posttoday

แจกเงินดิจิทัล พายุหมุนเศรษฐกิจ หรือ แค่ตีปี๊บ ?

24 กรกฎาคม 2567

น่าผิดหวังหลังการแถลงข่าวของเจ้ากระทรวงการคลัง ต่อ โครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในเช้าวันที่ 24 ก.ค. 2567 สรุปแล้วการแจกเงินหมื่นดิจิทัล พายุหมุนเศรษฐกิจ หรือ แค่ตีปี๊บ ?

          น่าผิดหวังหลังการแถลงข่าวของเจ้ากระทรวงการคลัง ต่อ โครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในเช้าวันที่ 24 ก.ค. 2567 โดยก่อนหน้า นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสินประกาศผ่านโซเซียล เมื่อ 15 กรกฎาคม เวลา 12:30 น.  ว่า 

"ดิจิทัลวอลเล็ตพร้อม เปิดลงทะเบียน 1 ส.ค. นี้ ครับ 
การประชุมวันนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดลงทะเบียน และการดำเนินการในภาพรวมที่จะรองรับการใช้งานของประชาชนและร้านค้า โดยมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมไปถึงการลงรายละเอียดเงื่อนไขของการรับสิทธิ์ และมาตรการป้องกันการทุจริต การเรียกเงินคืนให้ชัดเจนขึ้นครับ 
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือ โครงการใหญ่ของภาครัฐที่จะเติมเงินกระเป๋าพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อความละเอียดรอบคอบทั้งทางกฎหมาย และทางเทคนิค โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ทำให้ใช้เวลาดำเนินการมากหน่อย แต่พี่น้องไม่ต้องคอยเก้อแน่นอนครับ" 

          ซึ่งเดิมที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยืนยันผ่านสื่อว่า ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ทางนายกจะเป็นผู้แถลงรายละเอียดทั้งหมดเอง แต่ ก่อนวันแถลงจริง เพียงวันเดียว กลับมีการกลับลำ ให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 เป็นผู้แถลง ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยกันต่างๆนานาว่า เพราะเหตุใด นโยบายใหญ่ ที่เป็นนโยบายเรือธง ที่นายก และ พลพรรคเพื่อไทยต่างภาคภูมิใจ ประกาศในทุกเวทีว่าเป็นนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจของพรรค กลับไม่มาแถลงเอง ? 

          ความสงสัยต่อประเด็นดังกล่าว กระจ่างชัดเมื่อ มีการแถลงของ 3 รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงการคลังในเช้าที่ผ่านมา เพราะ สิ่งที่ชัดเจนในการแถลงครั้งนี้มีเพียงกรอบเวลาการลงทะเบียนของประชาชน โดยเฉพาะ ของผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปตามเกณฑ์ ในส่วนที่มีสมาร์ทโฟน ว่า สามารถลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติตามเกณฑ์รายได้ ที่กำหนดหรือไม่ ในวันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 15 กันยายน 2567 พร้อมให้รายละเอียดว่า จะต้อง โหลดแอปฯทางรัฐ เพื่อลงทะเบียนตามขั้นตอนอย่างไรบ้าง ส่วน ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีรายละเอียดใดๆว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร  ผ่านวิธีการอย่างไร รวมไปถึงร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้อง ลงทะเบียนอย่างไร มีระบบอะไร มีวิธีการที่เป็นรายละเอียดอย่างไรบ้าง กลับไร้รายละเอียด มีเพียง รัฐมนตรีช่วยเผ่าภูมิ โรจนสกุล มาให้ข่าวกับสื่อหลังการแถลงว่า จะมีการแถลงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็น่าประหลาดใจไม่น้อย เพราะในการแถลงข่าว รัฐมนตรีช่วยจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ ให้ไทม์ไลน์มาแล้วชัดเจนว่า ประชาชนที่ไม่สามารถลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. ถึง 15 ตุลาคม 2567 ส่วนร้านค้า จะลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป

          สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วโครงการนี้มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามที่ นายก หรือ พลพรรคประกาศจริงหรือ ? เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายละเอียดการดำเนินการในทุกขั้นตอน  ไม่ต้องพูดถึง ระบบหลังบ้านที่จะมารองรับโครงการ อย่างเช่น ระบบการชำระเงิน (Payment Platform)ซึ่งถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฎชัดเจนว่า ใครเป็นผู้พัฒนาระบบ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ระบุว่าแผนงานพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform)เพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินของประชาชนจากโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทขณะนี้ ยังไม่ได้มีการจัดทำทีโออาร์ และประกาศราคากลางในโครงการแต่อย่างใด 

          ยังไม่ต้องพูดถึง เงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ จำนวน 450,000 ล้านบาท (ปรับลดขนาดวงเงินลงมาจากเดิมที่กำหนด 500,000 ล้านบาทโดยอ้างว่า ปรกติคนลงทะเบียนไม่เต็ม 100 %อยู่แล้ว) ซึ่งขณะนี้ สถานะยังอยู่ในกระบวนการทางรัฐสภา ทั้งงบที่กันมาจากงบประมาณเพิ่มเติมประจำปี 2567 จำนวน 165,000 ล้านบาท และ งบประมาณเพิ่มเติมประจำปี 2568 จำนวน 285,000 ล้านบาท สิ่งต่างๆเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ งบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 จะติดขัดข้อกฎหมายหรือไม่ หากการดำเนิการล่าช้าไปจนปีงบประมาณ 2567 สิ้นสุดก่อน ในเดือนกันยายน 2567 ตามปีงบประมาณ จะสามารถกันเป็นงบประมาณเหลื่อมปีได้หรือไม่ ? กระบวนการจะถูกฝ่ายค้านยื่นศาลตรวจสอบยับยั้งหรือไม่ ?

          จนถึงบัดนี้ เป้าหมายที่นายกรัฐมนตรี และ พลพรรค ต้องการให้การแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ฉุดกระชากให้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย และเป็นการเติบโตที่ยั้งยืนหรือไม่ ยังเป็นคำถาม และ เกิดข้อถกเถียงกันของนักเศรษฐศาสตร์  เพราะ อย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทยเอง เคยให้ความเห็นต่อโครงการนี้ไว้หลายครั้งว่า การดำเนินโครงการจะเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ โดยที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ลงไป หรือแม้แต่ ธนาคารโลก (World Bank) ได้มีการคาดการว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ 0.5 - 1% เท่านั้น 

          และเมื่อย้อนมอง การคาดการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่หลายสำนักปรับประมาณการล่าสุด อย่างเช่น 
0 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ปี 2567 ลดลง จากที่เคยมองไว้ที่ 2.2-3.2% มาอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่ 2-3%  
0 สำนักวิจัยเศรษฐกิจ Krungthai COMPASS ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลดลง มาอยู่ที่ 2.3% จากเดิมที่คาดการณ์ขยายตัว 2.7% 
0 สำนักวิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ Economic Intelligence Center (SCB EIC) มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 (ไม่รวมดิจิทัล วอลเล็ต) เหลือ 2.5% เดิม 2.7% ฯลฯ

          การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ค่อนข้างชัดเจนว่ายังขยายตัวได้ต่ำ โดยปัญหาใหญ่ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานในการประชุม กนง.หลายครั้งว่า ปัญหาสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาจาก การลงทุนภาครัฐ ที่เติบโตต่ำมาก เป็นผลมาจาก การจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 ที่ล่าช้าออกไปจากปรกติมาก 

          โดยงบประมาณ ปรกติซึ่งต้องเริ่มในเดือนตุลาคม ของปี 2566 แต่ ในปีงบประมาณ 2567 กว่าจะมีการทำงบประมาณ ออกมา จนสามารถใช้ได้ก็ล่วงเลยมาจนถึงเดือนเม.ย. 2567 ช้าไปกว่าปรกติถึง 6 เดือน และอย่างที่เห็นก็คือ รัฐบาลพยายามกันเงินส่วนหนึ่งเพื่อมาใช้ในโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยิ่งทำให้งบลงทุนในปี งบประมาณ 2567 ถูกโยกมาใช้ ผ่านโครงการนี้แทน เป็นการย้ายจากการลงทุนภาครัฐ ซึ่งเป็นปัญหาอยู่แล้ว มาแทนการกระตุ้นผ่านการใช้จ่ายภาคเอกชนแทน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร  แต่ที่แน่ๆคือ เลยปีงบประมาณ 2567 อย่างแน่นอน ดังนั้นดอกผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจก 1 หมื่นผ่านดิจิทัลฯ ไม่น่าจะเกิดอานิสงค์กับเศรษฐกิจในปี 2567 ค่อนข้างแน่นอน 

          นอกจากนี้ ในการทำงบประมาณ 2568 ที่กำลังค้างคาอยู่ที่สภาฯก็เช่นเดียวกัน มีการโยกงบประมาณบางส่วนมาใช้ในโครงการ แจกเงิน1 หมื่น ผ่านดิจิทัลฯเช่นกัน เป็นการย้ายจากการลงทุนภาครัฐ มากระตุ้นผ่านการใช้จ่ายเอกชนแทนเช่นกัน ดังนั้น เม็ดเงินใหม่สำหรับการกระตุ้นเศรฐกิจ จึงไม่ใช่เม็ดเงินสูงถึง 500,000 ล้านบาท ความพยายามในการสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ จึงยิ่งเป็นไปได้น้อย ความหวังในการนำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขยายตัวในอัตราที่สูง จึงเป็นได้เพียงการตีปี๊บร้องป่าวประกาศจากภาครัฐเท่านั้นเอง โดยที่ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจไทยยังยืนอยู่บนเส้นด้ายจาก การกู้เงินจำนวนมหาศาลจนใกล้ชนเพดานวินัยทางการคลัง เสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในอนาคตยิ่ง