื่องบรรจุถุง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง รวมถึงการติดตั้ง Solar Panel และการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) มาใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่าย และต้นทุนการผลิตของชาวนา
ให้วิสาหกิจสร้างอนาคตชาวนารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนากิโลกรัมละ 12 บาท หรือเกวียนละ 12,000 บาท ทำให้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงขึ้นเกวียนละ 6,000 บาท เพิ่มขึ้น 100% วิสาหกิจสร้างอนาคตชาวนานำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารบรรจุถุง และส่งไปวางขายที่ช่องทางการกระจายสินค้าของรัฐหรือความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น ตามสาขาไปรษณีย์ ร้านสะดวกซื้อตามปั๊มน้ำมัน ปตท หรือบางจาก สาขาธนาคารเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น โดยผู้ถือเหรียญสามารถไปซื้อข้าวสารถุง 5 กิโลกรัม ที่ราคา 120 บาท จากช่องทางต่างๆเหล่านี้
ด้วยกลไกนี้ จะทำให้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ราคา สูงขึ้น 100% ในขณะที่ผู้บริโภคซื้อข้าวสารได้ถูกลงประมาณ 30% ส่วนต่างที่วิสาหกิจสร้างอนาคตชาวนาซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา และขายข้าวสารให้กับผู้ถือเหรียญ ประมาณเกวียนละ 12,000 บาท สามารถนำกลับมาเข้ากองทุนสร้างอนาคตชาวนา เพื่อใช้เป็นค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายระบบ Logistic และ Distribution รวมถึงเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับชาวนา และอาจสามารถจ่ายเป็นเงินปันผลคืนให้กับชาวนา
จากการที่ชาวนาสามารถขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง ชาวนาก็จะมีเงินมาใช้หนี้ และแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนาได้อย่างยั่งยืน ไม่เป็นภาระการคลังของรัฐ และทำให้ชาวนาสามารถยืนบนขาของตัวเอง ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ผมคิดว่าแนวคิดที่ผมเสนอนี้เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นที่จำเป็นต้องมีการปรับและเพิ่มเติมในแง่มุมอื่นๆ เพื่อให้สมบูรณ์ แต่หวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) มาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนา และถ้าสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเกษตรกร และราคาพืชผลอื่นๆ ถ้าท่านใดมีความคิดเห็นหรือข้อแนะนำประการใด เรามาแลกเปลื่ยนกันครับ เพราะเราคิดว่า “การสร้างอนาคตชาวนาไทย” เป็นส่วนสำคัญของการ “สร้างอนาคตไทย”
#สร้างอนาคตไทย
#สร้างอนาคตชาวนาไทย
#กำพลปัญญาโกเมศ