posttoday

เมืองอัจฉริยะ 5 แสนล้าน ปฏิบัติการกินตับในอีอีซี

11 ตุลาคม 2567

ในยุทธภพบู๊ลิ้มอีอีซีแล้วไซร้ “วิชาฝ่ามือกับอาวุธลับ”ที่เชี่ยวชาญที่สุด ไม่มี ท่าไม้ตาย อะไรเทียบกับการจัดการกับ “ที่ปรึกษา” อีกแล้ว ท่าไม้ตายนี้ “ไร้หลักฐาน ไร้ร่องรอยเชิงประจักษ์” บรรดานักฆ่าในบู๊ลิ้มถนัดนัก แค่ “ปรึกษา-สั่งการ-เขียน TOR-ล็อคสเป็ก” แค่นี้ก็สวย!

เมืองอัจฉริยะ 5 แสนล้าน ปฏิบัติการกินตับในอีอีซี

นักสืบได้ส่งเสียงเตือนดังๆ ไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รอบหนึ่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนคณะกรรมการหลายคน ยังมึนงงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า “EEC มันมีอะไรในกอไผ่?”

วันนี้จะขอคลี่ปมให้เห็นฉากลึกลับ “ปฏิบัติการกินตับ” การลงทุนก้อนมหึมา ในโครงการเมืองใหม่อัฉริยะ ที่เป็นการร่วมทุนเอกชน PPP วงเงินลงทุนราว 5.3 แสนล้านบาท บนพื้นที่ 14,619 ไร่ ในพื้นที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อให้คณะกรรมการฯชุดใหม่ ที่มี 14 รัฐมนตรี ได้ตาสว่าง

ประกอบด้วย.... 1.พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง  2.ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 3.ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 4.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ 5.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม 6.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

7.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน 8.พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ 9.อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

10.พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน 11.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 12.พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ 13.สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข 14.เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม และ จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี...

ต้นเดือนกันยายน 2567 “จุฬา สุขมานพ”  เลขาธิการ อีอีซี และคณะผู้บริหาร EEC ได้นำคณะผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปดูโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะ  ที่จะเป็นทั้งศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ที่มากกว่าแค่คำว่า “Smart City” แต่จะเป็นเมืองต้นแบบ Net Zero City  ซึ่งในสิ้นปีนี้จะนำร่องพัฒนาพื้นที่ได้ราว 5-6 พันไร่

โครงการเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนามหานครการบินภาคตะวันออก และอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการเล็งผลเลิศว่า จะมีประชากรเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน มีผู้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ 70 ล้านคน ในปี 2580  เป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความแออัดของกรุงเทพฯ  

เมืองอัจฉริยะที่อีอีซีกำลังดำเนินการอยู่จะคล้ายๆกับ “เมืองซองโด-เมืองปูซาน ของเกาหลี, เมืองเจิ้งโจว ของจีน, เมืองเวสเทิร์นซิดนีย์ ของออสเตรเลีย และเมืองมาสดาร์ซิตี้ ของอาหรับเอมิเรตส์”

ตามแผนงานที่นักสืบเชอร์ล็อคได้มา ระบุว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการมีจินตนาการ ดังนี้...

จะเกิดเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ที่สามารถรองรับประชากรได้ราว 350,000 คน ภายในปี 2580  

สามารถสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง มีแรงงานทักษะสูง มีรายได้ที่สูงขึ้น มูลค่าการจ้างงานน่าจะเกิดขึ้นกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เกิดธุรกิจและบริการ มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้น 150 -300 ราย

เกิดมูลค่าการลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1.34 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นราว 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี...ชักเริ่มน่าสนใจกันใช่มั่ยขอรับ!

โครงการนี้ก็เดินหน้าไปเรื่องๆ หลังจากได้ไฟเขียวจาก คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565

กรอบสาระหลักของแผนปฏิบัติการฯ กำหนดการพัฒนาพื้นที่เฟสแรก (2566 – 2570) จํานวน 5,795 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 14,619 ไร่ มาใช้ในพัฒนาเป็นศูนย์บริการทางการเงิน, ศูนย์การแปรรูปอาหาร, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มรายได้สูง,กิจการพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย,สำนักงานใหญ่ภูมิภาค, ศูนย์การแพทย์และสุขภาพครบวงจร, ศูนย์การบินและโลจิสติกส์ ฯลฯ

โครงการนี้ ครม.มีมติให้เป็นตาม พรบ.ร่วมทุนรัฐเอกชน “PPP” ภายใน 10 ปี ใช้เงินลงทุนราว 534,985 ล้านบาท

ต่อมา สำนักงานอีอีซีได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 ภายใต้แผนบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 โครงการ 1,970.53 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้....

โครงการจัดหาพื้นที่เฟสแรก 5,795 ไร่ เพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนา จากที่ได้รับการจัดสรรงบฯมาแล้ว 1,500 ล้านบาท  ที่นำไปจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน สปก. 2,483.48 ไร่ คิดเป็นเงิน 1,499.79 ล้านบาท และกำลังของบกลางฯมาใช้อีกราว 2,500 ล้านบาท

โครงการบริหารจัดการเพื่อเตรียมพื้นที่โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีฯ 10.79 ล้านบาท

โครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบชั้นรายละเอียด และจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในโครงการศูนย์ ธุรกิจอีอีซีฯ 495.74 ล้านบาท

นักสืบเชอร์ล็อค ได้ชุดข้อมูลทางการข่าวมาว่า “พอมีงบฯก้อนมาปุ๊บ...มือดีเข้าไปจัดการปั๊บ” !!!

ในยุทธภพของบู๊ลิ้มอีอีซีแล้วไซร้ “วิชาฝ่ามือบวกกับอาวุธลับ” ที่เชี่ยวชาญที่สุด ไม่มี “ท่าไม้ตาย” อะไรเทียบเท่ากับการจัดการกับ “ที่ปรึกษา” อีกแล้ว

เพราะท่าไม้ตายอันนี้ “ไร้หลักฐาน ไร้ร่องรอยเชิงประจักษ์” บรรดานักฆ่าในบู๊ลิ้มถนัดนัก แค่ “ปรึกษา-สั่งการ-เขียน TOR-ล็อคสเป็ก” แค่นี้ก็สวย!!! โครงการจ้างที่ปรึกษาฯ จึงถูกออกแบบไว้ย่อยยิบ หยิบจับได้ ดังนี้…

โครงการจ้างผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปฏิบัติงานด้านการพัฒนา และบริหารจัดการเมืองการบินและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 12 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือ “บิดาแห่งสนามบิน-John Dale Kasarda”  ชาวอเมริกัน ซีอีโอของ Aerotropolis Business Concepts LLC และประธาน Aerotropolis Institute ในจีน เสนอราคามาแค่ 11.4 ล้านบาท ถ้าข้อมูลไม่ผิด สัญญา 18 เดือน เริ่มปฏิบัติงานไปเมื่อ 19 กันยายน 2566

โครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบ รายละเอียดผังการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ วงเงิน 280 ล้านบาท

โครงการจ้างที่ปรึกษาจัดท่ากลยุทธ์ และรายละเอียดแผนพัฒนาธุรกิจเชิงลึก สำหรับกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงิน 17 ล้านบาท บริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ จํากัด ได้รับการคัดเลือก เริ่มปฏิบัติงานเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2566

โครงการจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์การเงินและการตลาด สำหรับกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย  วงเงิน 38 ล้านบาท

โครงการจัดทำพื้นที่แสดงนวัตกรรมการพัฒนา และเจรจาการลงทุน วงเงิน 40 ล้านบาท

โครงการจ้างที่ปรึกษาด้านกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน เพื่อสนับสนุนศูนย์ธุรกิจอีอีซี และ เมืองใหม่อัจฉริยะ วงเงิน 20 ล้านบาท

กิจกรรม Market Sounding การจัดซื้อติดตั้ง CCTV และเช่าพื้นที่เก็บข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจาก CCTV (Cloud) ของโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงิน 52.73 ล้านบาท ฯลฯ

ปม “การจัดการ” คัดเลือก “ที่ปรึกษา” ที่เป็น “อาวุธลับในยุทธภพของบู๊ลิ้ม” นี่แหละ ถ้าบรรดาผู้บริหาร คณะกรรมการ อีอีซี ดูไส้ในของรายละเอียดไม่ดี “อาจคอตก-ไอคุกๆ” เอาได้นะเจ้านาย!!

ลึกลับจาก “ปปช.-สนามบินน้ำ” บริษัทที่ปรึกษาฯร้องเรียนกันระงม จากการเปิดทางให้เสนอราคาเข้ามา แล้วเกิดการ “ล็อคสเป็ก” เอื้อกลุ่มพรรคพวกของบรรดา “นักดาบ” ในบู๊ลิ้ม เพื่อกินตับโครงการใหญ่กันในกลุ่ม

ว่ากันว่า ซองเสนอเสนอราคาในหลายโครงการ ยังไม่ทันเปิด บริษัทที่ปรึกษาในกลุ่มของ ”นักดาบผู้มากด้วยอาวุธลับ” รับรู้เรื่องเปิดแชมเปญฉลองกันแล้ว

อันว่า ที่ปรึกษา ที่จ้างมาออกแบบในแต่ละโครงการนั้นสำคัญมาก ถือเป็น “ประตูสู่โครงการใหญ่” ถ้าออกแบบมาเป็นอย่างไร เอกชนผู้ร่วมลงทุนใน PPP ต้องดำเนินการตาม “พิมพ์เขียว” แทบจะ 100% ห้ามใครเบี้ยวเชียวละ

ข้อมูลที่นักสืบเชอร์ล็อคได้มาเฉพาะที่เป็นน้ำจิ้มแค่จิ๊ดจ๊าดพอนะ “กลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมประมูลโครงการเมืองน่าอยู่อัจฉริยะจำนวนหลายราย ได้ร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยร้องขอให้ ตรวจสอบกระบวนการคัดเลือก กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ล็อกสเป็ค”

“เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง” นักสืบเชอร์ล็อคไม่รู้ว่าใคร แต่เป็นเรื่องใหญ่ 3 อรหันต์ที่คณะผู้บริหาร สำนักงานอีอีซี ไล่ตั้งแต่ “จุฬา สุขมานพ -ดร. ธัชพล กาญจนกูล -ดร. ธาริศร์ อิสสระยั่งยืน” ต้องเงี่ยหูฟังและต้องลงไปตรวจสอบ ก่อนถูกนักดาบกินตับ!!!

ล่าสุดนักสืบเชอร์ล็อคได้ข้อมูลจากฝ่ายการเมืองมาว่า “มีมือดีแอบมัดมือชก เสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี อนุมัติมอบอำนาจให้เลขาธิการอีอีซี เป็นผู้มีอำนาจในการลงนามจ้างที่ปรึกษาได้ทันที แทนที่จะเสนอกรรมการพิจารณา”

เห็นความลึกลับของปฏิบัติการกินตับ ในยุทธภพอีอีซีกันหรือยังนายท่าน!!!
เมืองอัจฉริยะ 5 แสนล้าน ปฏิบัติการกินตับในอีอีซี